“โควิด” หนุนส่ง “ประกันชีวิต” คึกคัก “สาระ”เผยคนไทยแห่ทำ “ประกันสุขภาพ”

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

“โควิด” หนุนส่ง “ประกันชีวิต” คึกคัก “สาระ”เผยคนไทยแห่ทำ “ประกันสุขภาพ”

Date Time: 29 ก.ค. 2565 07:35 น.

Summary

  • “บิ๊กสาระ” นายกสมาคมประกันชีวิตไทย ชี้ตลาดประกันสุขภาพคึกคัก รับอานิสงส์ “โควิด-19” ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพ ขณะที่ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบบำนาญ ตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุของไทยในปัจจุบัน

Latest

“อุตสาหกรรมแบตเตอรี่”  จิ๊กซอว์ที่ต้องต่อให้เต็ม สานฝันไทย “ฮับผลิต EV” ภูมิภาค

“บิ๊กสาระ” นายกสมาคมประกันชีวิตไทย ชี้ตลาดประกันสุขภาพคึกคัก รับอานิสงส์ “โควิด-19” ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพ ขณะที่ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบบำนาญ ตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุของไทยในปัจจุบัน

นายสาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยถึงทิศทางภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตของไทยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 ว่ายังมีปัจจัยที่ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจประกันชีวิตมีอัตราการเติบโตเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี โดยคาดการณ์ว่าภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตปีนี้จะมีเบี้ยประกันภัยรับรวมประมาณ 612,000-629,500 ล้านบาท อัตราการเติบโตระหว่างร้อยละ 0 ถึง 2.5 และอัตราความคงอยู่ประมาณร้อยละ 82 ถึง 83

โดยหลักๆ มาจากปัจจัยบวกที่ช่วยกระตุ้นและส่งเสริมธุรกิจประกันชีวิตในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่คนใส่ใจและดูแลสุขภาพ และได้ตระหนักถึงความสำคัญของการทำประกันสุขภาพมากขึ้น รวมถึงผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่ตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุของไทยในปัจจุบัน ทำให้ประชาชนเริ่มหันมาทำประกันชีวิตแบบบำนาญมากขึ้น ในขณะเดียวกันพฤติกรรมการซื้อประกันผ่านช่องทางออนไลน์ รวมกับช่องทางหลักอย่างช่องทางตัวแทนและช่องทางอื่นๆ เริ่มมีสัดส่วนที่มากขึ้น จากความสะดวกรวดเร็วและเข้าถึงข้อมูลที่ง่ายมากขึ้น เพราะสามารถเปรียบเทียบข้อมูลและเลือกแบบประกันที่ตรงกับความต้องการ

นอกจากนี้ยังเป็นช่วงที่ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมธุรกิจประกันชีวิต เรื่องของการลดหย่อนภาษี รวมถึงเรื่องการขายรูปแบบ Digital Face to Face ที่ลดขั้นตอนและเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับการเสนอขายประกันชีวิต ซึ่งช่วยส่งเสริมและผลักดันให้ธุรกิจประกันชีวิตสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามในช่วงครึ่งปีหลังนี้ธุรกิจประกันชีวิตยังต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ อาทิ สงครามการค้าระหว่างประเทศ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ การเกิดใหม่ของสงครามเทคโนโลยี (Cyber War) ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) พ.ศ.2562 และสัญญาการประกันภัยสุขภาพแบบมาตรฐานใหม่ (New Health Standard) ส่งผลให้แต่ละบริษัทประกันชีวิตต้องพัฒนาแบบประกันและการบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น ปรับกระบวนการให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงต้องบริหารความเสี่ยงรอบด้านทั้งก่อนและหลังการรับประกันภัย เพื่อให้สามารถปรับกลยุทธ์และทิศทางการดำเนินงานได้ทันต่อสถานการณ์ และให้ฐานะทางการเงินของบริษัทประกันยังเติบโตได้มั่นคงและแข็งแกร่ง

“ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของภาคธุรกิจในการรับมือต่อปัจจัยท้าทายและความไม่แน่นอนรอบด้าน สมาคมประกันชีวิตไทยจึงมีนโยบายส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตให้มีความหลากหลายเหมาะสมและตอบโจทย์ความต้องการที่เฉพาะเจาะจงเป็นรายบุคคล (Personalized) มากขึ้น รวมถึงผลักดันให้แต่ละบริษัทประกันชีวิตใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ หรือนวัตกรรมใหม่ๆ (Innovation) มาใช้ในกระบวนการเสนอขายและการส่งมอบบริการหลังการขาย เพื่อยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานของภาคธุรกิจ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคมากขึ้น”

พร้อมกันนี้สมาคมยังมีการนำระบบสอบตัวแทนประกันชีวิตแบบ Virtual Exami nation (E-Exam) ระบบการออกใบอนุญาตตัวแทนประกันชีวิตในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Licensing) และระบบการอบรม-การขอต่อใบอนุญาตตัวแทนและนายหน้าประกันชีวิตในรูปแบบ E-Learning มาใช้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ที่สนใจสมัครเข้าร่วมเป็นตัวแทนประกันชีวิต

ปัจจุบัน สมาคมประกันชีวิตไทยมีการจัดตั้งคณะทำงานกลุ่มย่อย เพื่อเป็นแกนกลางทำงาน ร่วมกันระหว่างบริษัทประกันชีวิตและสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) โดยมีวัตถุ ประสงค์เพื่อมุ่งให้ธุรกิจประกันชีวิตสามารถดำเนินการตามแผนงานได้รอบด้าน และช่วยผลักดันให้ภาพรวมธุรกิจเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง นายกสมาคมประกันชีวิตไทยกล่าว

นายสาระในฐานะนายกสมาคมประกันชีวิตไทย ยังได้กล่าวถึงภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตในช่วงครึ่งแรกปี 2565 (ม.ค.-มิ.ย.) ว่ามีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 289,097 ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 1.94 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2564 โดยช่องทางการจำหน่ายที่มากสุดในช่วงครึ่งปีแรก ยังคงเป็นการขายผ่านช่องทางตัวแทนประกันชีวิต (Agency) มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 147,747 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.50 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 51.11


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ