เศรษฐกิจฟื้นด้วยการเคลื่อนย้ายแรงงาน?

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เศรษฐกิจฟื้นด้วยการเคลื่อนย้ายแรงงาน?

Date Time: 3 ก.ย. 2565 06:48 น.

Summary

  • ธนาคารแห่งประเทศไทย ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสที่สองสะท้อนภาพการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทั้ง GDP ที่เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.5 เทียบกับปีก่อน จากร้อยละ 2.3 ในไตรมาสแรก

Latest

“อุตสาหกรรมแบตเตอรี่”  จิ๊กซอว์ที่ต้องต่อให้เต็ม สานฝันไทย “ฮับผลิต EV” ภูมิภาค

ดร.นครินทร์ อมเรศ ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสที่สองสะท้อนภาพการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทั้ง GDP ที่เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.5 เทียบกับปีก่อน จากร้อยละ 2.3 ในไตรมาสแรก ขณะที่จำนวนชั่วโมงการทำงานขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.0 จากร้อยละ 1.7 โดยมีแรงส่งมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นตามการผ่อนคลายนโยบายการเดินทางระหว่างประเทศ และการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามตลาดแรงงานที่ปรับดีขึ้น

แต่เศรษฐกิจจะเติบโตมากน้อยเพียงใดไม่อาจอาศัยแค่แรงสนับสนุนจากความต้องการสินค้าและบริการ แต่ต้องมีปัจจัยการผลิตโดยเฉพาะแรงงานรองรับอย่างเพียงพอด้วย

ทั้งนี้ ในการประชุมประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐฯ ณ เมือง Jackson Hole ได้กำหนดหัวข้อถึงการทบทวนข้อจำกัดของเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบาย โดยมีสองวาระที่ถกถึงข้อจำกัดจากการจ้างงานเต็มที่ (Maximum Employment) และระดับศักยภาพของเศรษฐกิจ ซึ่งพบว่า “ตลาดแรงงาน 19 ประเทศในช่วงสองทศวรรษก่อนการแพร่ระบาดของโควิดมีจำนวนชั่วโมงการทำงานต่อแรงงานลดลงร้อยละ 9.2 โดยเฉลี่ยแต่กลับมีอัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 โดยกระแสการ work from home อาจทำให้จำนวนชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยปรับลดลงไปได้อีกจึงจะเป็นข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ”

นอกจากนี้ GDP ของประเทศสหรัฐฯที่ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 1.7 ในช่วง 2006-2019 จากทั้งผลิตภาพแรงงานและจำนวนชั่วโมงการทำงาน แต่ในปี 2020 ที่เกิดการแพร่ระบาด GDP หดตัวร้อยละ 2.6 จากจำนวนชั่วโมงการทำงานที่ลดลง ขณะที่ผลิตภาพแรงงานยังขยายตัวจากทั้งภายในสาขาเศรษฐกิจและการเคลื่อนย้ายแรงงาน แต่ตัวเลข GDP ในปี 2021-2022 ซึ่งขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 4.4 เกิดจากการเติบโตของชั่วโมงการทำงาน แต่ผลิตภาพแรงงานกลับทรงตัว

ในส่วนของไทย GDP ในช่วงปี 2009-2019 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.0 จากผลิตภาพแรงงานทั้งหมดโดยจำนวนชั่วโมงการทำงานทรงตัว แต่ในปี 2020 GDP หดตัวร้อยละ 6.3 จากการหดตัวของจำนวนชั่วโมงการทำงานร้อยละ -4.4 และผลิตภาพแรงงาน -1.9 ก่อนที่ GDP จะกลับมาขยายตัวได้ร้อยละ 1.7 ในปี 2021 จากผลิตภาพแรงงานที่ร้อยละ 1.2 ขณะที่ในครึ่งแรกปีนี้ GDP ขยายตัวร้อยละ 2.4 จากการเติบโตของจำนวนชั่วโมงการทำงานร้อยละ 1.8

เมื่อจำแนกองค์ประกอบการขยายตัวของผลิตภาพแรงงานในไทยในช่วงปี 2021-2022 ออกเป็นปัจจัยด้านการขยายตัวภายในสาขาเศรษฐกิจและการเคลื่อนย้ายแรงงานจะพบว่า “ผลิตภาพแรงงานไทยในปี 2021 เติบโตจากแรงงานในแต่ละสาขาเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้นร้อยละ 2.3 และ 0.4 ในครึ่งแรกของปี 2022 ตามลำดับ ขณะที่การเคลื่อนย้ายแรงงานกลับทำให้ผลิตภาพลดลงในปี 2021 ก่อนที่จะกลับมาทรงตัวในปี 2022”

ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนว่าพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยหลังโควิด ว่า ในช่วงปี 2021 ที่ยังไม่สามารถเปิดกิจการได้เต็มที่ต้องอาศัยการเพิ่มผลิตภาพภายในสาขาเศรษฐกิจ ขณะที่ในปี 2022 จะเริ่มเห็นบทบาทการขยายตัวของจำนวนชั่วโมงการทำงานและการเคลื่อนย้ายแรงงานมาเป็นแรงสนับสนุนเพิ่มเติม

เศรษฐกิจไทยจึงยังมีโอกาสที่จะทยอยฟื้นตัวผ่านการจัดสรรทรัพยากรแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการเคลื่อนย้ายแรงงานจากสาขาเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพแรงงานน้อยกว่าไปยังสาขาที่ผลิตภาพสูงกว่า เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโตได้เต็มศักยภาพ ก่อนที่ผลิตภาพแรงงานภายในสาขาเศรษฐกิจจะเป็นกุญแจขับเคลื่อนประเทศหลังตลาดแรงงานกลับมาตึงตัวเต็มที่.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ