ธนาคารแห่งประเทศไทยห่วงคนรุ่นใหม่ก่อหนี้เน่าเพียบ รู้สึกขาดความมั่นคงในอนาคต

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ธนาคารแห่งประเทศไทยห่วงคนรุ่นใหม่ก่อหนี้เน่าเพียบ รู้สึกขาดความมั่นคงในอนาคต

Date Time: 30 ก.ย. 2565 06:21 น.

Summary

  • ผู้ว่าการ ธปท.ชำแหละโครงสร้างประเทศไทย ระบุ “คนรุ่นใหม่” อยู่ยากขึ้น ลดแรงจูงใจการทำธุรกิจ แถมมีหนี้สินเร็ว และเป็นหนี้เสียมากขึ้น ทั้งยังรู้สึกขาดความมั่นคงในอนาคต ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม

Latest

“อุตสาหกรรมแบตเตอรี่”  จิ๊กซอว์ที่ต้องต่อให้เต็ม สานฝันไทย “ฮับผลิต EV” ภูมิภาค

ผู้ว่าการ ธปท.ชำแหละโครงสร้างประเทศไทย ระบุ “คนรุ่นใหม่” อยู่ยากขึ้น ลดแรงจูงใจการทำธุรกิจ แถมมีหนี้สินเร็ว และเป็นหนี้เสียมากขึ้น ทั้งยังรู้สึกขาดความมั่นคงในอนาคต ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวสุนทรพจน์ในงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำปี 2565 หัวข้อ ก้าวสู่ยุคใหม่เศรษฐกิจการเงินไทย : Strengthening Economic and Financial Foundations for the Next Generation ว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจที่รุนแรงจากโควิด-19 และมีความจำเป็นในการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนได้นั้น คือ คนรุ่นต่อไป (next generation) ไม่ว่าจะเป็นเด็กวัยเรียน คนวัยเริ่มทำงาน หรือคนที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยปัญหาที่สะสมมาทำให้น่ากังวลว่าคนไทยรุ่นใหม่จำนวนมากยังขาดความมั่นคงในอนาคต (insecurity) ทั้งในเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยปัญหาที่ 1 พบว่า คนไทยรุ่นใหม่จำนวนมากยังคงขาดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ (economic insecurity) และต้องเผชิญกับความท้าทายในการหาเลี้ยงชีพและการสร้างรายได้ที่มากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับคนรุ่นก่อนๆ จากเศรษฐกิจไทยที่เติบโตช้าลงจากช่วงก่อนหน้า ขณะเดียวกัน การเพิ่มการศึกษาและการพัฒนาทักษะของคนรุ่นใหม่ให้ทันสมัยอยู่เสมอก็ทำได้ยากขึ้น ทั้งจากกระแสเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแบบก้าวกระโดด กระแสความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ที่เข้มข้นขึ้นอย่างรวดเร็ว และการเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์โลก ซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนั้น อีกปัญหาที่สำคัญของคนรุ่นใหม่คือ เป็นกลุ่มมีภาระหนี้ที่สูงกว่าคนรุ่นก่อนๆ คนไทยเริ่มเป็นหนี้เร็วขึ้น และเป็นหนี้เสียตั้งแต่อายุยังน้อย โดยครึ่งหนึ่งของคนอายุ 30 ปี มีหนี้จากสินเชื่ออุปโภคบริโภคหรือหนี้จากบัตรเครดิต ขณะที่หนึ่งในห้าของคนที่เป็นหนี้เสียกระจุกอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ที่ช่วงอายุ 29 ปี

ปัญหาความไม่มั่นคงในด้านที่สอง คือ คนไทยรุ่นใหม่ของไทยจำนวนมากขาดความมั่นคงทางสังคม (social insecurity) เพราะเติบโตมาในช่วงที่ความขัดแย้งทางสังคมมีความรุนแรงขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจของ World Value Survey ที่พบว่าประเทศไทยมีคะแนนความเชื่อใจกันของคนในสังคมลดลงถึงหนึ่งในสี่ในช่วงเวลาเพียง 10 ปี ระหว่างปี 2551-2561 ขณะที่ผลสำรวจเรื่องความแตกแยกในสังคม โดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มตัวอย่างของคนอายุต่ำกว่า 40 ปี เห็นว่าสังคมไทยมีคุณภาพต่ำกว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มคนอายุ 40 ปีขึ้นไป และสิ่งที่น่ากังวลสำหรับประเทศ ไทย คือ ความไม่มั่นคงทางสังคมนี้ไม่ได้มีแนวโน้มที่จะลดลงในอนาคต ยังมีแนวโน้มที่จะมีความคิดสุดขั้วและรู้สึกอคติต่อคนฝั่งตรงข้าม เมื่อรวมกับสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยที่สูง โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำทางโอกาส ยิ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความตึงเครียดและความไม่มั่นคงในสังคม

ขณะที่ความไม่มั่นคงด้านที่สาม คือ คนไทยรุ่นใหม่จำนวนมากขาดความมั่นคงทางสิ่งแวดล้อม (environmental insecurity) โดยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เร่งตัวและรุนแรงขึ้น โดยไทยถือเป็นประเทศลำดับต้นๆ ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากภัยธรรมชาติ ขณะเดียวกัน ขีดความสามารถในการรับมือกับภัยธรรมชาติของไทยค่อนข้างต่ำ โดยอยู่ในอันดับที่ 39 จาก 48 ประเทศที่มีการสำรวจ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ในอนาคตของคนไทย ไม่เพียงแต่รายได้และทรัพย์สินที่เสียหายจากภัยธรรมชาติที่เกิดถี่ขึ้นและรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังกระทบการผลิตภาคเกษตรที่เป็นแหล่งอาหารสำคัญของคนไทย นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่าการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลจากการที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้นจะทำให้พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลมีความเสี่ยงสูงที่จะประสบภาวะน้ำท่วม ดังนั้น การขาดความมั่นคงในอนาคตทางสิ่งแวดล้อม จึงครอบคลุมถึงการขาดความมั่นคงทางอาหาร และความมั่นคงในถิ่นฐานที่อยู่ “ความไม่มั่นคงเหล่านี้บั่นทอนแรงจูงใจ ความพร้อม และโอกาสของคนรุ่นใหม่ที่จะพัฒนาทักษะ ลงทุนบุกเบิกธุรกิจใหม่ๆ”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ