ธปท. ให้ความสำคัญกับ นวัตกรรม แต่ต้องการเห็น นวัตกรรมบนพื้นฐานของความรับผิดชอบ ที่สร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจจริงได้ ไม่ได้ทำขึ้นหวังเก็งกำไร หรือสร้างกระแส พร้อมเผยความคืบหน้าทดสอบ CBDC ระหว่างสถาบันการเงิน หวังจะเป็น Game Changer โอนเงินข้ามประเทศในอนาคต
ดังนั้นในบทความนี้จะมาว่าด้วยเรื่อง นวัตกรรมการเงินบนพื้นฐานของความรับผิดชอบที่แบงก์ชาติต้องการ ความคืบหน้าและความคาดหวังของ CBDC หรือสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง ซึ่งกล่าวในงาน BOT Digital Finance Conference 2022 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2565
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า นวัตกรรม เป็นสิ่งที่มีความสำคัญในการเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ ซึ่งสิ่งที่ ธปท.ต้องการ คือ การไม่ได้พิจารณานวัตกรรมในมุมศักยภาพเท่านั้น แต่ต้องเป็น ‘นวัตกรรมบนพื้นฐานของความรับผิดชอบ’ (responsipility innovation) กล่าวคือ นวัตกรรมนั้นๆ ต้องมีการดูแลความเสี่ยงที่อยู่บนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม
ซึ่งจะต้องสามารถเสริมศักยภาพและเพิ่มผลิตภาพของเศรษฐกิจจริงได้ ไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงิน เช่น ไม่ทำขึ้นเพื่อหวังเก็งกำไร สร้างกระแส หรือหลอกลวงประชาชน อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงความยั่งยืน ที่จะไม่สร้างภาระหนี้มากเกินสมควรในระยะยาว นอกจากนี้จะต้องช่วยสร้างความมั่งคั่งที่สังคมเข้าถึงและได้รับผลประโยชน์อย่างทั่วถึง และไม่ก่อให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม
ยกตัวอย่างเช่น โครงการ PromptPay โครงการ mBridge เป็นการทดลอง Wholesale CBDC ร่วมกับธนาคารกลางอื่นหลายแห่ง ที่จะช่วยลดต้นทุนภาคธุรกิจได้ และการทำ tokenization ของสินทรัพย์ทางการเงินต่างๆ ซึ่งตรงนี้เป็นแนวคิดใหม่ แต่มีศักยภาพที่จะสามารถเป็น Game Changer ได้ และในขณะเดียวกัน ปัจจุบันมีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่ธปท. มองว่านวัตกรรมบางประเภทอาจยังต้องผ่านการพิสูจน์เพิ่มเติมให้มั่นใจว่า มีศักยภาพที่จะนำมาปรับใช้ และสามารถสร้างประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจจริงได้
ขณะที่มุมมองเกี่ยวกับบล็อกเชน ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวว่า เป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพจะเป็น Game Changer ได้ แต่สิ่งที่ธปท.ต้องการเห็นคือ นวัตกรรมที่เป็นไปได้ เพิ่มการแข่งขัน และสามารถสร้างโอกาสใหม่ให้เกิดขึ้นได้ เพราะถ้าแค่ช่วยให้ต้นทุนถูกลงมันไม่เพียงพออีกต่อไป ดังนั้น ธปท. พร้อมเปิดรับภาคเอกชนให้เข้ามาพูดคุยหารือร่วมกัน เพื่อที่จะสามารถเพิ่มผู้เล่นหน้าใหม่ในตลาดให้เกิดขึ้น
หวัง CBDC ตัวเปลี่ยนเกมภาคการเงิน
CBDC (Central Bank Digital Currency) หรือเงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง เป็นนวัตกรรมที่ค่อนข้างมีความหวังในการที่จะเป็น Game Changer ภาคการเงินได้ โดยเฉพาะสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางที่ใช้สำหรับการทำธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน (Wholesale CBDC) ปัจจุบันธปท.อยู่ระหว่างทดสอบร่วมกับธนาคารกลางของฮ่องกง ธนาคารกลางแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสถาบันศึกษาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้โครงการที่ชื่อว่า m-CBDC Bridge โดยการนำสกุลเงินทั้ง 4 สกุล มาใช้แลกเปลี่ยนในธุรกรรมจริง ซึ่งมีธนาคารพาณิชย์กว่า 20 แห่งจาก 4 ประเทศเข้าร่วม
ผลการทดสอบที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่า CBDC สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการโอนเงินระหว่างประเทศได้มากกว่าระบบเดิมในปัจจุบัน โดยสามารถลดเวลาการโอนเงินระหว่างประเทศที่เดิมใช้เวลา 3-4 วัน ซึ่งใช้ต้นทุนสูงมาก ลดเหลือเพียงระดับวินาทีเท่านั้น ดังนั้น ตรงนี้จึงมีศักยภาพในการเป็น Game Changer ในฝั่งของการชำระเงินข้ามประเทศ ขณะที่การดำเนินโครงการ m-CBDC Bridge ในระยะต่อไปจะต้องมีการเพิ่มตัวอย่างการใช้งานให้หลากหลายขึ้น
สำหรับโครงการทดสอบ CBDC นั้น ปัจจุบันไม่ได้มีเพียงแค่ประเทศไทยเท่านั้น แต่มีการดำเนินการในหลายประเทศ และมีหลายโครงการที่เกิดขึ้น เช่น โครงการ
Jura ที่เป็นการทดสอบร่วมกันระหว่างสวิตเซอร์แลนด์ และฝรั่งเศส Dunbar ทดสอบร่วมกันระหว่าง 4 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และแอฟริกาใต้
“ตอนนี้มีธนาคารกลางประมาณ 10 กว่าแห่งที่กำลังทดสอบ CBDC กันอยู่ ดังนั้นประเทศไทยไม่ได้ล้าหลังในเรื่องนี้ ในระยะต่อไปเราคาดหวังการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคธุรกิจเพิ่มมากขึ้น เพราะมันจะสามารถพลิกโฉมได้ในอนาคต และท้ายที่สุดแล้ว หากแต่ละประเทศสามารถนำมาเชื่อมต่อกันได้ทั้งหมด มันจะเป็นระบบการชำระเงินที่กลายเป็นอีกหนึ่งโครงสร้างพื้นฐานทางการโอนเงินระหว่างประเทศที่นอกเหนือจากระบบ SWIFT ในปัจจุบัน” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว
ขณะที่ความท้าทายที่เกิดขึ้น หนีไม่พ้นในเชิงเทคนิค แต่หลักๆ ของโครงการนี้ คือ เรื่องของ Governance การตัดสินใจร่วมกันระหว่างประเทศ รวมถึงเรื่องของกฎระเบียบที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศด้วยเช่นกัน แต่ท้ายที่สุดก็จะหาจุดลงตัวระหว่างกันได้
ส่วนการทดสอบสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางที่ใช้สำหรับธุรกรรมรายย่อยของภาคธุรกิจและประชาชน (retail CBDC) ปัจจุบัน ธปท.ได้เดินหน้าโครงการอย่างเต็มที่ เพียงแต่เป็นโครงการที่ทำขึ้นเพื่อศึกษาเรียนรู้ ไม่ได้เพื่อเป็นการเปิดตัวใช้งาน เพราะยังมีประโยชน์กับภาคการเงินเดิมที่ไม่ชัดเจนมากนัก จะต่างกับ Wholesale CBDC ที่มีตัวอย่างการใช้งานที่เห็นประโยชน์ได้อย่างชัดเจน ซึ่งคาดว่าอาจเกิดขึ้นได้ใน 5 ปี
ดังนั้นจึงได้มีการจัดทำเป็นโครงการที่ทดสอบการใช้งานจริงในวงจํากัด (Pilot Project) มีกลุ่มตัวอย่างเข้าร่วมจำนวนหมื่นราย
อย่างไรก็ตาม ธปท. มองว่า retail CBDC อาจไม่ได้เหมาะกับการทดสอบใช้งานในระดับพื้นฐาน (Foundation track) ที่เน้นใช้งานโดยทั่วไป เพราะปัจจุบันมี Promtpay ที่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว แต่จะเหมาะกับการทดสอบในระดับนวัตกรรม (Innovation track) มากกว่า ที่จะมีการต่อยอดโดยการเขียนโปรแกรมลงไปเพื่อกำหนดการใช้งานในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งทำงานในฟังก์ชันที่ซับซ้อนได้ ซึ่งหากสามารถก้าวไปถึงตรงนี้ได้ก็จะสามารถกลายเป็นนวัตกรรมที่ไปสู่ Game Changer ได้เช่นกัน