คนไทยกระเป๋าฉีกค่าใช้จ่ายพุ่ง เดือน มิ.ย.ทะลุ 1.8 หมื่นบาท สูงสุด 13 ปี

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

คนไทยกระเป๋าฉีกค่าใช้จ่ายพุ่ง เดือน มิ.ย.ทะลุ 1.8 หมื่นบาท สูงสุด 13 ปี

Date Time: 6 ก.ค. 2565 07:37 น.

Summary

  • “พาณิชย์” เผยเงินเฟ้อ มิ.ย.65 สูงสุดรอบ 13 ปีอีกครั้ง พุ่ง 7.66% มึนราคาน้ำมันยังพุ่งไม่หยุด คาดไตรมาส 3 ยังสูงต่อ ส่วนทั้งปียืน 4-5% ขณะที่ผลสำรวจค่าใช้จ่ายครัวเรือน พบ มิ.ย.65

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

“พาณิชย์” เผยเงินเฟ้อ มิ.ย.65 สูงสุดรอบ 13 ปีอีกครั้ง พุ่ง 7.66% มึนราคาน้ำมันยังพุ่งไม่หยุด คาดไตรมาส 3 ยังสูงต่อ ส่วนทั้งปียืน 4-5% ขณะที่ผลสำรวจค่าใช้จ่ายครัวเรือน พบ มิ.ย.65 ประชาชนกระเป๋าฉีก ค่าใช้จ่ายพุ่งต่อเนื่อง เดือน มิ.ย.ทะยานถึง 18,000 บาท สูงสุดรอบปีครึ่ง ค่าโดยสารสาธารณะ น้ำมันเชื้อเพลิง นำโด่งกว่า 4,400 บาท

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน มิ.ย.65 ว่า เท่ากับ 107.58 สูงขึ้น 0.90% เมื่อเทียบเดือน พ.ค.65 และเมื่อเทียบดัชนีเดือน มิ.ย.65 กับเดือน มิ.ย.64 สูงขึ้นถึง 7.66% แต่ยังต่ำกว่าที่หลายหน่วยงานคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 8% ส่วนอัตราเฉลี่ยช่วง 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย.) ปี 65 เพิ่มขึ้น 5.61% เทียบช่วงเดียวกันของปี 64 ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานที่หักอาหารสดและพลังงานที่มีความผันผวนด้านราคาออกจาก
การคำนวณ ดัชนีอยู่ที่ 102.99 เพิ่มขึ้น 0.24% เมื่อเทียบเดือน พ.ค.65 และเพิ่มขึ้น 2.51% เมื่อเทียบเดือน มิ.ย.64 ส่วนเฉลี่ย 6 เดือนเพิ่มขึ้น 1.85%

สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นยังคงมาจากราคาสินค้ากลุ่มพลังงานที่สูงขึ้น 39.97% จากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซหุงต้ม ค่ากระแสไฟฟ้า ส่วนกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 6.42% จากการเพิ่มขึ้นของราคาเนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ เครื่องประกอบอาหาร ที่ได้รับผลกระทบจากพลังงานที่เป็นต้นทุนแฝงในกระบวนการผลิต โลจิสติกส์ และราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ส่วนสินค้าอื่นๆที่ราคาสูงขึ้น เช่น น้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม สบู่ ยาสีฟัน บุหรี่ เบียร์ สุรา และค่าโดยสารสาธารณะ ขณะเดียวกัน ดัชนีราคาผู้ผลิต ซึ่งเป็นราคาต้นทุนหรือราคาหน้าโรงงาน เดือน มิ.ย.65 สูงขึ้น 13.8% เทียบเดือน มิ.ย.64 ถือว่าสูงขึ้นมากกว่าเงินเฟ้อที่สูงขึ้น 7.66% แสดงว่าราคาสินค้าหน้าโรงงานแพงกว่าราคาขายปลีก ชี้ให้เห็นว่าผู้ประกอบการให้ความร่วมมือกระทรวงพาณิชย์ตรึงราคาขายสินค้า

สำหรับเงินเฟ้อไตรมาส 3 ยังมีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับไตรมาส 2 ที่ขยายตัว 6.46% แต่จะเป็นอัตราเท่าใด ยังประเมินไม่ได้ เพราะมีหลายปัจจัยที่กระทบเงินเฟ้อ ทั้งการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ, ราคาน้ำมัน, ผลกระทบจากโควิด-19 ที่ยังมีอยู่, ความขัดแย้งระหว่างประเทศ, ความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก, มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล, การส่งออกและการท่องเที่ยวที่ขยายตัว และมีผลต่อกำลังซื้อ, ค่าเงินบาทอ่อนค่า ฯลฯ ทำให้คาดการณ์ได้ลำบาก

“จนถึงขณะนี้ สนค.ยังคงยืนยันเป้าหมายเงินเฟ้อของไทยทั้งปี 65 ไว้ที่ขยายตัว 4-5% โดยมีค่ากลางที่ 4.5% สำหรับการหยุดยั้งเงินเฟ้อด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ตามหลักการ ก็ถูกต้อง แต่เงินเฟ้อของไทยปัจจุบัน เกิดจากปัจจัยภายนอกที่เข้ามากระทบ ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ไม่ได้เกิดจากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น การปรับขึ้นดอกเบี้ยต้องพิจารณาว่าจะเป็นบวกหรือลบมากน้อยแค่ไหน”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เงินเฟ้อเดือน มิ.ย.65 ที่เพิ่มขึ้น 7.66% เป็นอัตราสูงสุดในรอบปีนี้ และทำสถิติสูงสุดในรอบ 13 ปีอีกครั้ง (นับตั้งแต่เดือน ก.ย.51 ที่ขยายตัว 6.0% เพราะขณะนั้นเป็นช่วงสงครามอิรัก และราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศปรับตัวขึ้นไปถึงลิตรละ 44.24 บาท) หลังจากทำสถิติสูงสุดในรอบ 13 ปีมาตั้งแต่เดือน ก.พ.65 ที่เพิ่มขึ้น 5.28%, เดือน มี.ค.65 เพิ่ม 5.73%, เดือน เม.ย.65 ชะลอตัวลง แต่ยังเพิ่ม 4.65% และเดือน พ.ค.65 เพิ่มขึ้น 7.1% สูงสุดในรอบ 13 ปีอีกครั้ง

ทั้งนี้ จากการที่ สนค.สำรวจค่าใช้จ่ายครัวเรือนของประชาชนเป็นรายเดือน พบว่า ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกเดือน ล่าสุด เดือน มิ.ย.65 สูงถึง 18,088 บาท สูงสุดในรอบปีครึ่ง จากตั้งแต่เดือน ม.ค.64 ถึงเดือน พ.ค.65 ที่ค่าใช้จ่ายอยู่ที่เดือนละ 16,600-17,900 บาท โดยเดือน มิ.ย.65 ครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าโดยสารสาธารณะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าบริการโทรศัพท์มือถือสูงสุดที่ 4,477 บาท ตามด้วยค่าเช่าบ้าน วัสดุก่อสร้าง ไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม เครื่องใช้ในบ้าน 3,955 บาท, ค่าอาหารสด เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ สัตว์น้ำ 1,752 บาท, อาหารบริโภคในบ้าน ดีลิเวอรี 1,585 บาท, อาหารบริโภคนอกบ้าน ข้าวราดแกง อาหารตามสั่ง ฟาสต์ฟู้ด 1,214 บาท, ค่าแพทย์ ยา บริการส่วนบุคคล 967 บาท, ผักและผลไม้ 918 บาท เป็นต้น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ