เอเซียพลัส คาดปิดปี 65 หุ้นไทยแตะ 1,730 จุด ชี้ 4 ปัจจัยสำคัญพาไปถึงดวงดาว

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เอเซียพลัส คาดปิดปี 65 หุ้นไทยแตะ 1,730 จุด ชี้ 4 ปัจจัยสำคัญพาไปถึงดวงดาว

Date Time: 7 ต.ค. 2565 16:25 น.

Video

บิทคอยน์ VS เงินในกระเป๋าเกี่ยวกันยังไง ? | Digital Frontiers

Summary

  • ตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 4/65 ได้ผ่านจุดที่ถูกแรงกดดันสูงสุดจากปัจจัยภายนอกไปแล้ว ปิดปี 65 เห็นดัชนีที่ 1,730 จุด

Latest


  • 4 ปัจจัยสำคัญผลักดันหุ้นไทยแตะ 1,730 จุด สิ้นปี 65 นี้
  • สงครามรัสเซีย-ยูเครน ไม่น่ากลัว ตลาดรับรู้มานานกว่า 7 เดือน เงินเฟ้อจบกลางปี 66 
  • จัดพอร์ตลงทุนรับปี 66 หลบความผันผวนหุ้นต่างประเทศด้วย Defensive

เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ ASPS กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 4/65 ได้ผ่านจุดที่ถูกแรงกดดันสูงสุดจากปัจจัยภายนอกไปแล้ว โดยเริ่มจาก

1. สงครามรัสเซีย-ยูเครน ตลาดตอบรับมานานกว่า 7 เดือน หากความเสี่ยงถูกจำกัดเฉพาะในพื้นที่ยูเครน และไม่นำไปสู่การใช้อาวุธนิวเคลียร์ระหว่างกัน ผลกระทบมายังตลาดหุ้นจะไม่มาก

2. อัตราเงินเฟ้อหลายประเทศมีแนวโน้มผ่านจุดสูงสุด หลังราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับลงใกล้เคียงกับช่วงต้นปี ทำให้แรงกดดันต่อการใช้นโยบายการเงินเชิงรุกของธนาคารกลางต่างๆ ลดลง

3. การดำเนินนโยบายทางการเงินเชิงรุกใกล้เข้าสู่ช่วงท้าย โดยเฉพาะ Fed ที่ตลาดคาดช่วงที่เหลือของปีจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 1% และปีหน้าอีก 0.25% ก่อนที่จะลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง

4. ทิศทางเศรษฐกิจหลายประเทศที่ชะลอลง โดยสหรัฐฯ เกิดภาวะ Technical Recession ไปแล้ว โดยเศรษฐกิจอังกฤษ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ชะลอลงหลัง GDP ไตรมาส 2 ติดลบ แต่อย่างไรก็ตามการทยอยปรับลดคาดการณ์ของสำนักเศรษฐกิจต่างๆ สะท้อนถึงการรับรู้ของตลาดไปในระดับหนึ่ง

สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะเติบโต 3.6% เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าทั้งปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 3.2% โดยมีแรงหนุนมาจากการเปิดประเทศที่ทำให้ภาคการบริโภคในประเทศและการท่องเที่ยวฟื้นตัว คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามากกว่า 10 ล้านคน และการใช้จ่ายภาครัฐที่เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนมากกว่าการเยียวยาหลังผ่านช่วงโควิด-19 รวมถึงดุลบัญชีเดินสะพัดที่น่าจะปรับตัวดีขึ้น" 

ภราดร เตียรณปราโมทย์ รองผู้อำนวยการสายงานวิจัย กล่าวว่า การขึ้นดอกเบี้ยแรงและเร็วจะทำให้เม็ดเงินจะไหลสินทรัพย์เสี่ยงไปปลอดภัย ซึ่งในฝั่งสหรัฐฯ เองเม็ดเงินลงทุนไหลออกจากตลาดหุ้นไปยังตลาดตราสารหนี้ทุกเดือน แต่สำหรับหุ้นไทยจะเห็นได้ว่านักลงทุนต่างชาติมีการซื้อสุทธิหุ้นไทยในทุกไตรมาส โดยในปี 65 นี้ซื้อมาแล้ว 1.5 แสนล้านบาท แสดงให้เห็นว่าการเร่งขึ้นดอกเบี้ยเป็นแค่ฝั่งสหรัฐฯ แต่เราของขึ้นแค่ 0.25% ซึ่งเม็ดเงินไม่ได้ไหลจากสินทรัพย์เสี่ยงไปสินทรัพย์ปลอดภัย

ในขณะที่ตลาดตราสารหนี้ก็ไม่ได้ถูกซื้อสุทธิแบบฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งก็เข้าไปซื้อบ้าง แต่ไม่ได้มีนัยอะไรให้น่ากังวล เพราะบ้านเราไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยแรง โดยในไตรมาสที่ 4/65 เราคาดว่า กนง.จะมีการขึ้นดอกเบี้ยแค่ 0.25% เราจึงมองว่าฟันด์โฟลว์มีโอกาสกลับเข้ามาลงทุนในหุ้นไทยอีก

ทั้งนี้หากดูว่านักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อสุทธิแล้ว 1.5 แสนล้านบาท แต่ทำไม SET ยังปรับตัวลดลง 3% ส่วนหนึ่งมีคนซื้อก็ต้องมีคนขาย ซึ่งนักลงทุนสถาบันขายสุทธิไปแล้วกว่า 1.3 แสนล้าน ขายมาตลอด 4 ไตรมาสติด ส่วนหนึ่งมาจากการยกเลิกกองทุน LTF และขายไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศ

"เรามองว่าความเสี่ยง Fx Loss ลดลงจะเป็นปัจจัยดึงดูด Fund Flow ไหลเข้าหนุน SET Index ช่วงไตรมาสที่ 4/65 ขยับขึ้นโดยคงเป้าหมายดัชนี ณ สิ้นปีไว้ที่ 1,730 จุด หรือคิดเป็นระดับ Market Earning Yield Gap ที่ 4.3% มากกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปีที่ 4.2%"

ชาญชัย พันทาธนากิจ รองผู้อำนวยการสายงานวิจัย กล่าวว่า กำไรบริษัทจดทะเบียนบ้านเราที่ขยายตัวได้ดี โดยฝ่ายวิจัยประเมิน EPS Growth 65F ที่ 96.1 บาทต่อหุ้น เติบโต 12%yoy และ EPS Growth 66F ที่ 101.1 บาทต่อหุ้น เติบโต 5%yoy ขณะที่การดำเนินนโยบายการเงิน ธปท.ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยฯ แต่ยังดำเนินแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยเชื่อว่าดอกเบี้ยฯ ณ สิ้นปีที่ 1.25% เทียบกับสหรัฐฯ 4.25%

ส่วนทิศทางค่าเงินบาทในช่วงไตรมาส 4/65 เชื่อว่าจะชะลอการอ่อนค่าจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ลดลงตามราคาพลังงานที่ปรับลงซึ่งจะช่วยลดผลกระทบของการขาดดุลการค้า เช่นเดียวกับดุลบริการที่จะดีขึ้นตามตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เริ่มเข้าสู่ High Season

"ค่าเงินบาทหากมองในมุมเทคนิคคอลก็ยังเป็นแนวโน้มอ่อนค่า อะไรที่อ่อนค่าเร็วต้องพักบ้าง เราเห็นว่าอัตราการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาขึ้นมาที่ 11% หากย้อนหลังไปปี 2000-2001 เราจะเห็นว่าอ่อนค่าเร็ว 12% สัญญาณที่เห็นไม่มีแรงกดดันต่อเนื่อง แรงกดดันบาทอ่อนชะลอลง กรอบค่าเงินบาทอยู่ที่ 38.00-38.5 บาทต่อดอลารร์สหรัฐ และจากนั้นก็จะเกิดการพักตัว"

ส่วนแนวโน้มหุ้นไทยในมุมเทคนิคคอล แนวรับสำคัญอยู่ในกรอบ 1,554-1,580 จุด เป็นจุดทยอยรับ แต่ถ้าแกว่งสร้างฐานได้ น่าจะได้เห็นการรีบาวด์ทดสอบแนวตั้ง 1,670 จุด

เลือกหุ้นกลุ่มไหนดี 

เทิดศักดิ์ กล่าวอีกว่า ภาพใหญ่เศรษฐกิจฟื้นตัว แต่ปัจจัยภายนอกยังไม่ค่อยดี กลยุทธ์การลงทุนที่แนะนำหุ้น Domestic การท่องเที่ยว และหุ้นกลุ่มธนาคาร หุ้นที่แนะนำได้แก่ ADVANC, ASK, BBL, BEM, CENTEL, HMPRO, GULF ส่วนหุ้นที่ควรลดสัดส่วน และหลีกเลี่ยงกลุ่ม Commodity ที่มีค่า P/E สูง และหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยภายนอก

จัดพอร์ตลงทุนล็อกผลตอบแทน

ภาดร สุขสวัสดิ์ ฝ่ายที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์การลงทุนและผลิตภัณฑ์ บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า จากผลกระทบของนโยบายการเงินที่เข้มงวด ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกในไตรมาสที่ 4 เริ่มมีทิศทางที่ชะลอตัวลง ทั้งนี้เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ระดับสูง จะเป็นสาเหตุหลักที่จะทำให้ธนาคารกลางหลักของโลกยังคงต้องมีท่าทีเข้มงวดทางการเงินอย่างต่อเนื่อง และยังคงเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจและสินทรัพย์เสี่ยงต่อไป

ดังนั้นคำแนะนำการลงทุนในไตรมาส 4 นี้ ควรมองหากลุ่มธุรกิจที่มีกระแสเงินสดสม่ำเสมอ มีการจ่ายปันผลสูง มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ ซึ่งมักปรับตัวลงน้อย หรือปรับขึ้นได้ดีกว่าตลาด ได้แก่ กลุ่ม Healthcare, Consumer Staple และ Telecommunication

"การจัด Asset Allocation เพื่อการลงทุนนั้น เราให้น้ำหนักหุ้นไทย 35% ของพอร์ต หุ้นต่างประเทศ 30% ลงทุนในตราสารหนี้ 15% ลงทุนในทางเลือกอื่นๆ หรือ alternative เช่น ไพรเวทอิควิตี้ คอมมิตี้ 10% อีก 10% เป็นเงินสด"

หลบความผันผวนหุ้นต่างประเทศด้วย Defensive

อภิชญา ไชยฤกษ์ ฝ่ายลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศ บล.เอเซีย พลัส มองว่า ในช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นต่างประเทศถือว่ามีความผันผวนสูง เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นการที่ธนาคารกลางหลายประเทศมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อยับยั้งเงินเฟ้อ

รวมทั้งสถานการณ์อื่นๆ ในหลากหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติทางด้านพลังงานในฝั่งยุโรป สงครามระหว่างรัซเซีย-ยูเครน และปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์ในจีน ส่งผลให้นักลงทุนเกิดความกังวลต่อเศรษฐกิจว่าจะชะลอตัวในระยะข้างหน้า ทำให้มีการลดความเสี่ยงของพอร์ต ส่งผลให้ผลตอบแทนของตลาดหุ้นทั่วโลกตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันปรับตัวลดลง

เช่น ดัชนี S&P500 ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับลดลงกว่า 23% ขณะที่ดัชนี Nasdaq Composite ซึ่งประกอบไปด้วยหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี ได้รับผลกระทบมากสุดจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับตัวสูงขึ้น ก็ปรับตัวลดลงกว่า 31% เช่นกัน

แต่อย่างไรก็ดียังมีหุ้นบางกลุ่มที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าตลาด นั่นก็คือหุ้นในกลุ่ม Defensive อย่าง Healthcare สะท้อนผ่านดัชนี Health Care Select Sector ที่ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันปรับตัวลดลงไปเพียง 12% เท่านั้นถือว่าปรับตัวลดลงน้อยกว่าตลาดโดยภาพรวม

สำหรับนักลงทุนที่ต้องการลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนในช่วงเศรษฐกิจที่ชะลอตัว หรือช่วงที่มีความผันผวนสูง ทางเลือกในการเพิ่มน้ำหนักไปในหุ้น Defensive ก็นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยลดความผันผวนของพอร์ตลงได้ เป็นผลมาจากค่าเบต้า (ค่าความเสี่ยงเมื่อเทียบกับตลาด) ที่ต่ำ

โดยปกติแล้วหุ้น Defensive จะมีค่าเบต้าที่น้อยกว่า 1 ตัวอย่างเช่น หากตลาดปรับตัวลง 2% หุ้น Defensive มักมีแนวโน้มจะปรับตัวลงน้อยกว่า 2% โดยหุ้น Defensive หมายถึงหุ้นที่บริษัทสามารถสร้างผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ และมีรายได้อย่างมั่นคง จากความต้องการในตัวสินค้าหรือบริการที่มีอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ จึงส่งผลให้หุ้นในกลุ่มนี้มีเสถียรภาพเมื่อต้องเผชิญกับช่วงที่ตลาดมีความผันผวนสูง อ้างอิงจากข้อมูลของ Refinitiv IBES ในอดีต พบว่าในช่วงปี 2007-2009 ที่เกิดเศรษฐกิจถดถอย กำไรของบริษัทจดทะเบียนในดัชนี S&P 500 ลดลง 9 ไตรมาสติดต่อกัน แต่กลุ่ม Healthcare ยังสามารถสร้างกำไรเติบโตได้ในช่วงเวลาดังกล่าว

ตัวอย่างหุ้นในกลุ่ม Healthcare ฝั่งสหรัฐฯ ได้แก่ United Health (UNH US) เป็นบริษัทประกันสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ หากวัดโดยมูลค่าตลาดและรายได้ ประกอบธุรกิจครอบคลุมตั้งแต่ ประกันสุขภาพส่วนบุคคล ประกันสุขภาพสำหรับองค์กร รวมถึงธุรกิจรักษาโรคทั้งในรูปแบบคลินิกและออนไลน์และระบบ Software ที่ใช้ทางการแพทย์ โดยผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันอยู่ 2.7% สูงกว่าตลาดหุ้นโดยภาพรวมที่ดัชนี S&P 500 ปรับลงถึง 23%

อีกหนึ่งทางเลือกการลงทุนที่ล้อไปกับกลุ่ม Healthcare ก็คือการลงทุนผ่าน ETF ได้แก่ Health Care Select Sector SPDR® Fund (XLV US) ซึ่งกระจายการลงทุนในบริษัทขนาดใหญ่ สัญชาติอเมริกัน ผู้ผลิตยา อุปกรณ์การแพทย์ รวมถึงผู้ให้บริการทางการแพทย์และสุขภาพและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง จำนวน 66 บริษัท เช่น United Health (UNH US) Johnson & Johnson (JNJ US) Pfizer Inc.(PFE US) เป็นต้น แม้ผลตอบแทนปรับตัวลดลง 12% ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน แต่ก็ยังทำผลตอบแทนชนะตลาดโดยรวมได้.

ผู้เขียน : กมลทิพย์ หิรัญประเสริฐสุข kamonthip.h@thairathonline.co.th 
กราฟิก : Chonticha Pinijrob 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ