สำนักงาน กสทช.ร่อนหนังสือแจ้งทรู-ดีแทคเปิดหวอควบรวมกิจการ “พิรงรอง” บอร์ดเสียงข้างน้อยแพ้โหวตโพสต์ “หมดสภาพ” ด้านเอกชน 2 รายรอหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการ กังวลถูกล้วงตับความลับทางการค้า และโครงสร้างกำหนดราคาต้นทุนใหม่ อาจกระทบรายได้ ส่วนสภาองค์กรผู้บริโภค ยันฟ้องแน่ แต่ยังอุบจะฟ้องบอร์ดคนใด ขณะที่นักวิชาการ 101 พอใจมาตรการด้านราคา มองอาจคุมค่าบริการได้ดีขึ้น
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า หลังที่ประชุมบอร์ด กสทช.เมื่อวันที่ 20 ต.ค.65 มีมติรับทราบการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค และให้กำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและพัฒนากิจการโทรคมนาคมนั้น วันที่ 21 ต.ค. สำนักงาน กสทช.ได้ส่งหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการไปยัง 2 บริษัทแล้ว โดยหากมีข้อข้องใจและข้อโต้แย้งสามารถเข้าหารือได้โดยไม่มีเงื่อนเวลากำหนด
ทั้งนี้ ที่ประชุมบอร์ด กสทช. ครั้งประวัติศาสตร์เมื่อวันที่ 20 ต.ค.65 ซึ่งใช้เวลาประชุมกว่า 11 ชั่วโมง มีมติเสียงข้างมากรับทราบการรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค ในสัดส่วน 3 : 2 โดย กสทช.เสียงข้างน้อย ซึ่งขอสงวนความเห็นที่ไม่อนุญาตการรวมธุรกิจ ได้แก่ นายศุภัช ศุภชลาศัย และ น.ส.พิรงรอง รามสูต ส่วนเสียงข้างมาก ซึ่งเห็นว่าบอร์ดมีอำนาจแค่รับทราบการควบรวม แต่สามารถกำหนดมาตรการเพื่อลดผลกระทบต่อผู้บริโภคและอุตสาหกรรม ได้แก่ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. และนายต่อพงศ์ เสลานนท์ ขณะที่ พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองประธาน กสทช. งดออกเสียง
เปิดเงื่อนไขควบรวมทรู-ดีแทค
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มติที่แท้จริงของที่ประชุมดังกล่าวคือ 2 : 2 : 1 เนื่องจาก พล.อ.ท.ธนพันธุ์งดออกเสียง เพราะกลัวเสี่ยงผิดข้อกฎหมาย ทำให้นพ.สรณใช้อำนาจออกเสียงเพิ่มอีก 1 เสียงเพื่อเป็นการชี้ขาด ทำให้ นพ.สรณใช้สิทธิโหวตได้ 2 ครั้ง กลายเป็นเสียงข้างมากในที่สุด ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังได้พิจารณาข้อกังวล (Point of Concern) 5 ข้อ และเห็นชอบเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ ได้แก่ 1.ข้อกังวลเรื่องอัตราค่าบริการ ให้กำหนดเพดานค่าบริการเฉลี่ย ลดลง 12% โดยใช้วิธีการเฉลี่ยราคาใหม่ ภายใน 90 วันหลังการควบรวม กรณีทำไม่ได้ จะมีบทลงโทษ เช่น ปรับเป็น % ของรายได้ หรือปรับเป็นขั้นบันได และเพิกถอนใบอนุญาต
นอกจากนั้น ยังต้องนำส่งข้อมูลรายงานบัญชีแยกประเภทในกิจการโทรคมนาคมให้ครบถ้วนทุก 3 เดือน หรือเมื่อร้องขอ เพื่อใช้ตรวจสอบโครงสร้างต้นทุน ค่าบริการ และนำมาคำนวณหาต้นทุนรวมเฉลี่ย ซึ่งเป็นราคาในตลาดที่มีการแข่งขัน (Average Cost Pricing) และต้นทุนส่วนเพิ่ม (MC) ที่เป็นปัจจุบันและถูกต้อง ตลอดจนจัดให้มีที่ปรึกษาสอบทาน (Verify) ข้อมูลโครงสร้างต้นทุน อัตราค่าบริการ โดย กสทช.กำหนด และทรู-ดีแทครับผิดชอบภาระค่าใช้จ่าย เมื่อการควบรวมแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน เป็นต้น รวมทั้งยังกำหนดให้ทรูและดีแทคแยกแบรนด์ให้บริการเป็น 3 ปี
2.จัดทำแผนสนับสนุนผู้ให้บริการโครงข่ายเสมือน (MVNO) ด้วยการจัดให้มีหน่วยธุรกิจด้าน MVNO เป็นการเฉพาะ จะต้องให้บริการได้ทันที รวดเร็วและใช้บริการได้ทุกคลื่นในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 20% ของโครงข่ายโทรคมนาคมทั้งหมด ในราคาต่ำกว่าราคาขายปลีก 30% และไม่ให้กำหนดเพดานขั้นต่ำในการเข้าซื้อ 3.คงคุณภาพการให้บริการ ไม่ลด จำนวนเซลไซต์ มีพนักงานให้บริการอย่างพอเพียง และต้องให้บริการ 5G ครอบคลุมไม่น้อยกว่า 85% ของประชากรทั้งหมดภายใน 3 ปี และ 90% ภายใน 5 ปีจากวันควบรวมธุรกิจ 4.การถือครองคลื่นความถี่ ต้องอนุญาตให้รายอื่นใช้โครงข่ายอย่างเคร่งครัด 5.สร้างนวัตกรรม ลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล จัดแพ็กเกจราคาต่ำสำหรับผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาส
พร้อมกันนั้น บอร์ดยังกำหนดกลไกติดตาม หากได้รับการร้องเรียนว่า ผูกขาดหรือลดการแข่งขัน อาจระงับ ยกเลิก ปรับปรุงเงื่อนไขเพิ่มได้ โดยบอร์ดทั้ง 5 จะจัดส่งบันทึกความเห็นภายหลัง ขณะที่นายศุภัชและ น.ส.พิรงรองขอสงวนความเห็นในการรับรองการประชุมครั้งนี้ แต่ น.ส.พิรงรอง ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ยืนยันไม่อนุญาตให้รวมธุรกิจ เพราะเป็นการถือครองธุรกิจประเภทเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งในแง่ลดการแข่งขัน การคุ้มครองผู้บริโภค และการพัฒนาเศรษฐกิจ พร้อมยอมรับว่าเป็นการประชุมที่ยาวนานที่สุดในชีวิตจนทำให้หมดสภาพ
องค์กรผู้บริโภคยันฟ้องบอร์ด กสทช.
ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภคกล่าวว่า ผิดหวังและผิดคาดที่บอร์ด กสทช.ไม่ใช้อำนาจปฏิบัติหน้าที่ สภาองค์กรฯจึงจะยื่นฟ้องบอร์ด กสทช.ต่อศาลปกครองให้ไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อคุ้มครองชั่วคราว ไม่ให้การควบรวมเดินหน้าได้โดยเร็วที่สุด ขณะนี้กำลังรวบรวมมติบอร์ด และบันทึกความเห็นของบอร์ดแต่ละคน รวมทั้งจะยื่นฟ้องบอร์ด กสทช.ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ควบคู่กันด้วย ส่วนจะฟ้องทั้งบอร์ด หรือฟ้องรายบุคคล ยังไม่สามารถเปิดเผยได้
ส่วนนายฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB -101 Public Policy Think Tank ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง ในฐานะ นักวิชาการด้านโทรคมนาคม กล่าวว่า ผิดหวังกับมติบอร์ดแต่ไม่ผิดคาด และแม้จะไม่มีมาตรการด้านโครงสร้าง เช่น การยึดคืนคลื่น แต่หลายมาตรการด้านพฤติกรรม มีความน่าสนใจและน่าเชื่อได้ว่าจะดูแลราคาค่าบริการได้ดีขึ้น เช่น โครงสร้างการกำหนดราคาตามต้นทุนที่สะท้อนความเป็นจริงมากกว่าเดิม ซึ่งน่าจะนำไปสู่การควบคุมราคาให้ต่ำลงได้จริง เช่นเดียวกับมาตรการด้าน MVNO ที่กำหนดราคาขายส่งต่ำลงมาก และไม่มีเพดานซื้อขั้นต่ำ ที่จะช่วยให้รายเล็กเข้าสู่ตลาดได้ง่ายขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ทรูและดีแทค กำลังรอหนังสือแจ้งจากสำนักงาน กสทช.อย่างเป็นทางการ เพื่อวิเคราะห์มาตรการที่ถูกกำหนดให้ทำอย่างละเอียด โดยผู้บริหารกังวลหลายประเด็น โดยเฉพาะการยื่นรายงานบัญชีแยกประเภท และถูกตรวจสอบโดยบริษัทที่ปรึกษาบุคคลที่ 3 รวมถึงการถูกกำหนดราคาตามต้นทุน ที่มีการคิดสูตรใหม่ ซึ่งอาจกระทบต่อรายได้.