ข่าวเศรษฐกิจหลายเรื่องที่ออกมา ในช่วงนี้ มีหลายข่าวเป็นภาพสะท้อนชัดเจนถึงความไม่เท่าเทียม หรือความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ข่าวแรกเป็นข่าวดี สะท้อนถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย นั่นก็คือในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทย 1.12 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 กว่า 6%
ในปี 2564 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา 16.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นกว่า 1.818% แสดงว่าการท่องเที่ยวซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญฟื้นตัว อีกข่าวหนึ่งคือผลดำเนินการของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (บจ.) จำนวน 759 แห่ง หรือ 96.7% มีกำไรสุทธิถึง 596,635 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.92%
เปรียบเทียบกับข่าวหนี้ที่ไม่ก่อรายได้ หรือหนี้เสียของกลุ่มเกษตรกรพุ่งขึ้นถึง 10% นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ชี้แจงว่าเหตุที่หนี้เสียของเกษตรกรพุ่งสูง เป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด ต้นทุนการผลิตด้านเกษตรสูงขึ้น ทั้งปัจจัยการผลิตและน้ำมัน
ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นหนี้ของเกษตรกร ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ ยังมีผลการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่เปิดเผยโดยนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัย ตัวเลขล่าสุดจากการสอบถามกลุ่มตัวอย่าง 1,350 ตัวอย่าง เป็นหนี้ถึง 99.6% ไม่มีหนี้แค่ 0.4% เป็นหนี้เฉลี่ยครัวเรือนละ 501,711 บาท
เป็นหนี้ครัวเรือนโดยเฉลี่ยที่สูงสุด ในรอบ 16 ปี ต้องผ่อนชำระโดยเฉลี่ย 12,801 บาทต่อเดือน แต่ต้องถือว่าเป็นเคราะห์ดี เพราะส่วนใหญ่เป็นหนี้ในระบบถึง 78.1% มีทรัพย์สินค้ำประกัน เช่นรถยนต์ โฉนดที่ดิน ส่วนหนี้นอกระบบมีเพียง 21% ถือว่าต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ไม่ทราบว่ามีหนี้เสียมากน้อยแค่ไหนหรือไม่
จากรายงานข่าวข้างต้น แสดงว่าคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ คือเกษตรกรชาวไร่ ชาวนาในชนบท และกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำในเมือง ส่วนหนึ่งกลายเป็นคนจน มีหนี้สินรุงรังล้นพ้นตัว กลุ่มเกษตรกรมีหนี้เสียถึง 10% ทั้งหมดนี้ย่อมมีผลกระทบต่อการศึกษาของบุตรหลาน มีนักเรียนถึง 238,700 คน ต้องหลุดจากระบบการศึกษา
แม้ทางการจะตามตัวกลับเข้าห้องเรียนได้ แต่มีเด็กอย่างน้อยเกือบสองหมื่นคน ที่ตามตัวกลับไม่ได้ เด็กเหล่านี้อนาคตที่ว่างเปล่า ต้องขายของตามสี่แยกไฟแดง บางส่วนต้องเป็นขอทานตั้งแต่เด็ก เป็น “คนจนที่เงียบเชียบ” อนาคตมืดมนเป็นความโชคร้ายของพวกเขา ที่เกิดในประเทศที่เหลื่อมล้ำ แม้แต่โอกาสการศึกษา.