EIC มองท่องเที่ยวฟื้นตัว ได้การบริโภคภาคเอกชนหนุนเศรษฐกิจไทยปี 65

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

EIC มองท่องเที่ยวฟื้นตัว ได้การบริโภคภาคเอกชนหนุนเศรษฐกิจไทยปี 65

Date Time: 13 ก.ย. 2565 15:30 น.

Video

บุกโรงงาน PANDORA ช่างไทยผลิตจิวเวลรี่ แบรนด์โลกแสนล้าน | On The Rise

Summary

  • EIC ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 65 เป็น 3.0% ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและเงินเฟ้อที่ยังสูง โดยมีการท่องเที่ยวและภาคบริการที่ฟื้นตัว การบริโภคภาคเอกชนเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก

Latest


EIC ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 65 เป็น 3.0% ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและเงินเฟ้อที่ยังสูง โดยมีการท่องเที่ยวและภาคบริการที่ฟื้นตัว การบริโภคภาคเอกชนเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Economic Intelligence Center หรือ EIC และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า EIC ปรับประมาณการเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในปี 65 และมองว่าเงินเฟ้อจะยังอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายในปีหน้าอีกปี ซึ่งจะกดดันกำลังซื้อและการบริโภคในประเทศ รวมถึงกระทบต้นทุนและการลงทุนของธุรกิจ

หากมองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยยังคงมีความเปราะบางอยู่ บางกลุ่มครัวเรือนและภาคธุรกิจมีความเสี่ยงรายได้โตไม่ทันค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้น้อยและธุรกิจขนาดเล็ก นอกจากนี้ รัฐบาลมีนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยราว 5% ในปลายปีนี้ ซึ่งยังต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อสะสมนับตั้งแต่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งสุดท้ายในปี 2563 ทำให้แรงงานที่พึ่งพาค่าจ้างขั้นต่ำมีรายได้ที่แท้จริงลดลง

ขณะที่ผู้ประกอบการมีต้นทุนค่าจ้างแรงงานสูงขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากแรงงานต่างชาติออกจากประเทศแล้วยังกลับเข้ามาไม่เต็มที่ นอกจากนี้ ต้นทุนทางการเงินยังมีแนวโน้มสูงขึ้นจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางทั้งในไทยและประเทศเศรษฐกิจหลัก ยิ่งซ้ำเติมแผลเป็นทางเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด ที่มีอยู่ก่อนแล้ว

ในภาพรวม EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะขับเคลื่อนจากภาคท่องเที่ยวและภาคบริการมากขึ้น แทนที่ภาคการผลิตเพื่อส่งออกและการลงทุน แต่การฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศจะยังมีแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ทยอยลดลงไม่เร็วนักไปจนถึงสิ้นปี 2566 ท่ามกลางมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ลดลง ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นไปอย่างช้าๆ

โดย GDP จะยังไม่กลับไปเท่าช่วงก่อนโควิด จนกระทั่งไตรมาส 2/66 และเศรษฐกิจไทยยังมี Output gap เป็นลบ และอาจต้องรอจนปลายปี 2567 ที่เศรษฐกิจจะกลับไประดับศักยภาพได้อีกครั้ง ด้วยเหตุนี้ จึงมองว่า กนง. มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปต่อเนื่องจนถึงปีหน้า

โดย กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้ง (ครั้งละ 25 bps) ในเดือน ก.ย. และ พ.ย. สู่ระดับ 1.25% ณ สิ้นปีนี้ และจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 3 ครั้ง (ครั้งละ 25 bps) สู่ระดับ 2% ณ สิ้นปีหน้า เพื่อให้นโยบายการเงินค่อยๆ กลับสู่ระดับที่เหมาะสมกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยระยะยาว สำหรับค่าเงินบาทนั้น เผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าจาก

1. การแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐตามทิศทางนโยบายการเงินตึงตัวของ Fed และความกังวลภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย

2. เศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอกว่าคาด ทำให้เงินหยวนและค่าเงินภูมิภาค รวมถึงเงินบาทอ่อนค่า

3. เงินทุนไหลออกจาก EMs รวมถึงไทยในช่วงที่นักลงทุนปิดรับความเสี่ยง

4. การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย

อย่างไรก็ดี ในช่วงปลายปีนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้า เงินบาทจะมีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าขึ้นจาก

1. เศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง

2. ดุลบัญชีเดินสะพัดที่คาดว่าจะกลับมาเกินดุลปลายปีนี้ (EIC ประเมินว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2566 จะกลับมาเกินดุลได้ที่ 1.5% ต่อ GDP)

3. เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลกลับเข้าตลาดการเงินไทยตามความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ปรับดีขึ้น

4. อัตราเงินเฟ้อไทยที่จะปรับลดลงเร็วกว่าของสหรัฐฯ ด้วยเหตุนี้ จึงประเมินว่า เงินบาทจะแข็งค่าลงมาอยู่ที่ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปีนี้ และ 33.5-34.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2566

โดยเศรษฐกิจไทยจะยังเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำที่สำคัญในระยะต่อไป คือ

1. ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในสหรัฐฯ และยุโรป กดดันการส่งออกและลงทุนในระยะถัดไป

2. เศรษฐกิจจีนที่อาจชะลอตัวมากกว่าคาดจากมาตรการ Zero Covid และปัญหาในภาคอสังหาฯ ที่ยังมีหนี้ในระดับสูง

3. เงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง จากราคาโภคภัณฑ์ที่กระทบกำลังซื้อของครัวเรือน และต้นทุนในภาคธุรกิจ

4. ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นภาคการผลิตและลงทุน

ดังนั้น บทบาทของภาครัฐในการดูแลกลุ่มเปราะบางยังคงมีความจำเป็นอยู่ ขณะที่ข้อจำกัดทางการคลังมีมากขึ้นจากทั้งเม็ดเงินและกรอบระยะเวลาใน พ.ร.ก กู้เงิน 5 แสนล้านบาทที่ใกล้หมดลง โดยในระยะถัดไปคาดว่าแรงสนับสนุนจากภาครัฐจะเป็นไปอย่างเฉพาะจุดมากขึ้น

เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและเงินเฟ้อที่ยังสูง

ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน EIC กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณชะลอตัวลงชัดเจนขึ้น ทั้งภาคอุตสาหกรรมและการบริโภคในครึ่งแรกของปีชะลอตัวลงชัดเจนทั่วโลก ส่วนความเชื่อมั่นผู้บริโภคในหลายประเทศก็ปรับลดลงใกล้ระดับวิกฤตรอบก่อนๆ แล้ว

สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปี 65 ต่อเนื่องไปจนถึงปี 66 เศรษฐกิจโลกน่าจะมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง เพราะได้รับผลกระทบจากนโยบายการเงินที่ตึงตัวเร็วพร้อมกันทั่วโลก วิกฤติพลังงานในยูโรโซนที่จะทวีความรุนแรงขึ้นอีก และการชะลอตัวลงอย่างมากของเศรษฐกิจจีน รวมถึงปัญหาอุปทานคอขวดมีแนวโน้มฟื้นตัวล่าช้ากว่าที่คาดไว้

ล่าสุด EIC จึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกในปี 2565 ลงจาก 3.2% มาอยู่ที่ 3.0% และในปีหน้าจะขยายตัวชะลอลงอีกไปอยู่ที่ 2.7% ที่สำคัญคือ EIC มองว่า ช่วงปลายปี 65 ถึงสิ้นปี 66 อาจเริ่มเห็นเศรษฐกิจถดถอยในบางประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร ยูโรโซน และสหรัฐฯ แต่คาดว่าการถดถอยจะไม่รุนแรง หรือ Mild recession เนื่องจากสถานะการเงินของภาคเอกชนและการฟื้นตัวของตลาดแรงงานยังเข้มแข็งพอรองรับได้อยู่

สำหรับเงินเฟ้อโลกที่เร่งตัวมามาก ก็เริ่มผ่านจุดสูงสุดแล้วในไตรมาส 3/65 และน่าจะชะลอตัวลงบ้างในช่วงปลายปี 65 จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เริ่มปรับลดลงและอุปทานคอขวดที่ทยอยคลี่คลาย EIC มองว่า แม้เงินเฟ้อจะชะลอลง แต่จะยังสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางไปอีก 1-2 ปี เนื่องจากการฟื้นตัวของอุปทานในภาคพลังงาน อาหาร และสินค้าคงทน คลี่คลายช้ากว่าที่เคยคาดการณ์เอาไว้ อีกทั้ง ค่าจ้างจะยังอยู่ในระดับสูงตามการฟื้นตัวของตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง

เราประเมินว่า ธนาคารกลางทั่วโลกมีแนวโน้มจะดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวมากอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ อีกเรื่องสำคัญในโลกที่ต้องติดตาม คือ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เพิ่มขึ้นมา ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของห่วงโซ่การผลิต

โดย EIC ประเมินในกรณีฐานไว้ว่า ความขัดแย้งระหว่างไต้หวันและจีนจะยังไม่รุนแรงขึ้น ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในระยะสั้นจึงจะมีจำกัด แต่การแบ่งขั้วระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จะรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี ในระยะต่อไปความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลกที่สูงขึ้น จะทำให้ธุรกิจข้ามชาติเริ่มหาทางปรับกระบวนการผลิต ซึ่งจะเห็นผลกระทบ 4 ด้านด้วยกัน คือ

1. การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศลดลง
2. ธุรกิจย้ายมาตั้งฐานการผลิตในภูมิภาคใกล้เคียงหรือในประเทศมากขึ้น
3. ธุรกิจผลิตสินค้าคงคลังมากขึ้น
4. การเคลื่อนย้ายทรัพยากรระหว่างประเทศจะลดลง


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ