วิกฤติสะเทือนเศรษฐกิจในรัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

วิกฤติสะเทือนเศรษฐกิจในรัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

Date Time: 17 ก.ย. 2565 06:18 น.

Summary

  • เหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นสัญลักษณ์แห่ง “เสถียรภาพ” ท่ามกลางมรสุมต่างๆ ตั้งแต่ทรงครองราชย์ จนเสด็จสู่สวรรคาลัย

Latest

“อุตสาหกรรมแบตเตอรี่”  จิ๊กซอว์ที่ต้องต่อให้เต็ม สานฝันไทย “ฮับผลิต EV” ภูมิภาค

สุพริศร์ สุวรรณิก สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

ท่ามกลางความเศร้าโศกและใจหายของประชาชนในสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพ รวมทั้งคนทั่วโลกต่อการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อวันพฤหัสฯที่ผ่านมา (8 ก.ย.) ผู้เขียนจึงขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการระลึกถึงและไว้อาลัยต่อการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของพระองค์ด้วยการตกผลึกเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นสัญลักษณ์แห่ง “เสถียรภาพ” ท่ามกลางมรสุมต่างๆ ตั้งแต่ทรงครองราชย์ (ปี 1952) จนเสด็จสู่สวรรคาลัย (ปี 2022) โดยสังเขป ดังต่อไปนี้ครับ

วิกฤติขาดแคลนน้ำมันโลก : ช่วงปี 1973 กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันหรือโอเปกมีอิทธิพลสูงมาก เนื่องจากน้ำมันเป็นทรัพยากรที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยกลุ่มโอเปกตัดสินใจคว่ำบาตรไม่ส่งออกน้ำมันดิบไปยังหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นถึง 4 เท่า ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ให้ตกอยู่ในภาวะ stagflation หรือภาวะที่เศรษฐกิจถดถอยพร้อมกับราคาสินค้าโดยทั่วไปพุ่งสูงขึ้นด้วย

วิกฤติหนี้สาธารณะละตินอเมริกา ปี 1982 : สาเหตุเกิดจากธนาคารเอกชนหลายแห่งได้ปล่อยกู้ให้แก่กลุ่มประเทศละตินอเมริกา เช่น บราซิล เม็กซิโก อาร์เจนตินา ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ด้วยความคาดหวังว่าเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเหล่านี้จะเติบโตสูง ขณะที่ธนาคารเอกชนเหล่านี้มีแหล่งเงินฝากสำคัญจากกลุ่มประเทศโอเปก แต่ปรากฏว่าในช่วงปี 1982 เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศละตินอเมริกาย่ำแย่ลง ทำให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ต่อเนื่องกัน

วิกฤติการเงิน ปี 1997 และ 1998 : หลายประเทศในฝั่งเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งรัสเซียประสบปัญหาทางการเงินอย่างรุนแรง โดยเฉพาะจากภาวะฟองสบู่แตกในสินทรัพย์ต่างๆ ธุรกิจและสถาบันการเงินจำนวนมากขาดสภาพคล่องและเลิกกิจการ เงินทุนไหลออกรุนแรงและทุนสำรองระหว่างประเทศลดลง ทำให้หลายประเทศต้องขอความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF และ World Bank

วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2008 : เป็นวิกฤติการเงินที่มีจุดกำเนิดในสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งจากการปล่อยกู้หนี้ในข่ายมีโอกาสไม่ชำระคืนสูง (subprime) โดยเฉพาะในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้คนมีความคาดหวังว่าราคาจะสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่เมื่อฟองสบู่แตก ทำให้ราคาบ้านดิ่งลง ส่งผลให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ตามมาและลุกลามเป็นลูกโซ่ ทั้งนี้ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ได้เคยสอบถามกับคณาจารย์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย LSE ว่า “เหตุใดจึงไม่มีใครสังเกตว่าจะเกิดวิกฤตินี้ขึ้น?” ซึ่งต่อมา คณาจารย์ได้กราบทูลผ่านจดหมายเพื่อสรุปเหตุของวิกฤติครั้งนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า “เหตุของวิกฤตินี้มีหลายปัจจัย ขณะที่ปัจจัยสำคัญคือความล้มเหลวในการจินตนาการถึงความเสี่ยงเชิงระบบของบุคคลผู้ชาญฉลาดทั้งในประเทศนี้และในระดับสากล”

วิกฤติหนี้สาธารณะยุโรป ปี 2009 : เกิดจากหลายประเทศขนาดเล็กในสหภาพยุโรป โดยเฉพาะกรีซ ซึ่งไม่สามารถชำระคืนหนี้สาธารณะที่ก่อไว้ได้ จากการก่อหนี้เกินตัวช่วงที่ผ่านมาด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเกินไปในฐานะที่เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปซึ่งมีเครดิตดี จนลุกลามส่งผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั้งยุโรปและประเทศอื่นๆ

วิกฤติโควิด-19 : เป็นวิกฤติที่ทำให้เกิดการชะงักงันในเศรษฐกิจโลกอย่างแสนสาหัส จากผลพวงของมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมโรคระบาด สร้างปรากฏการณ์ทุบสถิติทั้งการหดตัวของ GDP และการพุ่งสูงของอัตราการว่างงานแทบทุกประเทศในโลก ทั้งนี้ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ได้มีพระราชดำรัสสำคัญพระราชทานกำลังใจแก่ประชาชนในช่วงเวลายากลำบาก มีสาระสำคัญตอนหนึ่งว่า “คนรุ่นหลังเราจะพูดได้ว่า คนอังกฤษรุ่นนี้แข็งแกร่งไม่แพ้รุ่นไหนๆ...วันที่ดีย่อมจะหวนกลับคืนมา และเราจะพบกันใหม่”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ