บอร์ด กสทช.รับทราบปัญหาผู้ให้บริการ OTT เกาะกินโครงข่ายมือถือ สร้างการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ยอมรับอำนาจในมือมีไม่ถึง แต่จะศึกษาเพิ่มเติมเพื่อหาทางแก้ปัญหา
พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กล่าวว่า กสทช.ตระหนักถึงปัญหาความเป็นธรรมในการแข่งขัน โดยเฉพาะต่อกรณีที่ผู้ให้บริการแบบ OTT (Over the Top) โดยเฉพาะแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิง ซึ่งให้บริการและประกอบธุรกิจอยู่บนโครงข่ายมือถือ เมื่อลูกค้ามีการใช้งานเป็นจำนวนมาก ถือเป็นภาระให้กับผู้ให้บริการมือถือที่ต้องลงทุนขยายสัญญาณเพิ่มเติมรองรับดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า กสทช.สามารถกำกับดูแลได้เฉพาะบริการที่อยู่ภายใต้อำนาจควบคุมเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) เมื่อปี 2563 ระบุผู้ให้บริการ OTT รายใหญ่ที่ครองตลาดผู้ชมในประเทศไทย 10 อันดับแรก ได้แก่ YouTube, Netflix, LINE TV, JOOK, Spotify, Viu, TrueID, AIS Play, WeTV และ SoundCloud โดย 8 ใน 10 ราย เป็นผู้ให้บริการจากต่างประเทศ
ด้าน น.ส.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. กล่าวเพิ่มเติมว่า กสทช.มีอำนาจกำกับดูแลเฉพาะไอพีทีวี (IpTV) หรือโทรทัศน์ผ่านอินเตอร์เน็ต แต่สำหรับบริการ OTT ไม่มีอำนาจกำกับดูแล ซึ่งรวมทั้งเรื่องของเนื้อหารายการด้วย
พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าวอีกว่า ได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการวิทยุและโทรทัศน์เช่นกัน ในฐานะอยู่ใต้กำกับดูแลของ กสทช.ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบเป็นจำนวนมาก ขณะที่ผู้ให้บริการ OTT ไม่ถูกควบคุมด้วยกฎระเบียบใดๆ ทำให้เกิดภาวะการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ขณะที่ค่ายมือถือก็ถูกผู้ให้บริการเหล่านี้ ใช้งานโครงข่ายโดยไม่ต้องลงทุนแต่อย่างใด
“บอร์ด กสทช.รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้น เป้าหมายของเราคือการสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมภายใต้อำนาจที่เรามี อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องนี้ว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรดา 3 ค่ายมือถือ ประกอบด้วย เอไอเอส ทรู และดีแทค ได้พยายามผลักดันให้ทุกฝ่ายเห็นปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด เนื่องจาก 3 ค่ายมือถือมีภาระในการลงทุนพัฒนาขยายโครงข่ายแต่ละปีเป็นเงินจำนวนมหาศาล ยกตัวอย่างปี 2565 เอไอเอสกำหนดวงเงินลงทุนโครงข่ายที่ระดับ 30,000-35,000 ล้านบาท เนื่องจากมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่งที่สุดเพื่อรองรับการใช้งาน โดยเฉพาะการใช้งานผ่านแพลตฟอร์ม OTT ที่เป็นที่นิยมของคนไทย
ขณะที่ราคาค่าอินเตอร์เน็ตบนมือถือถูกตั้งเพดานราคาสูงสุด และกำกับดูแลจาก กสทช. รวมทั้งยังมีภาระค่าประมูลคลื่นความถี่แต่ละครั้งในมูลค่ามหาศาล ทำให้ธุรกิจมือถือใน 2-3 ปีที่ผ่านมา มีอัตราขยายตัวได้เพียงเล็กน้อย 2-3% ต่อปี โดยนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกรรมการทรู คอร์ปอเรชั่น ย้ำในงานแถลงข่าวหลายครั้งในระยะหลังๆว่า ธุรกิจโทรคมนาคมกำลังอยู่ในช่วงขาลง ผู้ประกอบการจึงต้องหาการเติบโตใหม่ๆ โดยเฉพาะการปรับตัวเพื่อสามารถแข่งขันกับแพลตฟอร์มต่างประเทศที่กำลังบุกตลาดประเทศไทยอยู่ นำไปสู่ทางออกคือการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคในที่สุด.