ธปท.เปิดสถานะระบบการเงินไทย หนี้ครัวเรือนยังเปราะบาง-จับตาหนี้เสียโควิดเพิ่ม

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ธปท.เปิดสถานะระบบการเงินไทย หนี้ครัวเรือนยังเปราะบาง-จับตาหนี้เสียโควิดเพิ่ม

Date Time: 8 ต.ค. 2565 06:21 น.

Summary

  • ธปท.เปิดรายงานเสถียรภาพระบบการเงินไทย ไตรมาส 3 พบครัวเรือนไทยยังเปราะบาง และมีหนี้สูง โดยหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคลเร่งตัวขึ้นตามการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

Latest

“อุตสาหกรรมแบตเตอรี่”  จิ๊กซอว์ที่ต้องต่อให้เต็ม สานฝันไทย “ฮับผลิต EV” ภูมิภาค

ธปท.เปิดรายงานเสถียรภาพระบบการเงินไทย ไตรมาส 3 พบครัวเรือนไทยยังเปราะบาง และมีหนี้สูง โดยหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคลเร่งตัวขึ้นตามการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น หนี้เสียโดยรวมได้รับการดูแลจากการเร่งปรับหนี้ แต่หนี้เสียเช่า–ซื้อรถยนต์ยังโตต่อ และต้องจับตาหนี้เสียในอนาคต เพราะลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดยังเพิ่ม ด้านสหกรณ์ยังมีพฤติกรรมเสี่ยงกู้เงินมาลงทุนเพิ่มขึ้น แต่ชะลอตัวลงจากก่อนหน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเผยรายงานเสถียรภาพระบบการเงินไทยรายไตรมาส ประจำไตรมาสที่ 3 ปี 2565 โดยภาพรวมระบบการเงินไทยมีเสถียรภาพ แต่ต้องติดตามความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ และอาจกระทบคุณภาพสินเชื่อโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง รวมถึงติดตามความผันผวนของตลาดการเงินโลกที่อาจเพิ่มขึ้นในระยะถัดไป ภาคครัวเรือนยังเปราะบางต่อเนื่องจากภาระหนี้และค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงจากภาวะเงินเฟ้อ โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้ต่ำที่รายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่

ทั้งนี้แม้ว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปรับลงจาก 89.2% เป็น 88.2% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม หนี้ครัวเรือนในส่วนของสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัวเพิ่มขึ้น ตามการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นหลังผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด ขณะที่คุณภาพสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์แม้ว่าจะปรับดีขึ้น จากการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ แต่คุณภาพสินเชื่อรถยนต์ยังมีคุณภาพด้อยลง อย่างไรก็ตามยังต้องจับตาหนี้ด้อยคุณภาพในอนาคต เพราะลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ในภาพรวมทุกประเภทสถาบันการเงินยังเพิ่มขึ้น

ขณะที่สถานะการเงินของธุรกิจขนาดใหญ่อยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่า โดยมีฐานะการเงิน สภาพคล่อง และความสามารถในการชำระหนี้อยู่ในเกณฑ์ดี สอดคล้องกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามการฟื้นตัวของภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและบางภาคธุรกิจที่อ่อนไหวต่อต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ธุรกิจขนส่งสินค้า และวัสดุก่อสร้าง ขณะที่เอสเอ็มอีมีสัญญาณการฟื้นตัวของรายได้จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง คุณภาพสินเชื่อทรงตัว แต่ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ โดยเฉพาะธุรกิจที่ได้รับแรงกดดันจากต้นทุนที่สูงขึ้น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีการฟื้นตัวตามความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น หลังเศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้นและมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ ขณะที่โครงการอาคารชุดเปิดใหม่ชะลอลงเล็กน้อยหลังเร่งขึ้นในช่วงต้นปี ทั้งนี้ต้องจับตาแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งราคาบ้านที่ปรับสูงขึ้นตามต้นทุนราคาวัสดุก่อสร้าง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจกระทบความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในระยะข้างหน้า

ระบบธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็ง เงินกองทุน เงินสำรองและสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง ขณะที่ผลประกอบการปรับดีขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาส เดียวกันปีก่อนหน้าจากการเติบโตของสินเชื่อ ทำให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าใช้จ่ายกันสำรองปรับลดลง เนื่องจากการปรับโครงสร้างหนี้และการบริหารจัดการหนี้ทำให้สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามลูกหนี้บางกลุ่มที่ยังเปราะบาง เนื่องจากอาจได้รับผลกระทบจากต้นทุนและค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น ขณะที่รายได้ของลูกหนี้บางกลุ่มยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ขณะที่การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลยังมีความเสี่ยงและนัยของเสถียรภาพระบบการเงินไทยโดยรวมจำกัด แต่ต้องติดตามพฤติกรรมการลงทุนที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องเพราะตลาดมีความผันผวนสูงและได้รับความสนใจในวงกว้าง

ทั้งนี้ ธปท.ยังคงจับตาการดำเนินการของสหกรณ์ ซึ่งยังมีพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทน โดยการกู้ยืมมาลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนและตราสารทุนเร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้สัดส่วนการลงทุนต่อสินทรัพย์รวมขยายตัวตามการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน อย่างไรก็ดี เป็นการนำไปลงทุนในตราสารทุนของรัฐวิสาหกิจและหุ้นกู้ภาคเอกชนอันดับเครดิต A- ขึ้นไปเป็นหลักและระดับเงินกู้ยืมเงินโดยรวมยังต่ำกว่าในอดีต แต่ในอนาคตหากภาคสหกรณ์ยังคงกู้ยืมเพื่อลงทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อาจได้รับผลกระทบรุนแรงขึ้น

ขณะที่ภาคเอกชนเร่งออกตราสารหนี้ก่อนการขึ้นดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม ในระยะถัดไปอาจยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดการปรับราคาของสินทรัพย์ระลอกใหม่ หากเกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายใต้ภาวะอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ด้านตลาดการเงินไทยมีความผันผวนลดลง หลังทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายชัดเจนขึ้น นอกจากนั้น ภาคต่างประเทศของไทยยังคงเข้มแข็งจากเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง และมีแนวโน้มปรับดีขึ้น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ