จะเป็นอย่างไร เมื่อโลกไม่อภิวัฒน์ กันแบบเดิม (Deglobalization)

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

จะเป็นอย่างไร เมื่อโลกไม่อภิวัฒน์ กันแบบเดิม (Deglobalization)

Date Time: 5 พ.ย. 2565 07:18 น.

Summary

  • ทั่วโลกให้ความสนใจกับ “การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (Deglobaliza tion)” มากขึ้น หลังสองประเทศมหาอำนาจใหญ่ คือ สหรัฐอเมริกาและจีน แสดงท่าทีล่าสุดออกมาชัดเจน

Latest

“อุตสาหกรรมแบตเตอรี่”  จิ๊กซอว์ที่ต้องต่อให้เต็ม สานฝันไทย “ฮับผลิต EV” ภูมิภาค

ดร.ฐิติมา ชูเชิด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์

ทั่วโลกให้ความสนใจกับ “การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (Deglobalization)” มากขึ้น หลังสองประเทศมหาอำนาจใหญ่ คือ สหรัฐอเมริกาและจีน แสดงท่าทีล่าสุดออกมาชัดเจนว่า ต่างตั้งเป้าจะเป็นประเทศมหาอำนาจผู้นำของโลก และมีเจตนาจะแข่งขันกันจริงจังขึ้นอีกในระยะข้างหน้า เมื่อกระแสโลกาภิวัตน์กำลังจะเปลี่ยนภาพไปจากเดิม แล้วโลกจะเป็นอย่างไรต่อไป ภายใต้สภาพแวดล้อมใหม่เช่นนี้

สหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ออกรายงาน National Security Strategy เมื่อเดือน ก.ย.2022 ระบุชัดว่าโลกมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ วาระเร่งด่วนระดับโลกของสหรัฐฯ คือ จะต้องรักษาความเป็นประเทศมหาอำนาจในโลกเหนือขั้วอำนาจจีนและรัสเซียให้ได้ในระยะข้างหน้า โดยสหรัฐฯมองว่า

1) ที่ผ่านมาจีนและรัสเซียได้ประโยชน์อย่างมากจากกระแสโลกาภิวัตน์ เข้าถึงระบบการค้าการลงทุนและระบบการเงินโลก เชื่อมโยงตลาดเสรี เข้าถึงทรัพยากรและเงินทุน สามารถเร่งพัฒนาเศรษฐกิจ การทูต กำลังการทหาร และเทคโนโลยีได้ จนผงาดขึ้นมามีอิทธิพลในภูมิศาสตร์การเมือง (Geopolitics) โลก โดยเฉพาะจีน มาในช่วงหลังผู้นำจีนส่งสัญญาณชัดขึ้นว่าต้องการยกระดับเป็นประเทศมหาอำนาจแบ่งขั้วกับสหรัฐฯ และขยายอิทธิพลไปทั่วภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

2) จีนต้องการเปลี่ยนระเบียบโลกใหม่ตามโมเดลสังคมนิยมสมัยใหม่ อาศัยเทคโนโลยีใหม่ของโลกที่เข้าถึง นำมาพัฒนาสร้างประโยชน์ให้ตนเอง จนโลกหันมาพึ่งพาสินค้าเทคโนโลยีทันสมัยจากจีนมากขึ้น ถึงจุดหนึ่งอาจกลายเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงและสันติภาพความสงบสุขของบางประเทศได้ ขณะที่จีนกลับมีนโยบายจำกัดการเข้าถึงตลาดในประเทศ ต้องการเติบโตจากภายใน นอกจากนี้ ยังเห็นได้จากวิธีการรับมือโจทย์ท้าทายสำคัญในโลก เช่น นโยบาย Zero COVID ที่มองแต่ภายใน ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อโลก

3) สหรัฐฯจะใช้ 3 กลยุทธ์เพื่อเอาชนะจีน คือ เร่งลงทุน หาพันธมิตร และแข่งขัน จึงต้องเร่งลงทุนเชิงยุทธศาสตร์บนจุดแข็งของประเทศเพิ่มความสามารถการแข่งขัน ทั้งโครงสร้างพื้นฐานหลัก การป้องกันภัยไซเบอร์ในสาธารณูปโภคสำคัญ การพัฒนาเทคโนโลยียุทโธปกรณ์ รวมถึงการสร้างความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานการผลิต ดังนั้น จึงมองว่า การเชื่อมโยงพึ่งพากันระหว่างประเทศจะต้องอยู่บนเงื่อนไขการให้คุณค่าคล้ายกันในกติการะเบียบโลกที่ยังสนับสนุนโลกเปิด เสรี ปลอดภัย และเติบโต

สำหรับประเทศจีน ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้ออกมากล่าวสุนทรพจน์นาน 2 ชั่วโมงในพิธีเปิดการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ของจีน ครั้งที่ 20 เมื่อวันที่ 16 ต.ค. สีได้โชว์วิสัยทัศน์ข้อหนึ่งไว้ว่า ต้องการจะยกระดับจีนให้ยิ่งใหญ่ ก้าวขึ้นมาเป็นตัวเลือกแทนสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรได้ โดยยึดหลักสังคมนิยมสมัยใหม่ และต้องการเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีพึ่งพาตนเองให้ได้

โลกาภิวัตน์กำลังเปลี่ยนโฉมเป็น “โลกาภิวัตน์บนเงื่อนไขความเป็นมิตร” การเชื่อมโยงการค้าการลงทุนระหว่างประเทศจะยังเดินหน้าไปได้ แต่จะไม่เน้นประสิทธิภาพสูงสุดของห่วงโซ่การผลิตเช่นเดิมแล้ว จะกลายเป็นเชื่อมโยงกับกลุ่มมิตรประเทศเท่านั้น ดังนั้นการวางนโยบายเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ รวมถึงการวางแผนธุรกิจในระยะข้างหน้า จะต้องคำนึงถึงการวางท่าทีและแสดงคุณค่าจุดยืนต่อกระแส Deglobalization ที่กำลังเกิดขึ้นในระยะยาวนับจากนี้ไปค่ะ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ