เวลาพูดถึง ลาลามูฟ หรือ Lalamove เรามักจะนึกถึงภาพโปสเตอร์ La La Land ที่ไรอัน กอสลิง กำลังเต้นรำกับเอมมา สโตน อยู่ในนครดารา เพราะในปี 2559 ที่ La La Land ออกฉาย Lalamove ก็เริ่มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันด้วยการเปิดตัวเป็นพันธมิตรกับ LINE MAN และล่าสุดการให้บริการ On-Demand Logistics หรือ การขนส่งตามความต้องการของผู้ใช้งาน
อีกภาพจำที่เราได้เห็น Lalamove ออกโลดแล่นไปทั่วกรุงเทพมหานคร นั่นก็คือ กระเป๋าสีส้มที่มีนกฟีนิกซ์ที่ติดอยู่บนมอเตอร์ไซค์ ไม่นานเราก็เริ่มเห็นโลโก้นกฟีนิกซ์สีส้มติดกระจกหลังรถเก๋ง และรถกระบะตู้ทึบที่ทำหน้าที่รับส่งสิ่งของต่างๆ
ที่เขียนมาทั้งหมดทั้งมวลแค่จะบอกว่า Lalamove หรือ ลาลามูฟ มาจากคำว่า "หล่าล่าแซง" ในภาษาจีนกวางตุ้ง ที่แปลว่า เร่งด่วน รีบเร่ง นั่นเอง ซึ่งแพลตฟอร์ม Lalamove ถือเป็นธุรกิจ Startup ให้บริการที่ฮ่องกงในปี 2013 เดิมชื่อว่า EasyVan เป็นแอปพลิเคชันให้บริการจัดส่งของภายในฮ่องกง
จากนั้นก็ผ่านการระดมทุนจนพัฒนาการให้บริการในภูมิภาค ทั่วโลกในพื้นที่กว่า 30 เมืองครอบคลุม 11 ประเทศในเอเชีย และลาตินอเมริกา รวมถึงกว่า 350 เมืองในประเทศจีน และปัจจุบันมีฐานผู้ใช้มากกว่า 10 ล้านคนทั่วโลก โดยให้บริการทั้งแบบ Individual, SMEs จนถึงธุรกิจขนาดใหญ่
พอล ลู ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ ลาลามูฟ บอกกับเราว่า หัวใจสำคัญในการบริหาร On-Demand Logistics ของลาลามูฟ คือการผสาน ผู้คน ยานพาหนะ สินค้า เส้นทาง และคลังสินค้าด้วยเทคโนโลยี ดาต้าต่างๆ เป็นตัวช่วยสำคัญเพื่อตอบโจทย์การขนส่งให้ตรงใจผู้ใช้บริการมากที่สุด
"สิ่งที่สำคัญที่สุดในการบริการของเรา คือ ต้องทำให้แอปพลิเคชันใช้งานได้ง่ายทั้งฝั่งผู้ใช้งาน และฝั่งผู้รับงานนั่นก็คือไดรเวอร์ นั่นหมายถึงแผนที่ต้องแม่นยำ รวมถึงบริการพิเศษต่างๆ ที่เราพร้อมเซอร์วิสลูกค้าก็ต้องไม่เหมือนกับ On-Demand เจ้าอื่นๆ"
ทั้งนี้ แพลตฟอร์ม Lalamove ไม่เคยหยุดพัฒนาระบบ ยกตัวอย่างเช่น การจัดทำแผนที่ที่ถูกต้อง เราจะเห็นได้ว่าภูมิศาสตร์ของแต่ละเมือง แต่ละประเทศมีข้อจำกัดแตกต่างกัน เช่น ตรอก ซอกซอย การจราจร ขนาดของรถในการสัญจร ข้อห้าม กฎหมายต่างๆ รวมถึงการคำนวณระยะทางในการขนส่ง ซึ่งเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่เราต้องพัฒนาโปรแกรมเพื่อให้แมตช์ทั้งผู้ใช้งาน และไดรเวอร์
ปัจจุบัน ปัญหาน้ำมันแพง หรือวิกฤติต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น ลาลามูฟก็เข้าใจปัญหาในฝั่งของไดรเวอร์ ตัวแอปฯ จึงคำนวณระยะทางให้ไดรเวอร์ สามารถเลือกรับงานในเส้นทางระยะสั้นๆ แต่ได้ออเดอร์ถี่มากขึ้น หรือถ้ารับงานที่ไกลออกไป ก็อาจจะมีโบนัสให้เป็นพิเศษ เป็นต้น และในส่วนของยูสเซอร์ หรือผู้ใช้งานนั้นก็สามารถเลือกรูปแบบการรับบริการได้ง่าย รวมถึงคำสั่งพิเศษที่ลาลามูฟมีให้เฉพาะ เช่น การขนส่งด้วยรถกระบะปิดทึบ ดร็อปของได้หลายจุด หรือการช่วยขนย้ายสิ่งของ
นอกจากนี้การดูแลไรเดอร์ก็สำคัญ เพราะพวกเขาถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในธุรกิจ On-Demand Logistics ซึ่งทางลาลามูฟเองก็ให้สวัสดิการ เช่น ประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ รวมถึงโบนัสพิเศษต่างๆ ให้กับไดรเวอร์ ที่สำคัญเราให้อิสระกับไดรเวอร์ในการรับงาน ซึ่งพวกเขาอาจจะใช้เวลาว่างมาวิ่งรับงานกับเรา หรืออาจจะทำงาน 9 ชั่วโมงเต็มเลยก็ได้
พอล บอกอีกว่า ทุกๆ ปี ลาลามูฟ ตั้งเป้าขยายตลาดใหม่อย่างน้อย 1 แห่ง โดยเดือนส.ค.65 ที่ผ่านมา เราได้เริ่มให้บริการครั้งแรกในประเทศบังกลาเทศ ซึ่งเรามองว่าดีมานด์ของผู้ใช้งานยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันรถขนส่งที่ให้บริการนั้นเป็นรถขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ เราเห็นโอกาสในการทำตลาดในรถขนส่งระดับกลาง เพราะพื้นที่กายภาพของบังกลาเทศค่อนข้างมีความเฉพาะตัว รวมถึงคำสั่งพิเศษที่ไม่เหมือนใคร ทำให้ผู้ใช้งานมีทางเลือกมากขึ้น
นอกจากการเปิดตลาดใหม่ๆ แล้ว ธุรกิจ SMEs ถือเป็นฐานลูกค้าหลักของลาลามูฟทั่วโลก ปัจจุบัน SMEs ของไทยเป็นลูกค้าลาลามูฟ คิดเป็นสัดส่วน 20% และสัดส่วนดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราเติบโตไปพร้อมกับ SMEs ก็คือ ช่วยประหยัดต้นทุน และประหยัดเวลา
"ถ้าถามว่าทำไม SMEs ถึงต้องใช้บริการลาลามูฟ เราต้องบอกก่อนว่า เราอยู่กับธุรกิจ SMEs ในทุกช่วงเวลาช่วยประหยัดต้นทุนได้ เช่น หากต้องการขนส่งสินค้าจำนวนมาก ก็ไม่จำเป็นต้องจ้างคนขับหารถใหม่ ในทางกลับกันหากช่วงเวลานั้นออเดอร์สินค้าไม่ได้มาก SMEs ก็ไม่จำเป็นต้องแบกต้นทุนเรื่องคน และการดูแลรักษารถยนต์ เป็นต้น"
ส่วนแผนการบริหารงานในประเทศไทยนั้น เบน ลิน กรรมการผู้จัดการ ลาลามูฟ ประเทศไทย บอกว่า หลังจากเราได้ บิวกิ้น พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล มาร่วมเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ ยอดผู้ใช้งานก็เพิ่มสูงอย่างเห็นได้ชัดทั้ง Individual และ SMEs ซึ่งก็เป็นกลุ่มทาร์เก็ตที่เราอยากให้รู้จักแบรนด์ลาลามูฟมากขึ้น ก็ถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร เราคาดว่าหากขยายบริการไปยังหัวเมืองใหญ่ๆ ก็น่าจะได้กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ มากขึ้นอีกด้วย
ปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการขนส่งสินค้ามากขึ้น รวมถึงความต้องการรถขนส่งที่มีทั้งขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก ขณะเดียวกันความต้องที่จะขยายการขนส่งที่เพิ่มมากขึ้น ณ วันนี้เราให้บริการในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งจะต้องเริ่มที่กรุงเทพฯ เท่านั้น เช่น กรุงเทพฯ ไปพัทยา ระหว่างทางอาจจะดร็อปของที่ศรีราชาได้
แต่ในทางกลับกันหากต้องการส่งสินค้าจากพัทยามายังกรุงเทพฯ นั้นยังไม่สามารถทำได้ แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ การขนส่งแบบ Inter-City หรือให้บริการในเขตหัวเมืองใหญ่ๆ ที่เริ่มจากต่างจังหวัดมากรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัดไปอีกเมืองหนึ่ง ก็สามารถทำได้เช่นกัน
"ความพิเศษของลาลามูฟ เราจะส่งทีมลงไปคุยกับลูกค้าในกรณีพิเศษ เพื่อร่วมเก็บข้อมูลต่างๆ ดูแล และออกแบบการขนส่งที่เหมาะกับสินค้าของธุรกิจนั้นๆ เช่น ธุรกิจร้านอาหาร ที่มีความเฉพาะตัว และข้อจำกัดบางอย่างในการส่งสินค้า เช่น ขนมเค้ก เครื่องดื่ม เพื่อให้ลูกค้าได้ส่งสินค้าได้ง่ายขึ้น"
เบน ทิ้งท้ายว่า หลังสถานการณ์โควิดดีขึ้น ธุรกิจ SMEs เป็นอะไรที่น่าจับตามองมากที่สุด ซึ่งลาลามูฟก็พร้อมที่จะเติบโตไปพร้อมกับ SMEs ด้วยบริการหลากหลายรูปแบบที่ตอบโจทย์ในหลายธุรกิจ รวมถึงความน่าเชื่อถือ และความแม่นยำในพื้นที่ที่ให้บริการ ด้วยฐานข้อมูล และระบบ AI ที่ช่วยประหยัดต้นทุนได้ทั้งยูสเซอร์ และไดรเวอร์อีกด้วย
ผู้เขียน : กมลทิพย์ หิรัญประเสริฐสุข kamonthip.h@thairathonline.co.th
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun