ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ตู้คอนเทนเนอร์-ค่าระวางเรือสะท้อน

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ตู้คอนเทนเนอร์-ค่าระวางเรือสะท้อน

Date Time: 19 ต.ค. 2565 08:24 น.

Summary

  • จับตาสัญญาณการค้าระหว่างประเทศเริ่มชะลอ หลังปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ทั้งนำเข้า–ส่งออกเหลือเกินความต้องการ กดดันค่าระวางเรือขนส่งระหว่างประเทศปรับลง 1.5–3 เท่าตัว

Latest

“อุตสาหกรรมแบตเตอรี่”  จิ๊กซอว์ที่ต้องต่อให้เต็ม สานฝันไทย “ฮับผลิต EV” ภูมิภาค

จับตาสัญญาณการค้าระหว่างประเทศเริ่มชะลอ หลังปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ทั้งนำเข้า-ส่งออกเหลือเกินความต้องการ กดดันค่าระวางเรือขนส่งระหว่างประเทศปรับลง 1.5-3 เท่าตัว สะท้อนโลกกำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซ้ำเติมประชาชนไทย 1 ใน 3 ที่เป็นคนจน

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย)เปิดเผยว่า ขณะนี้มีสัญญาณการค้าระหว่างประเทศที่เริ่มทยอยลดลง เนื่องจากปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ ทั้งที่เป็นในส่วนของการนำเข้าและส่งออก ที่ก่อนหน้านี้เกิดปัญหาขาดแคลนอย่างรุนแรงไปทั่วโลก จนส่งผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศไทยนั้น ล่าสุดพบว่าปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ ได้เริ่มกลับมามีจำนวนเหลือเกินความต้องการใช้ในตลาดโลก รวมถึงปัญหาการขาดแคลนเริ่มลดลง โดยสะท้อนจากค่าระวางเรือขนส่งระหว่างประเทศ (Freight Charge) จากประเทศไทยไปยังท่าเรือต่างๆทั่วโลก ราคาได้ปรับลง 1.5-3 เท่าจากเดิม ทั้งค่าขนส่งไปสหภาพยุโรป, ท่าเรือเซี่ยงไฮ้ที่ประเทศจีน ฯลฯ จึงเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าโลกกำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างแท้จริง และจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยปลายปีนี้และต่อเนื่องไปอย่างน้อยถึงครึ่งแรกของปีหน้า

“ผมมองว่าภาวะเศรษฐกิจโลก กำลังเข้าสู่อัตราเงินเฟ้อโลกหรือ Global Inflation ที่ส่งผลต่อต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้น ทำให้ความต้องการสินค้าและบริการลดลง แม้ว่าภาคส่งออกของไทยจะได้แต้มต่อจากเงินบาทอ่อนค่า แต่สินค้าส่งออกส่วนใหญ่ ต้องนำเข้าวัตถุดิบและชิ้นส่วน ซึ่งได้รับผลกระทบจากมากไปน้อย แตกต่างกันในแต่ละประเภทสินค้า อีกทั้งค่าเงินของประเทศคู่ค้า เช่น จีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น อ่อนค่ามากกว่าเงินบาท จึงจะส่งผลให้การส่งออกในช่วงปลายปีเริ่มชะลอตัว”

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ผ่านจุดที่เรียกว่าการขยายตัวส่งออกสูงสุดได้ผ่านพ้นไปแล้ว และจากนี้ไป สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เริ่มดิ่งเหวจะทำให้คำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลง

สำหรับปัจจัยเสี่ยงของประเทศไทยในไตรมาส 4 และลากยาวไปถึง 6 เดือนแรกของปีหน้า มีอาทิ 1.ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าทรุดตัวลงรุนแรงไปถึงถดถอยหนักสุดในรอบ 4 ทศวรรษ จึงเป็นเรื่องยากที่จะไม่กระทบถึงประเทศไทย 2.โลกได้เข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อรุนแรงที่จะต่อเนื่องไปถึงปีหน้า ประเทศไทยก็จะเผชิญกับปัญหานี้เช่นกัน และทำให้ราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคแพงขึ้นต่อเนื่อง

3.สภาพคล่องของภาคธุรกิจเริ่มลดลง แต่ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้คนจนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เพราะในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาพบว่าหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นถึง 492,000 ล้านบาท คาดว่าสิ้นปีนี้อาจสูงถึง 700,000 ล้านบาท โดยหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยกับปริมาณคนจนที่เพิ่มมากขึ้นสะท้อนจากการขึ้นทะเบียนผู้มีรายได้น้อยสวัสดิการของรัฐหรือ “บัตรคนจน” ที่มีถึง 20 ล้านคน แสดงให้เห็นถึงความเปราะบางทางโครงสร้างของประเทศไทยที่ประชากรเกือบ 1 ใน 3 เป็นคนจน

4.อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท มีความผันผวนที่จะอ่อนค่าต่อเนื่อง จากการศึกษาเปรียบเทียบพบว่าเงินบาทอ่อนค่าเป็นผลอย่างเป็นนัยกับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ โดย 9 เดือนแรกปีนี้ อัตราแลกเปลี่ยนบาทอ่อนค่าถึง 14.33% และมีแนวโน้มที่ยังอ่อนค่าต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง

“เศรษฐกิจโลกปลายปีนี้ถึงครึ่งปีแรกของปีหน้าถือว่ามีความเสี่ยง ที่จะชะลอตัวรุนแรง ทำให้บางประเทศอาจถึงขั้นเข้าสู่วิกฤติทางเศรษฐกิจ ขณะที่เศรษฐกิจประเทศไทย ยังต้องนำปัจจัยผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่ในหลายๆพื้นที่ ซึ่งจะซ้ำเติมความยากจนและหนี้ครัวเรือนเพิ่มอีก จึงขอเสนอให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการที่จำเป็นระยะสั้นแบบมีงบประมาณที่เพียงพอออกมาในช่วงสิ้นปีนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ