ปลุก “ตื่น-ฟื้น-ฝัน” ไทยรัฐฟอรัมฯ ระดมมันสมองฝ่าวิกฤติ สังคม-การเมืองและเศรษฐกิจ

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ปลุก “ตื่น-ฟื้น-ฝัน” ไทยรัฐฟอรัมฯ ระดมมันสมองฝ่าวิกฤติ สังคม-การเมืองและเศรษฐกิจ

Date Time: 20 ต.ค. 2565 05:24 น.

Summary

  • “ไทยรัฐกรุ๊ป” ผนึกกำลังพันธมิตรจัดเสวนา “ตื่น ฟื้น ฝัน : สังคมต้องตื่น เศรษฐกิจต้องฟื้น การเมือง ในฝัน” ปลุกประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง เชิญผู้เชี่ยวชาญหลากหลายมุมมอง

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

“ไทยรัฐกรุ๊ป” ผนึกกำลังพันธมิตรจัดเสวนา “ตื่น ฟื้น ฝัน : สังคมต้องตื่น เศรษฐกิจต้องฟื้น การเมือง ในฝัน” ปลุกประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง เชิญผู้เชี่ยวชาญหลากหลายมุมมองและมากประสบการณ์ ร่วมวงพูดคุยแสดงทรรศนะหาทางออกชาติ เพื่อให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี “บรรยง” ลั่นไม่ให้คะแนนรัฐบาล เพราะไม่รู้จะให้อย่างไร ชี้เหตุไทยเติบโตล่าช้า เพราะมีปัญหาโครงสร้างที่สะสมมานาน แนะปฏิรูปรัฐ ลดขนาดที่ใหญ่เกินไปและกระจายอำนาจ “เศรษฐา” ให้คะแนนรัฐบาลสอบตก ฝันว่ารัฐบาลใหม่จะผลักดันรัฐธรรมนูญใหม่ที่มาจากประชาชน “ชโยทิต” ปกป้องรัฐบาลสุดตัว ชี้นักการเมืองขายฝันมาเยอะ แต่ไม่มีอะไรออกเป็นรูปธรรม ฝากนายกฯในอนาคตบนเวทีนี้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ขณะที่ “พิธา” ให้คะแนนรัฐบาลติดลบ 100 ชี้ประเทศจะก้าวหน้าต้องลดเหลื่อมล้ำ รองผู้ว่าฯ กทม.เปิดสูตรสร้างเมืองในฝัน ส่วนสังคมในฝันรัฐต้องเป็นผู้สร้างให้เกิด ประธานบริษัทในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ฝันถึงรัฐบาลชุดใหม่ได้มืออาชีพมาบริหารงานจริงๆ อยากเห็นโมเดล “ชัชชาติ” ในทุกจังหวัดของไทย ส่วน “ได๋-ไดอาน่า” แนะใช้ความจริงใจ เปิดใจ เห็นใจ สร้างสังคมที่ดี หากใครได้เข้ามาบริหารประเทศขอให้บริหารแบบบริษัท

ท่ามกลางสภาวะข้าวยากหมากแพง ค่าแรงถูก เศรษฐกิจตกต่ำ หนำซ้ำสังคมยังมีความเหลื่อมล้ำ คนรวยกระจุก คนจนกระจาย คนไทยมากมายกำลังอยู่ในช่วงแห่งความยากลำบาก ต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองที่ล้มเหลว คดีอาชญากรรมล้นเมือง ส่งผลให้ผู้คนส่วนหนึ่งเกิดความสิ้นหวัง มองไม่เห็นอนาคตของตัวเองและอนาคตของลูกหลานในภายภาคหน้าว่า ชีวิตจะมีความอยู่ดีกินดีมีความผาสุกได้อย่างไร หนุ่มสาวจำนวนหนึ่งผละบ้านทิ้งเมืองไปอยู่ต่างประเทศเพื่อแสวงหาอนาคตที่ดีกว่า “ไทยรัฐกรุ๊ป” ในฐานะสื่อมวลชนได้มองเห็นและตระหนักถึงปัญหานี้ จึงต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนสังคมให้พัฒนาไปข้างหน้าอย่างมีคุณภาพเพื่อชีวิตที่ดีของคนไทย จึงจัดงานเสวนา “THAIRATH FORUM 2022 “ตื่น ฟื้น ฝัน” : สังคมต้องตื่น เศรษฐกิจต้องฟื้น การเมืองในฝัน” เพื่อร่วมกันพูดคุยแสดงทัศนะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหาทางออกให้สังคม โดยได้เชิญผู้ที่มีบทบาทในสังคมที่มีมุมมองหลากหลายและมากประสบการณ์มาร่วมวงเสวนา เพื่อให้เกิดข้อเสนอแนะที่ดีที่จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชาติ

“ไทยรัฐกรุ๊ป” จัดวงเสวนา “ตื่น ฟื้น ฝัน”

ทั้งนี้ ที่ห้องฟูจิ แกรนด์ บอลรูม โรงแรมนิกโก้ กรุงเทพฯ เมื่อบ่ายวันที่ 19 ต.ค. ไทยรัฐกรุ๊ป ประกอบไปด้วยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ไทยรัฐออนไลน์ และไทยรัฐทีวี ร่วมกับ บมจ.ปตท. บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก บมจ. ธนาคาร กรุงเทพ บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี บมจ.ธนาคารกรุงไทย บมจ.ธนาคารกสิกรไทย บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด บมจ.ธนาคารยูโอบี และ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ จัดงานเสวนาดังกล่าวขึ้น โดยมี ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ผู้แทนการค้าไทย นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงิน เกียรตินาคินภัทร นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.แสนสิริ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. นายธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด และ ได๋-ไดอาน่า จงจินตนาการ นักแสดง พิธีกร มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อเสนอแนะ หาทางออก สร้างการเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองให้กับประเทศไทย บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีนักธุรกิจชั้นนำของประเทศจำนวนหนึ่งเข้าร่วมฟัง

หาทางออกเพื่อชีวิตที่ดีของคนไทย

นายวัชร วัชรพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจ บริษัท ทริปเปิลวี บรอดคาสท์ จำกัด (ไทยรัฐทีวี) และบริษัท เทรนด์ วีจี 3 จำกัด (ไทยรัฐออนไลน์) กล่าวเปิดงานว่า ท่ามกลางวิกฤติอันหนักหนาที่คนไทยกำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ คนตกงาน ภาระหนี้ การศึกษาที่เป็นรากฐานสำคัญของประเทศอ่อนแอลง ทั้งๆที่ศักยภาพของเยาวชนและคนไทยเรามีมากมาย ในฐานะตัวแทนของไทยรัฐกรุ๊ป จึงจัดงานเสวนาครั้งนี้ขึ้น เพื่อร่วมกันพูดคุยหาทางออก ยกระดับศักยภาพของประเทศไทยและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นไปด้วยกัน ไทยรัฐกรุ๊ปหวังว่า เวทีนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการแลกเปลี่ยนเพื่อให้เกิดข้อเสนอแนะที่จะทำให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง

“บรรยง” สับแหลกไม่ให้คะแนนรัฐบาล

การเสวนาช่วงแรกภายใต้หัวข้อ “ตื่น+ฟื้น” (เศรษฐกิจและการเมือง) มีผู้ร่วมเสวนาช่วงนี้ คือ นายบรรยง พงษ์พานิช นายเศรษฐา ทวีสิน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ ม.ล.ชโยทิต กฤดากร โดยมี ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน และ นส.อรชพร ชลาดล พิธีกรไทยรัฐทีวี เป็นผู้ดำเนินรายการ นายบรรยงเริ่มต้นกล่าวว่า ถ้าจะให้คะแนนรัฐบาล ขออนุญาตไม่ให้ เพราะไม่รู้จะให้อย่างไรและเปรียบเทียบกับอะไร แต่จากงานวิจัยของทีดีอาร์ไอและสถาบันอนาคตไทยศึกษา ระบุชัดว่าไทยล่าช้า เพราะรัฐมีขนาดใหญ่เกินไป งบประมาณ 25% ของจีดีพี เทียบกับประเทศสแกนดิเนเวียอยู่ที่ 50% ในจำนวนนี้มากถึง 80% เป็นสวัสดิการ แต่ของเราเป็นงบโอเปอเรชั่นหรืองบบริหารราชการแผ่นดิน อย่างเงินเดือนข้าราชการไม่ใช่งบลงทุน ประเทศไทยมีข้าราชการและพนักงานราชการมากถึง 2.2 ล้านคน มีสวัสดิการสูงมากเป็นภาระการคลังในอนาคต ขณะที่ญี่ปุ่นมีประชาชนมากกว่าเรา แต่มีข้าราชการเพียง 500,000 คน สิงคโปร์ 110,000 คน

แนะหดขนาดรัฐ-กระจายอำนาจ

“ข้อสรุปของผมคือ รัฐใหญ่เกินไป ใหญ่ขนาดไหนบ้าง มิติที่ 1 ขนาดใหญ่เกินไปและมีอำนาจกระจุก 2.บทบาท รัฐบาลที่ยุ่งทุกเรื่อง พวกเรามีปัญหาอะไรก็ให้รัฐแก้ ที่เรียกสังคมอุปถัมภ์ ประชาชนอยากให้รัฐทำ รัฐเองก็รู้สึกว่าตัวเองเป็นพ่อต้องทำให้ เป็นปัญหาที่อยู่ในทัศนคติที่ฝังลึกมาก 3. อำนาจรัฐสูงมาก มีกฎหมายแสนกว่าฉบับ รวมกฎกระทรวง คำสั่ง ที่ประชาชนต้องปฏิบัติตาม มีใบอนุญาต 5,000 กว่าชนิด ประเทศอื่น 300 ก็พอ เรามีอะไรเยอะแยะไปหมดและเพิ่มตลอดเวลา เป็นปัญหาโครงสร้างที่ต้องแก้ไข แต่ความยากคือการแก้โครงสร้าง ผลไม่เห็นทันตา ข้อเสนอ คือ 1.ต้องหดขนาดรัฐ 2.กระจายอำนาจรัฐ โดยกระจายอำนาจและทรัพยากรออกไป อย่าให้กระจุกตัว” นายบรรยงกล่าว

ชี้ไทยเผชิญปัญหาปากท้อง-เหลื่อมล้ำ

ขณะที่นายเศรษฐากล่าวว่า ปัญหาของประเทศปัจจุบันนี้ เป็นปัญหาเรื่องปากท้องและเรื่องความเหลื่อมล้ำ รัฐบาลนี้จะอยู่มา 6 ปีหรือ 8 ปี หากต้องให้คะแนนรัฐบาล ผมให้สอบตก เพราะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เลยหากมองย้อนตอนนายกรัฐมนตรีเข้ามาสมัยแรก เน้นเรื่องความมั่นคง ผลที่ได้รับจากความมั่นคง คือการเมืองบนท้องถนนลดน้อยถอยลง ส่วนเรื่องกินดีมีสุข ตามสถานะของคนทั่วไป ทุกคนเดือดร้อนหมด แถมโชคร้ายอีกเจอวิกฤติโควิด เมื่อเผชิญวิกฤติโควิดทำให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น สังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำสูง

รธน.ที่ให้อำนาจ ปชช.จะช่วยชาติได้

นายเศรษฐากล่าวอีกว่า ประเด็นที่อยากฝากไว้ คือ 1.กฎของการอยู่ร่วมกัน คือ รัฐธรรมนูญที่เหมาะสม ให้อำนาจประชาชนจริงๆจะนำมาสร้างความมั่นคงเศรษฐกิจ สังคม และบ้านเมืองได้ โดยฝันว่ารัฐบาลใหม่น่าจะผลักดันให้เกิดรัฐธรรมนูญใหม่ การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเร็วๆนี้ ไม่รู้ว่าจะ 3 เดือนหรือ 8 เดือนแต่ผมเชื่อจะเป็นจุดเด่นประเทศไทย 2.เด็กและเยาวชนถือเป็นเรื่องระยะยาว ที่ต้องสร้างความหวัง สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชน มีส่วนร่วมพัฒนาประเทศ มีอิสรภาพที่ควรจะเลือกได้เอง 3.การเกณฑ์ทหาร ควรมีสิทธิเลือก เรื่องนี้มีความเปราะบางมาก การเกณฑ์ทหารควรมีทางเลือกไม่ใช่บังคับ อยากฝากพรรคการเมืองให้มานั่งคิดถึงประเด็นเด็กและเยาวชน มาสร้างความหวังเพื่อให้เด็กเยาวชน อยากให้อยู่ในประเทศและเป็นกำลังสำคัญในการสร้างความเติบโตเศรษฐกิจสังคมในอนาคตต่อไป

แนะเลือกตั้งควรมองคนให้ขาด

“รัฐธรรมนูญที่เหมาะสมคือต้องเป็นฉบับประชาชนอย่างแท้จริง ให้อำนาจประชาชนจะนำมาซึ่งความมั่นคงของเศรษฐกิจและประเทศชาติ ฝันว่ารัฐบาลใหม่จะผลักดันรัฐธรรมนูญใหม่ที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง การเลือกตั้งครั้งหน้าอยากจะเห็นการเลือกตั้งที่ขาด หากยังชอบรัฐบาลปัจจุบันก็เลือกไป ถ้าไม่ชอบก็เลือกให้ขาด เลือกเสียงส่วนมากเข้ามาบริหารให้ถูกต้อง ไม่ใช่พอเข้ามาแล้วทำไม่ได้” ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าว

“พิธา” ให้คะแนนรัฐบาลติดลบ 100

ส่วนนายพิธากล่าวตอนหนึ่งว่า สังคมตื่นในความหมายคือ สังคมมีฉันทามติเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มองว่าเดี่ยว 13 ของโน้ส อุดม คือฉันทามติชัดที่สุด ที่บอกว่า ทำใจ ทำใจ ทำใจ และรำคาญ รำคาญ รำคาญ เป็นตัวสะท้อน แม้เป็นเรื่องเสียดสี แต่เห็นฉันทามติทั้งในเมือง ต่างจังหวัด โซเชียลมีเดีย พอเจอปัญหาโควิดก็ตื่นเรื่องฉันทามติที่เชื่อว่ารัฐประหารไม่ใช่คำตอบ การเมืองประชาธิปไตยไม่มีทางลัด ส่วนการให้คะแนนรัฐบาล ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันในภาครัฐทั่วโลก รัฐบาลเข้ามา 8 ปี ตกจากอันดับ 102 ไปที่อันดับ 110 มองในมุมเศรษฐกิจ การเมืองสังคม คำนวณคะแนนรัฐบาลตรงไปตรงมาแล้ว คะแนนติดลบ 100

ประเทศก้าวหน้าต้องลดเหลื่อมล้ำ

นายพิธากล่าวว่า ส่วนการตั้งเป้าว่า 5 ปี เศรษฐกิจไทยโตเท่าใด ตนเห็นงบอย่างละเอียด รัฐบาลบอกจะไปซอฟเพาเวอร์ แต่มีงบวัฒนธรรม 80 ล้านบาท ตัวเลขจีดีพีโตเท่าใดไม่มีค่า ถ้าความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น ถ้าจะให้โต ต้องลดความเหลื่อมล้ำด้วย จะมีประโยชน์อะไรถ้ารวยล้นฟ้าแต่ยาเสพติดเต็มไปหมด อยากเห็นการกระจายที่ดิน ความเติบโตด้านท่องเที่ยว การตั้งเป้าแบบนี้จะทำให้ประเทศไทยก้าวหน้า ก้าวไกล และลดความเหลื่อมล้ำไปในตัว เป็นประเทศที่อยากเห็นใน 5 ปี

“เราฝันที่อยากเห็นการเมืองที่ไม่ใช่เป็นเรื่องบุคคล แต่เป็นเรื่องของระบบ ไม่ใช่ต้องการให้ซุปเปอร์แมนเข้ามาคนเดียว พอซุปเปอร์แมนไปทุกอย่างก็กลับมาเป็นเหมือนเดิม ฝันว่าประเทศไทยจะเติบโตก้าวไปข้างหน้า มีความเท่าเทียมในระบบทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไปด้วยกัน อยากเห็นเศรษฐกิจกับสวัสดิการควบคู่ไปด้วยกันได้” นายพิธากล่าว

ฉะนักการเมืองมีแต่พวกขายฝัน

ด้าน ม.ล.ชโยทิตกล่าวว่า ตนเป็นคนไทยธรรมดาเห็นการพูดของนักการเมืองขายฝันมาเยอะ แต่ไม่มีอะไรออกเป็นรูปธรรม คนไทยไม่มีความจนเหลือแล้ว มีการออกมาตรการว่าคนจะกินดีอยู่ดี แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น สิ่งนี้เป็นเหตุผลหลักที่อาสามาทำให้เป็นรูปธรรม เพราะเห็นคนไทยวิจารณ์เยอะแต่คนทำน้อย ทั้งนี้ ประเทศไทยอยู่ในวิกฤติโลก ทั้งสถานการณ์โควิด-19 สงครามรัสเซีย-ยูเครน ซ้ำเติมด้วยภาวะเงินเฟ้อ แต่ทั้งหมดไทยดำเนินการมาได้โดยไม่บุบสลาย มีสถานะทางการเงินและการคลังที่แข็งแกร่งที่สุดในอาเซียน แม้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี อาจฟื้นสู้ประเทศอื่นในอาเซียนไม่ได้ เพราะเราเคยพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวมากถึง 20%ของจีดีพีแต่ช่วงเกิดโควิด-19 รายได้ตรงนี้เหลือศูนย์ มาถึงปีนี้ทุกอย่างเริ่มกลับมา นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกลับมา คาดว่าจนถึงสิ้นปีนี้จะได้ 10 ล้านคน แต่ยังต่างจากที่เคยมาเที่ยวไทยก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ที่ 40 ล้านคน

ขอว่าที่นายกฯ แก้ความเหลื่อมล้ำ

“การทำมากกว่าพูดเป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องทำจริงๆ เราเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่โรงงานของชาวต่างชาติไม่ต้องปิดแม้แต่วันเดียว เป็นอะไรที่เราจัดการได้ดี ช่วงต้นที่เกิดโควิดขลุกขลักเรื่องวัคซีน จนเมื่อไทยผลิตแอสตราเซเนกาได้ ไทยก็มีเสถียรภาพวัคซีน ตรงนี้ผมเสนอให้ทำมากกว่าพูด เรื่องพูดให้น้อยๆ มาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมมันยาก ผมเป็นคนทำอยู่ ให้คะแนนยาก ต้องบอกว่าจะทำเป็นรูปธรรม ไม่ใช่ความฝัน แต่ต้องทำให้เป็นจริง ส่วนปัญหาความเหลื่อมล้ำ ต้องฝากท่านนายกฯในอนาคตในเวทีนี้ไว้ด้วย การทำมากกว่าพูด เป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องทำจริงๆ ม.ล.ชโยทิตกล่าว

อยากเห็นโมเดล “ชัชชาติ” ใช้ทุก จว.

ส่วนการสัมมนาช่วงที่สอง ฟื้น+ฝัน (สังคม) นายธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการบริษัทเพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ความคาดหวังจากการเลือกตั้งที่กำลังมาถึงและรัฐบาลชุดใหม่ อยากเห็นมืออาชีพจริงๆ เข้ามาบริหารงานกระทรวงตามความรู้ ความสามารถ อย่างน้อยสักครึ่งหนึ่ง อยากให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ต่อรอง หาคนเก่งและตรงมาทำงานบ้าง อย่าผิดฝาผิดตัว ส่วนการจัดสรรงบประมาณ ต้องดูที่ยุทธศาสตร์ ยุทธศาสตร์ให้ความสำคัญตรงไหน ควรเอาเงินลงตรงนั้น ยังอยากเห็นโมเดลแบบคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่คนกรุงเทพฯจำนวนมากเลือกเข้ามา ถูกนำไปใช้ในจังหวัดอื่นๆที่พร้อม เพื่อให้คนต่างจังหวัดมีโอกาสเลือกคนที่เป็นจิตวิญญาณของคนในท้องถิ่นนั้นๆ ส่วนเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำมองว่าเทคโนโลยีแม้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ แต่กลับสร้างความเหลื่อมล้ำขึ้นมาเพิ่ม โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำระหว่างธุรกิจต่างประเทศและธุรกิจไทย จากการเข้ามาของแพลตฟอร์มต่างๆจากต่างประเทศ เรื่องนี้สามารถใช้กฎหมายเข้ามาช่วยได้ เช่น การกำหนดจำนวนแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ การควบคุมค่าบริการที่แพลตฟอร์มต่างประเทศจะเก็บจากลูกค้า เป็นต้น เรื่องนี้เป็นวิสัยทัศน์ของรัฐบาล

“ทวิดา” เปิดสูตรสร้างเมืองในฝัน

ทางด้าน น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึง “สังคมในฝัน เมืองในฝัน ประเทศในฝัน” ว่า ถ้าถามว่าเมืองในฝันเป็นอย่างไร ขอพูดในฐานะประชาชนและทีมของผู้ว่าฯ กทม.ว่า พอตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกว่า มีหน้าที่ต้องทำ มีความสุข มีพลัง ในฐานะคนทำงานเมือง ผู้ว่าฯ กทม.ถามตลอดเวลาว่า ยังสนุกกับการทำงานอยู่หรือไม่ หากทุกคนรู้สึกว่าชีวิตไม่เดือดร้อน มีความสุขกับการดำรงชีวิตคือ เมืองในฝันเป็นความต้องการพื้นฐานที่หาได้ ส่วนสังคมในฝัน บางอย่างเป็นภาระหน้าที่รัฐที่ต้องทำ สร้างให้เกิดขึ้น บางอย่างเป็นหน้าที่รัฐต้องสนับสนุนความต้องการของประชาชน ดังนั้นการจัดการให้สิทธิให้เสมอกันที่ทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ กทม.ต้องปรับเป็นกลไกทำให้ประเทศฟื้น อย่าทำให้ความร่วมมือเป็นการขอไปที จะไม่เกิดความต่อเนื่อง ถ้าคิดอยากฟื้นประเทศฟื้นเมือง ต้องนึกถึงกลไก ไม่ใช่ทำเอาคะแนนนิยมอย่างเดียว แล้วจบ

หากมี “3 ใจ” ช่วยไทยเดินหน้าได้

ผู้ร่วมเสวนาอีกคนคือ ได๋-ไดอาน่า กล่าวว่า ตลอด 1 ปี ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการให้ช่วยเหลือสังคมไทย มีความคิดทุกวันว่าอยากให้ประเทศไทยอย่าจน ทุกวันนี้คนไทยจำนวนมากยังจนเงิน จนโอกาส จนปัญญา หันไปทางไหนพบแต่คนที่รอความหวัง ภาพของสังคมไทยไม่สดใส หากอยากจะเปลี่ยนประเทศไทยให้มีสีสันสดใส ต้องให้ประชาชนเข้าใจสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทย เข้าถึงการช่วยเหลือขั้นพื้นฐานอย่างเสมอภาค ที่สำคัญคือ ต้องได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมไม่ว่าอยู่จุดไหนของประเทศ หากทำได้จะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในไทยปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหากลุ่มเปราะบาง เป็นปัญหาที่สามารถพูดได้หลายสิบปี แต่อยากให้มองประเทศไทยเป็นบริษัท ถ้าผู้บริหารประเทศและผู้อยู่ในประเทศมีความจริงใจต่อกัน เปิดใจพูดคุยและรับฟังกันด้วยเหตุด้วยผล มีความเห็นอกเห็นใจกันและกัน แม้จะไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้ง ความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ได้หมด แต่สามารถผลักดันให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ อยากฝากถึงผู้ที่จะเข้ามาบริหารประเทศไทยในวันข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นใคร ประสบความสำเร็จมาขนาดไหน อยากให้บริหารประเทศไทยให้ประสบความสำเร็จเหมือนองค์กรของท่าน ด้วยความโปร่งใส จริงใจ เห็นอกเห็นใจ เข้าใจว่าประชาชนเดือดร้อนจริง ทำให้ความฝันของคนไทยไม่เป็นเพียงแค่ความฝันอีกต่อไป


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ