ปลื้ม ยอดขอบีโอไอ 4 แสนล้าน  “สมคิด” จี้รัฐเร่งผลักดันอีอีซีดึงเชื่อมั่นต่างชาติ

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ปลื้ม ยอดขอบีโอไอ 4 แสนล้าน “สมคิด” จี้รัฐเร่งผลักดันอีอีซีดึงเชื่อมั่นต่างชาติ

Date Time: 18 ต.ค. 2565 06:14 น.

Summary

  • บอร์ดบีโอไอ ปลื้ม 9 เดือนแรกปีนี้ แห่ขอรับบีโอไอ 4 แสนล้านบาท ไฟเขียวยุทธศาสตร์ส่งเสริมลงทุน 5 ปี พลิกโฉมประเทศสู่เศรษฐกิจใหม่ ด้าน “สมคิด” จี้รัฐขับเคลื่อนโครงการใหญ่ใน “อีอีซี”

Latest

“อุตสาหกรรมแบตเตอรี่”  จิ๊กซอว์ที่ต้องต่อให้เต็ม สานฝันไทย “ฮับผลิต EV” ภูมิภาค

บอร์ดบีโอไอ ปลื้ม 9 เดือนแรกปีนี้ แห่ขอรับบีโอไอ 4 แสนล้านบาท ไฟเขียวยุทธศาสตร์ส่งเสริมลงทุน 5 ปี พลิกโฉมประเทศสู่เศรษฐกิจใหม่ ด้าน “สมคิด” จี้รัฐขับเคลื่อนโครงการใหญ่ใน “อีอีซี” ดึงเชื่อมั่น

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ได้รับทราบคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ของปีนี้ โดยมีโครงการขอบีโอไอ 1,247 โครงการ เพิ่มขึ้น 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่ารวม 439,090 ล้านบาท ลดลง 14% เพราะปีที่แล้วมีโครงการขนาดใหญ่ในกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า ยื่นขอรับการส่งเสริมหลายโครงการ มูลค่ารวม 150,000 ล้านบาท ทั้งนี้ หากพิจารณาสถิติการออกบัตรส่งเสริม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใกล้เคียงกับการลงทุนจริงมากที่สุด ช่วง 9 เดือน ออกบัตรส่งเสริม 1,101 โครงการเพิ่มขึ้น 17% มูลค่ารวม 357,552 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57%

“เป็นสัญญาณว่า ช่วง 1-2 ปีข้างหน้าจะมีการลงทุนเกิดขึ้นจริงมากขึ้น สำหรับช่วง 9 เดือน คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย มีมูลค่ารวม 286,699 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์”

ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) มีมูลค่า 275,624 ล้านบาท เป็นการลงทุนจากจีนมากที่สุด 45,024 ล้านบาท ตามด้วยไต้หวัน 39,256 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และญี่ปุ่น 37,591 ล้านบาท ส่วนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ขอรับส่งเสริม 376 โครงการ เงินลงทุนรวม 246,655 ล้านบาท

พร้อมกันนั้นบอร์ดยังเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (ปี 66-70) ที่มีเป้าหมายเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจใหม่ โดยวางเป้าหมายให้บรรลุผล 3 ด้าน ได้แก่ 1.Innovative เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ 2.Competitive เศรษฐกิจที่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน ปรับตัวเร็วและสร้างการเติบโตสูง 3.Inclusive เศรษฐกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม

ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานพรรคสร้างอนาคตไทย กล่าวว่า รัฐบาลควรเร่งเดินหน้าโครงการสำคัญในอีอีซี ที่ได้อนุมัติให้เอกชนลงทุนแล้ว คือรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน วงเงิน 224,544 ล้านบาท และพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เงินลงทุน 290,000 ล้านบาท รวม 2 โครงการ 514,544 ล้านบาท เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ