สมมติว่า...ประเทศไทยพัฒนาแล้ว

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

สมมติว่า...ประเทศไทยพัฒนาแล้ว

Date Time: 29 ต.ค. 2565 06:26 น.

Summary

  • เกณฑ์หนึ่งที่ใช้วัดสถานะการเป็นประเทศพัฒนาแล้ว คือ รายได้ประชาชาติต่อหัว ซึ่งเรียบง่ายเพราะใช้ตัวเลขรวมมาหารเฉลี่ยตามจำนวนคน แต่ไม่สามารถสะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำการกระจุกตัวของรายได้

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

ดร.นครินทร์ อมเรศ ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย

เกณฑ์หนึ่งที่ใช้วัดสถานะการเป็นประเทศพัฒนาแล้ว คือ รายได้ประชาชาติต่อหัว ซึ่งเรียบง่ายเพราะใช้ตัวเลขรวมมาหารเฉลี่ยตามจำนวนคน แต่ไม่สามารถสะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำการกระจุกตัวของรายได้ที่คนกลุ่มเล็กๆ อย่างไรก็ดี ตัวเลขรายได้ประชาชาติต่อหัวเป็นเครื่องชี้ที่เอื้อให้นักเศรษฐศาสตร์สามารถกำหนดเป้าหมายและติดตามเส้นทางการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ผ่านการกำหนดข้อสมมติถึงโครงสร้างของประเทศในแต่ละกรณีได้ ในวันนี้จึงขอแลกเปลี่ยนมุมมองว่า “โครงสร้างคนไทยจะเป็นอย่างไร หากประเทศไทยกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว”

เนื้อหาที่จะหยิบยกมาหารือกันเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาที่ดำเนินการร่วมกับคุณพรชนก เทพขาม และนำเสนอในการสัมมนาวิชาการของ Research Institutes Network (RIN) วันที่ 27 ต.ค.2565 โดยได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการและทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ในหัวข้อว่า “A Portrait of High-income Thailand : Future Labor Market Outlook” โดยกำหนดให้ในโลกคู่ขนานนั้น ไทยจะกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วโดยมี GDP เพิ่มขึ้น 1.8 เท่า เมื่อเทียบกับก่อนการเกิดโควิด–19 ในโลกใหม่นี้...

มีแรงงานไทยในอุตสาหกรรมการผลิต New S-Curve Plus อาทิ พลังงานและเคมีภัณฑ์ อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์โทรคมนาคม เครื่องมือทางการแพทย์ และอาหารมูลค่าสูงที่มีศักยภาพ 1.5 ล้านคน มีรายได้สูง แรงงานไทยในกิจกรรมการบริการสมัยใหม่ Modern Services อาทิ ที่ปรึกษาการวิจัยและพัฒนา การเงิน การสื่อสารและโทรคมนาคม อสังหา ริมทรัพย์และการก่อสร้าง โลจิสติกส์ และการค้า ที่มีศักยภาพ 0.9 ล้านคน มีรายได้สูง ผู้ประกอบอาชีพอิสระในกิจกรรมที่มีศักยภาพ อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตและการก่อสร้าง โลจิสติกส์ การค้า โรงแรมและภัตตาคาร และการเกษตร 9.3 ล้านคน พัฒนาทักษะด้านการประกอบการและขยายกิจการสร้างรายได้สูงขึ้น

ขณะที่เติมแรงงานและผู้ประกอบการไปยังกิจกรรมที่มีศักยภาพและมีความพร้อมในการเติบโตเพื่อรองรับโลกใหม่ อาทิ พลังงานและเคมีชีวภาพ อาหารแห่งอนาคตและเทคโนโลยีชีวภาพ ยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์อัจฉริยะ และธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อรองรับคนทั้งที่จบใหม่และที่เคลื่อนย้ายจากกิจกรรมเดิมอีก 7 ล้านคน

ในโลกคู่ขนานที่ไทยกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว จะต้องมีคนที่ก้าวกระโดดจากรายได้ปานกลางหรือน้อยไปเป็นรายได้สูงถึงประมาณ 20 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนแรงงานไทย 38.2 ล้านคน

ในด้านคณิตศาสตร์แล้ว การสร้างรายได้ให้คนค่อนประเทศย่อมเป็นความท้าทายอย่างมาก แต่หากมองบวกไว้จะพบว่า เป้าหมายนี้มีนัยลึกซึ้งไปกว่าการดีดให้ตัวเลขรายได้ประชาชาติในภาพรวมเพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียว เนื่องจากได้คำนึงถึงการเติบโตอย่างทั่วถึง กระจายตัวไปยังแรงงานไทยส่วนใหญ่ โดยน่าสังเกตว่าหากการศึกษาวิจัยสามารถชี้เป้าหมายการพัฒนาในระดับจุลภาคได้ ย่อมมีโอกาสให้ผู้ดำเนินนโยบายนำไปต่อยอดเพื่อออกแบบนโยบายให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มได้

ตัดภาพกลับมาในโลกแห่งความเป็นจริง มาเลเซียเพิ่งเข้าสู่สถานะพัฒนาแล้วอย่างไม่เป็นทางการ โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากแผนพัฒนาประเทศตั้งแต่ปี 1991 จึงขอทิ้งท้ายคำถามไว้ว่า แล้วก้าวต่อไปของไทย ควรจะเป็นอย่างไร?


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ