เปิดเครื่องมือสู้โกง ACT Ai รวมพลังคนไทยต่อต้านคอร์รัปชัน

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เปิดเครื่องมือสู้โกง ACT Ai รวมพลังคนไทยต่อต้านคอร์รัปชัน

Date Time: 12 ก.ย. 2565 05:33 น.

Summary

  • นับจากปี 2554 จนถึงปีปัจจุบัน เป็นเวลาร่วม 11 ปี ที่ภาคเอกชนของไทยร่วมมือกันจัดตั้ง “องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)” ขึ้นมา เพื่อร่วมเป็นพลังสังคม ขับเคลื่อนให้สังคมไทยไม่ยอมรับและออกมา

Latest

“อุตสาหกรรมแบตเตอรี่”  จิ๊กซอว์ที่ต้องต่อให้เต็ม สานฝันไทย “ฮับผลิต EV” ภูมิภาค

นับจากปี 2554 จนถึงปีปัจจุบัน เป็นเวลาร่วม 11 ปี ที่ภาคเอกชนของไทยร่วมมือกันจัดตั้ง “องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)” ขึ้นมา เพื่อร่วมเป็นพลังสังคม ขับเคลื่อนให้สังคมไทยไม่ยอมรับและออกมาร่วมต่อต้านคอร์รัปชัน

ภายใต้ยุทธศาสตร์ 3 ป. คือ เปิดโปง (การโกงกินทุกรูปแบบ) ปลูกฝัง (ค่านิยมใหม่ให้สังคม) ป้องกัน (คอร์รัปชันให้เกิดน้อยที่สุด)

ผลงานที่ผ่านมา ช่วงที่ 1 ระหว่างปี 2554-2557 เป็น การเปิดโปง สร้างกระแส เช่น เปิดโปงโครงการรับจำนำข้าว จัดตั้งและอบรมเครือข่ายหมาเฝ้าบ้าน สารคดีสั้นชุดปลูกจิตสำนึกต่อต้านคอร์รัปชัน สนับสนุนหลักสูตรโตไปไม่โกง คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีคอร์รัปชัน แคมเปญอย่าให้คนโกงมีที่ยืนในสังคม จัดทำดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย (CSI) ร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และจัดวันต่อต้านคอร์รัปชัน วันที่ 6 ก.ย.ของทุกปี

ขณะที่ในช่วงที่ 2 ระหว่างปี 2558-2561 เป็น การผลักดัน เปลี่ยนแปลง ร่วมแรงสร้างฐาน วางรากฐานเพื่อป้องกันการคอร์รัปชันร่วมกับภาครัฐ มีการสนับสนุนและติดตามการบังคับใช้ พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ มีการผลักดันให้มีการออก พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯที่ได้มาตรฐาน สร้างกลไกการมีส่วนร่วมที่ชัดเจน มีการผลักดันบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่เอื้อต่อการป้องกันคอร์รัปชัน และผลักดันการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการยุติธรรม

ส่วนช่วงที่ 3 เริ่มจากปี 2562-ปัจจุบัน เป็นช่วงของ ประชาร่วมใจ สังคมร่วมพลัง ส่งภาครัฐให้เปลี่ยนแปลง โดยกระตุ้นภาครัฐเปิดเผยอย่างโปร่งใส และพัฒนาเครื่องมือให้คนไทยเข้าถึงข้อมูลการใช้จ่ายของรัฐ จำกัดความคลุมเครือของระบบราชการที่เปิดให้มีการใช้อำนาจจนเกิดคอร์รัปชัน ตลอดจนการจับตาไม่ให้ใครโกง โดยพัฒนาเครื่องมือต่างๆให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและสร้างระบบนิเวศนการต่อต้านคอร์รัปชันให้เกิดขึ้นให้ได้

ทั้งหมดนี้ “ทีมเศรษฐกิจ” ได้สัมภาษณ์คุณวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ที่จะมาบอกเล่าเรื่องราวตลอด 11 ปี จนถึงก้าวต่อไปในอนาคตข้างหน้า ด้วยความหวังว่า “พลังของคนไทยที่ไม่ยอมนิ่งเฉย” จะสามารถลดปัญหาคอร์รัปชันที่สร้างความเสียหายในทุกมิติของประเทศไทยได้

ปัญหาทุจริตขนาดใหญ่มาก

คุณวิเชียร เริ่มต้นการพูดคุยในครั้งนี้ ว่า “ทุกคนเข้าใจปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันดี ว่าเป็นขนาดของปัญหาที่ใหญ่มาก สะสมมายาวนาน และดูเสมือนซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ตลอดเวลา 11 ปี ที่ ACT ทำงานมา เราเห็นปัญหาทุจริตคอร์รัปชันก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา มีผลกระทบต่อสังคม คงได้เห็นว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาเศรษฐกิจ สังคมอ่อนแอ ประชากรไม่ได้รับการพัฒนา มีผลให้เศรษฐกิจไม่โต เพราะฐานรากของปิรามิดทางสังคม คือคนส่วนใหญ่ยังยากจนมีศักยภาพต่ำ มีส่วนร่วมในการสร้างผลผลิตได้น้อย และลูกหลานไม่ได้รับโอกาสที่เท่าเทียม เป็นวัฏจักรบั่นทอนเบียดเบียนเช่นนี้มาตลอด”

ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน มีทั้งการโกง และการบริหารงบประมาณอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เช่น ในปีนี้ ประเทศไทยมีงบประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้สูญเปล่าเสียประโยชน์ไปหลายแสนล้านบาทต่อปีจากการโกง ขณะที่มีคนยากจนที่สุดหลายล้านคน และกำลังจะยากจนอีก 10 กว่าล้านคน

ลองคิดดูว่าการทุจริต 20% ของการลงทุนของประเทศแต่ละปี คิดเป็นเงินหลายแสนล้านบาท บั่นทอนการพัฒนา และเงินไปอยู่ในมือใครก็ไม่รู้ปีละเป็นแสนล้านบาท ขณะที่ชาวบ้านประชาชนยังยากจนอยู่ ไม่เพียงแค่นั้นในส่วนของงบประจำ 2 ล้านล้านบาทได้บริหารอย่างมีประสิทธิภาพหรือเปล่า มีการจ้างคนอย่างเหมาะสมหรือไม่ ทุกคนทำหน้าที่อย่างถูกต้องหรือไม่

“เสียดายที่เงินเหล่านี้และการบริการของภาครัฐ แทนที่จะไปเอื้ออำนวยให้เกิดการพัฒนาลดความเหลื่อมล้ำ กลับถูกเบียดเบียนด้วยปัญหาคอร์รัปชัน ส่วนภาคเอกชน แย่สุดก็คือ ใช้การคอร์รัปชัน เพื่อสร้างประโยชน์ให้โครงการของตัวเองมีความได้เปรียบ สุดท้ายต้นทุนที่เพิ่มขึ้นก็มาเบียดเบียนประชาชน กระทบต่อชีวิตความอยู่ดีมีสุขของคนเป็นอย่างยิ่ง เป็นเรื่องใหญ่ และเป็นเหตุที่พวกเราอาสาเข้ามาแก้ปัญหานี้ จะทิ้งปัญหานี้กับสังคมไว้ไม่ได้ จะทิ้งปัญหานี้ให้ลูกหลานไม่ได้ ถ้าคนไม่ดีมีเพิ่มขึ้น ถ้าเขามีกำลังในการทำลายล้างขนาดนี้ก็จะไปเรื่อยๆ และจะกระทบคนรุ่นถัดไปมากยิ่งขึ้น ความแตกแยกจะยิ่งเกิดขึ้นมากขึ้นกว่าเดิมจะไปกันใหญ่ นี่คือขนาดของปัญหาที่ใหญ่มาก”

สังคมสิ้นหวังจะไปกันใหญ่

เขากล่าวว่า “สังคมสิ้นหวังเรื่องนี้มาเป็นเวลานานว่าแก้ไม่ได้ เสียเวลาเปล่า กลายเป็นวัฒนธรรมของสังคมไทยไปแล้ว ซึ่งถ้าเรายอมแพ้ ก็จะไปกันใหญ่ พันธกิจขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ประการสำคัญคือ ต้องตั้งมั่นเป้าหมายต้องเอาชนะปัญหานี้ให้ได้ ต้องแก้ไขปัญหานี้ให้ได้”

ในข้อเท็จจริงคือ ปัญหานี้ใหญ่เกินกว่าใครคนใดคนหนึ่ง แม้กระทั่งรัฐบาลก็แก้ไขเรื่องนี้ด้วยตัวเองยาก ต้องมีความเข้าใจว่านี่คือปัญหาของเราปัญหาของทุกคนในสังคม ฉะนั้นจะเป็นองค์กรหรือบุคคลก็แล้วแต่ ต้องเข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหา

หน้าที่สำคัญขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ในช่วงต้นๆได้สร้างการรับรู้การตื่นรู้ ว่าปัญหาใหญ่จริงๆ ทิ้งไว้ไม่ได้ ทุกคนลำบากแน่นอน เมื่อเกิดการรับรู้รับทราบก็ช่วยขึ้นมาเยอะ งานสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยที่ติดตามเรื่องนี้ ก็เห็นชัดว่า การตื่นรู้ การไม่ยอมรับของคนเพิ่มขึ้น โดยคน 90% ไม่ยอมรับ แม้กระทั่งคนทำผิดจะทำงานสร้างประโยชน์ได้ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ดีมาก ที่ปรับเปลี่ยนความคิดของคนในสังคมได้ หลายปีที่ผ่านมาทำให้เห็นแสงสว่าง คนจำนวนไม่น้อย 70-80% อยากมีส่วนร่วมแก้ปัญหา

ตรงนี้จึงเป็นโอกาสใหญ่ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เพื่อให้งานในช่วงถัดมาเป็นเรื่องของการสร้าง เพิ่มโอกาสของภาคส่วนต่างๆ ประชาชนให้มีบทบาท ในการร่วมแก้ปัญหาคอร์รัปชันให้มากขึ้น

แพลตฟอร์ม ACT Ai สู้โกง

สำหรับกระบวนการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ที่ใช้คำว่า “เปิดโปง” ถือว่ามาถูกทางแล้ว เพราะการเปิดโปงตั้งแต่เริ่มเห็นพฤติกรรม เพื่อตีกันไม่ให้กระบวนการคดโกงเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ ดีกว่าการไปตามจับ แม้ผู้กระทำผิดจะเข้าคุกแต่ความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้น การเปิดโปง ปลูกฝัง และป้องกันได้ ทำให้คนโกงยากขึ้น มีความเข็ดหลาบมากขึ้น

สิ่งที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันมุ่งหวัง คือ การสร้างระบบนิเวศของการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันให้เกิดขึ้น เช่นขณะนี้มีการตื่นตัวของสื่อมวลชน มีการผลักดันเรื่องธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ต้องมีการพัฒนาเครื่องมือตัวช่วยขึ้นมา โดยจะสามารถเห็นได้ว่า หน่วยงานไหนของภาครัฐที่มีการจัดซื้อจัดจ้าง ใครเป็นคู่สัญญา ในการจัดซื้อจัดจ้างก่อสร้างนั้นๆ ในอดีตประชาชนไม่ค่อยได้เห็นไม่ค่อยได้รับรู้ข้อมูลนี้ โดยเครื่องมือนี้จะช่วยเปิดหู เปิดตา ค้นหา สอดส่อง ดูแลประเทศไทยร่วมกัน

โดยเรียกชื่อว่า “เครื่องมือสู้โกง ACT Ai” ซึ่งเป็นระบบดิจิทัลแพลตฟอร์มสำหรับตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลที่สำคัญในการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน

ประกอบด้วย 1.ตรวจสอบข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและข้อมูลนิติบุคคลพร้อมระบบวิเคราะห์ความเสี่ยงจากพฤติกรรมการเสนอราคาด้วยเทคโนโลยี Ai ผ่าน https://actai.co

2.ตรวจสอบงบประมาณและโครงการจัดซื้อจัดจ้างจากแผนการฟื้นฟูผลกระทบจากโควิด-19 ภายใต้ พ.ร.ก. เงินกู้ 1.5 ล้านล้านบาท พร้อมระบบวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงด้วย จับโกงงบ COVID ด้วย ACT Ai เข้าใช้งานได้ทาง https://covid19.actai.co

3.ตรวจสอบข้อมูลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้อมูลบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ความเกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง ข้อมูลการบริจาค ข้อมูลการดำรงตำแหน่ง และข้อมูลคดีความในรูปแบบไฟล์ดิจิทัล ด้วย ACT Ai Corrupt0 เข้าใช้งานได้ทาง https:// corrupt0.actai.co

4.ร่วมกันจับตาส่งเบาะแสเหตุสงสัยทุจริตคอร์รัปชันผ่าน LINE Official Account จับตาไม่ให้ใครโกง Corruption Watch (@corruptionwatch) พร้อมติดตามเบาะแสได้ทาง https:// cs.actai.co

5.สืบค้นข้อมูลโรงเรียนเพื่อส่งเสริมธรรมาภิบาลในสถานศึกษาด้วย School Governance แพลตฟอร์มต่อยอดพัฒนาจากโครงการวิจัยสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน ระยะที่ 2 การออกแบบและทดลองต้นแบบเครื่องมือการป้องกันปัญหาคอร์รัปชันของเยาวชนเข้าใช้งานได้ทาง https://wethestudents.co

นอกจากนี้ เตรียมพบกับเครื่องมือสู้โกงใหม่จากการระดมไอเดียผ่านกิจกรรม ACTkathon เพื่อส่งเสริมความโปร่งใสในการทำงานของภาครัฐด้วยการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยี ดังนี้ 1.แดชบอร์ดวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงเครือข่าย (Corruption Analysis Dashboard) วิเคราะห์ความเชื่อมโยงเครือข่าย นักการเมือง ข้าราชการ พ่อค้าที่เกี่ยวข้องคดีทุจริต 2.ผ่างบเมือง ระบบดิจิทัลแพลตฟอร์มแสดงข้อมูลงบประมาณรายจ่ายประจำปีขององค์การบริหารส่วนจังหวัด 3.Voice of Change เครื่องมือรับแจ้งเบาะแสการทุจริตสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐ

ประหยัดงบเกินแสนล้านบาท

การพัฒนาเครื่องมือสู้โกง ACT Ai ไม่ใช่แค่ข้อมูลเฉยๆ แต่สามารถจัดการในเรื่องของการประมวลผล เพื่อให้เกิดการเข้าถึงอย่างมีประสิทธิภาพ ตอนนี้ข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทั้งหมด 6 ปี ย้อนหลังอยู่ในระบบทั้งหมดเข้าไปดูได้ว่า จังหวัดนี้มีการก่อสร้างถนนที่ไหน ใครคือคู่สัญญา การจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปตามงบประมาณ ที่ถูกต้องชัดเจนหรือเปล่า มีข้อมูลตั้งแต่เสาไฟกินรี ไปจนถึงโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่

โดยองค์กรหน่วยงานภาครัฐที่มีเจตนาที่ดีบริสุทธิ์อยากจะเปิดเผยให้โปร่งใส ก็เป็นพื้นที่ที่เขาสามารถเปิดเผยข้อมูลได้และแสดงความโปร่งใสได้ สร้างภูมิคุ้มกันในองค์กรตัวเองได้ และมีคนเข้ามาช่วยเฝ้าระวังเยอะขึ้น

นอกจากนี้ เรื่องที่ใช้เวลาผลักดันหลายปีให้มีการถ่วงดุลตรวจสอบและเฝ้าระวังการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ คือโครงการ ข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact=IP) โดยส่งตัวแทนภาคประชาชนเข้าไปสังเกตการณ์ตลอดกระบวนการ ร่วมตรวจสอบโครงการตั้งแต่เริ่มต้นโครงการตั้งแต่แนวทางการจัดทำร่างขอบเขตของงาน (TOR) จนถึงส่งมอบงาน และรายงานผลการสังเกตการณ์ หากพบกรณีที่ส่อไปในทางทุจริต ผิดระเบียบ หรือขัดต่อสัญญา

ที่ผ่านมามี 219 ผู้สังเกตการณ์ และมี 146 โครงการที่เข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรม ตั้งแต่ปี 2558-2565 มูลค่าที่ประหยัดงบประมาณได้ 995,201.2 ล้านบาท

รวมทั้งมีโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Infrastructure Transparency Initiative= CoST) ร่วมติดตาม ตรวจสอบ โครงการก่อสร้างที่ได้รับคัดเลือกและเข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558—2565 จำนวน 2,240 โครงการ มีโครงการที่ขอยกเลิก 114 โครงการ คงเหลือ 2,126 โครงการ วงเงินก่อสร้างรวม 237,770 ล้านบาท สามารถประหยัดงบได้ 24,089 ล้านบาท คิดเป็น 12.53%

ถ้าดูจากเครื่องมือของ 2 โครงการนี้ ได้ช่วยประหยัดงบประมาณไปได้มากกว่า 100,000 ล้านบาท

“ที่ผ่านมาการผลักดันเรื่องนโยบายเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในหลายๆเรื่องต่อรัฐบาล มีสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง บางเรื่องถูกดองแช่แข็งเอาไว้ก็เยอะ ได้รับความร่วมมือบ้าง ไม่ค่อยร่วมมือก็เยอะ สิ่งสำคัญที่สุด คือ ในระยะต่อไปประชาชนจะต้องเข้ามาเป็นผู้เล่น ไม่ใช่เป็นแค่ผู้ชมเฉยๆ ที่อึดอัดและไม่พอใจกับสถานการณ์เครื่องมือต่างๆที่สร้างขึ้นมานี้ ประชาชนมาร่วมกันเฝ้าระวังได้ จะทำให้การแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันมีกำลังเพิ่มอีกขึ้นเยอะ”.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ