ความเสี่ยงที่แท้จริง หากชะตากรรม Credit Suisse หวั่นซ้ำรอย Lehman Brothers ปี 2008

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ความเสี่ยงที่แท้จริง หากชะตากรรม Credit Suisse หวั่นซ้ำรอย Lehman Brothers ปี 2008

Date Time: 6 ต.ค. 2565 18:31 น.

Video

เศรษฐกิจไทย เสี่ยงวิกฤติหนักแค่ไหน เมื่อต้องเปลี่ยนนายกฯ | Money Issue

Summary

  • ประเด็นร้อนโลกการเงินช่วงนี้หนีไม่พ้น วิกฤติที่ Credit Suisse สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่สัญชาติสวิตเซอร์แลนด์กำลังเผชิญอยู่

Latest


ประเด็นร้อนโลกการเงินช่วงนี้หนีไม่พ้น วิกฤติที่ Credit Suisse สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่สัญชาติสวิตเซอร์แลนด์กำลังเผชิญอยู่ เมื่อวันอังคารที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา ราคาหุ้นของ Credit Suisse ปรับตัวลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยลดลงกว่า 55% จากต้นปีที่ผ่านมา และร่วงลงมาแล้วกว่า 91% จากจุดสูงสุดเมื่อปี 2007

สถานการณ์นี้เกิดขึ้นท่ามกลางความกังวลของนักลงทุนที่แห่ซื้อประกันหนี้ (CDS) พุ่งกว่า 300% ทำให้ต้นทุนการประกันหนี้ที่เสี่ยงจากการล้มละลายของธนาคารสูงขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งสะท้อนถึงนัยสุขภาพทางการเงินที่เสี่ยงต่อการล้มละลายของ Credit Suisse ด้วยเหตุนี้จึงนำไปสู่การเปรียบเทียบกับชะตากรรมของ Lehman Brothers วาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่ที่ล้มละลายในช่วงวิกฤติการเงินปี 2008 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เบื้องหลังความกังวล

ก่อนที่จะไปซูมอินเข้าไปมองสิ่งที่ Credit Suisse กำลังเผชิญนั้น ลองซูมเอาต์ขยายมุมมองให้กว้างขึ้นในระดับเศรษฐกิจมหภาค 

สิ่งที่มองเห็นคงหนีไม่พ้นเงินเฟ้อทั่วโลกที่มาพร้อมกับการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างบ้าคลั่งของเฟด (ธนาคารกลางสหรัฐฯ) ส่งผลให้เงื่อนไขทางการเงินโดยทั่วไปเข้มงวดมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

หากถอยออกมาอีกสเตปสาเหตุหลักของเงินเฟ้อ จะเห็นถึงต้นทุนที่แพงขึ้น โดยเฉพาะราคาพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน หรือไฟฟ้า และในอนาคตอันใกล้นี้ในยุโรปที่กำลังเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว พลังงานขาดแคลนมาพร้อมกับความต้องการที่พุ่งสูงขึ้น มีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) อย่างรุนแรง

นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงการเมืองและนโยบายที่แผนการลดภาษีของ Liz Truss นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ ที่ไม่ได้รับการสนับสนุน ส่งผลกระทบต่อความแข็งแกร่งของค่าเงินปอนด์ และตลาดพันธบัตรรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลต่อความเชื่อมั่นโดยรวมต่อตลาดเงินตลาดทุนให้มีความผันผวนทั้งสิ้น

และสปอตไลท์ได้ส่องมาที่ Credit Suisse จนได้กลายเป็นแหล่งที่มาของความไม่มั่นคงของอุตสาหกรรมการเงินในยุโรป โดยสัญญาณที่บ่งบอกถึงปัญหานี้คือแรงกดดันจาก CDS ซึ่งเป็นตราสารอนุพันธ์ที่ประกันการผิดนัดชำระหนี้ที่เจ้าหนี้ได้ซื้อกับสถาบันการเงินอื่น ซึ่งเป็นบุคคลที่ 3 เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการเบี้ยวหนี้เพิ่มสูงขึ้นที่ไม่ว่าใครก็เข้าซื้อสินทรัพย์ประเภทนี้ได้

เพราะมองเห็นถึงความเสี่ยงของกลุ่ม Hedge Fund ที่มักจะใช้เลเวอเรจสูงๆ มาเดิมพันเพื่อเก็งกำไร ซึ่งล้วนแล้วแต่มีโอกาสผิดนัดชำระหนี้ได้ทั้งสิ้น แม้ว่าจะไม่ได้เป็นเจ้าของหนี้อ้างอิงเหล่านั้นหรือไม่ก็ตาม

สถานการณ์เช่นนี้ ผู้เชี่ยวชาญจึงมักเปรียบกับการซื้อประกันเมื่อบ้านเพื่อนถูกไฟไหม้ สามารถสร้างแรงจูงใจในทางที่ผิดในการลอบวางเพลิงทางการเงินได้เช่นกัน

จากปัญหาหลักในประเด็นที่ CDS พุ่งสูงขึ้น มีลักษณะคล้ายกับสถานการณ์ของ Lehman Brothers เมื่อปี 2008 โดยในขณะนั้นถือเป็นฝันร้ายแห่งวอลสตรีท ที่ได้กลายเป็นบทเรียนวงการการเงินทั่วโลกจนถึงทุกวันนี้ จากการใช้เลเวอเรจ หรือการกู้มาลงทุนที่สูงเกินไป

โดยในขณะนั้นเมื่อปี 2007 กรณีของ Lehman Brothers ได้กู้มาลงทุนสูงสุดถึง 44 เท่า ลงทุนในสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (MBS) ในช่วงแรกที่ดอกเบี้ยและเงินเฟ้อยังไม่สูง แนวโน้มยังสามารถไปได้ดี แต่เมื่อตลาดอสังหาริมทรัพย์กลับซบเซาลง ย่อมส่งผลให้มูลค่าสินเชื่อลดลงตาม ทำให้ Lehman Brothers ที่กู้เงินมาลงทุนเกิดผลขาดทุนมหาศาล นำไปสู่การล้มละลายในที่สุด

ระวังโดมิโนเอฟเฟกต์

เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา Credit Suisse อยู่ระหว่างพิจารณาปรับโครงสร้างธุรกิจวาณิชธนกิจ โดยต้องการแยกขายธุรกิจบางส่วนออกไป รวมถึงมีแผนจะลดต้นทุน และปลดพนักงานกว่าหมื่นตำแหน่งทั่วโลก นำมาสู่ความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวความเสี่ยงของธุรกิจที่จะเกิดขึ้น

แม้ว่าทางผู้บริหารของ Credit Suisse จะพยายามออกมาสร้างความเชื่อมั่นด้วยการประกาศว่า ฐานะทางการเงินของบริษัทยังแข็งแรง แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะทำให้นักลงทุนเชื่อใจได้ จากการพากันเทขายหุ้น และหันมาซื้อ CDS แทน

และเหตุการณ์ดังกล่าวก็ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยเมื่อช่วงวันจันทร์ที่ผ่านมาที่ดัชนีร่วงกว่า 30 จุด ที่นักลงทุนสถาบันต่างกังวล และพากันเทขายออกมาเช่นกัน

อย่างไรก็ตามความเสี่ยงที่แท้จริงสำหรับนักลงทุนทั่วโลกที่ต้องเผชิญคือ Domino Effect ที่จะเกิดขึ้น หากผู้ให้กู้อย่างสถาบันการเงินรายอื่นๆ ในสวิตเซอร์แลนด์ถูกบังคับตัดสิทธิ์การลงทุนจำนวนมาก ซึ่งจะสร้างความไม่แน่นอนอย่างต่อเนื่อง และกระทบต่อหลายภาคส่วนที่จะตามมา

และหากมองจากความผิดพลาดซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของวิกฤติการเงินเมื่อปี 2008 คือ การมีอำนาจของสินทรัพย์ทางการเงินแบบที่มีโครงสร้างการเดิมพันที่ปรับแต่งได้ เหล่านี้ล้วนเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่ำ ที่ธนาคารสามารถประเมินมูลค่าได้เฉพาะตามแบบจำลองการกำหนดราคาทางทฤษฎีเท่านั้น

กล่าวคือ เป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีพื้นฐานที่สามารถจับต้องได้จริง ทำให้คู่สัญญาที่เข้ามาถือสินทรัพย์เหล่านี้ต่างอยู่บนความไม่แน่นอน เพราะไม่รู้ว่าอันที่จริงแล้วใครเป็นเจ้าของที่แท้จริงของอนุพันธ์นั้นๆ 

และที่สำคัญในเกมการเงินที่เกิดขึ้นกับ Credit Suisse นี้ ไม่สามารถรู้ได้อย่างแท้จริงว่าอีกฝั่งคือใคร และกำลังเข้าซื้อประกันหนี้ของ Deutsche Bank และ UBS อันจะเห็นได้จาก CDS ที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน...

ข้อมูลจาก Fortune, Bloomberg 1, 2


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ