ไทยเสี่ยงเจอ "วิกฤติเศรษฐกิจ" รอบใหม่ น้ำมันแพง ของขึ้นราคา เงินเฟ้อพุ่ง แต่รายได้เท่าเดิม แนะต้องเพิ่มรายได้ให้ประชาชนดันกำลังซื้อ พร้อมดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย ส่วนเวิลด์แบงก์ออกคำเตือน ทั่วโลกกำลังเผชิญความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย
หลังจาก บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ ได้ให้สัมภาษณ์ภายในงานแถลงข่าวการจัดงานสหกรุ๊ปแฟร์ ครั้งที่ 26 ว่า นับตั้งแต่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนเป็นเวลามากกว่า 3 เดือนนั้นได้ส่งผลกระทบต่อราคาวัตถุดิบมากกว่าช่วง 2 ปีที่เกิดวิกฤติโควิด ที่สำคัญกระทบรุนแรงกว่าช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 หรือ 26 ปีที่แล้ว ช่วงนั้นเงินบาทอ่อนตัวส่งผลให้สินค้าขึ้นราคา แต่เมื่อก่อนเป็นการ ค่อยๆ ปรับขึ้น แต่ครั้งนี้ขึ้นพรวดเดียว
"เวลานี้เหตุการณ์เหมือนกับ 26 ปีที่แล้ว ที่มีสงครามเป็นตัวทำให้ของขึ้นราคา และไม่รู้ว่าจะไปจบตรงไหน ซึ่งตอนนี้ สินค้าที่กระทบสุดมากที่สุด คือ ข้าวสาลี น้ำมันปาล์ม และน้ำมันเชื้อเพลิง เลยทำให้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกระทบก่อน"
ทั้งนี้ การขึ้นราคาสินค้าต้องไม่เอาเปรียบผู้บริโภค อาจจะต้องใช้การขึ้นราคาแบบขั้นบันได เพราะตอนนี้วัตถุดิบขึ้น ทุกอย่างขึ้นราคา ถ้าไม่ขึ้นราคาเราก็อยู่ไม่ได้ ซึ่งหากไม่ขึ้นราคาผู้ผลิตอาจจะต้องลดกำลังการผลิต หรือชะลอการผลิต อาจจะทำให้เกิดการกักตุนสินค้า การขึ้นราคาไม่ใช่เรื่องที่แย่ทั้งหมด แต่ต้องขึ้นแบบค่อยเป็นขึ้นไป
บุณยสิทธิ์ กล่าวอีกว่า การปรับขึ้นค่าแรง ถือเป็นการช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน หลังจากค่าครองชีพเพิ่มขึ้นไปแล้ว จากราคาขายสินค้าขึ้นนำไปก่อน ทำให้ประชาชนยังมีความสามารถในการซื้อที่มากขึ้น และเกิดการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งจะช่วยส่งผลบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ที่เริ่มฟื้นตัวหลังการแพร่รบาดโควิดคลี่คลายลงไปมากแล้ว
นอกจากนี้ยังมองว่า เศรษฐกิจของไทยจะฟื้นตัวได้รวดเร็วกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค หลังจากโควิดสิ้นสุดลง เพราะไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่สามารถปรับตัวได้เร็ว และได้รับอานิสงส์จากภาคการส่งออกที่ดีมาอย่างเนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ยังมีการเติบโตได้ รวมถึงภาคธุรกิจไทยมีศักยภาพในการแข่งขันที่สูง ทำให้เป็นปัจจัยที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วหลังโควิด
มรสุมเศรษฐกิจ หรือ Perfect Storm กำลังก่อตัว
สอดคล้องกับ กอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความขัดแย้งในยุโรปจากผลกระทบของสงครามยูเครน-รัสเซียที่นำไปสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจะเป็นผลกระทบที่ยาวนาน และทำให้ราคาน้ำมันดิบและราคาพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้น หรือทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องไปอีก 1-2 ปี
รวมทั้งเกิดการขาดแคลนอาหาร ปุ๋ยราคาแพง ส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น จะทำให้สหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ส่งผลให้ประเทศกำลังพัฒนาที่มีหนี้ต่างประเทศสูงให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งวิกฤติครั้งนี้องค์กรการเงินระหว่างประเทศบอกว่าเป็นวิกฤติที่ร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลก ครั้งที่ 2 หรือที่เรียกว่า Perfect Storm
ทั้งนี้ สัญญาณของเศรษฐกิจนี้เห็นได้จากจีนเริ่มมีการลดเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจลงจากเดิมที่คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ประมาณ 8% ต่อปี ลดลงเหลือ 7% และ 6% ขณะที่มีการคาดการณ์ว่าจากปัญหาการล็อกดาวน์เมืองขนาดใหญ่เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้กระทบกับการผลิต รวมทั้งปัญหาที่เกิดกับภาคอสังหาริมทรัพย์
โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เป็นรายย่อย อาจทำให้เศรษฐกิจจีนในปีนี้ขยายตัวได้เพียง 2% เท่านั้น สัญญาณที่ชัดเจนอีกด้านคือ ธนาคารกลางของจีนประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ระยะยาว 5 ปี เหลือ 4.45% จาก 4.6% ซึ่งเป็นการปรับลดลงมากสุดนับตั้งแต่ปี 2562
นายกอบศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในช่วงที่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกไม่แน่นอน และเศรษฐกิจจีนมีการเติบโตที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากการเผชิญปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ ทำให้เศรษฐกิจโลกจะได้รับผลกระทบไปด้วย รวมทั้งเศรษฐกิจไทยที่เราพึ่งพาการส่งออกไปยังประเทศจีนก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย
ส่วนภาคการท่องเที่ยวของไทยที่คาดหวังว่า เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายแล้วจะมีการกลับมาท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีนในไทยเป็นจำนวนมาก อาจไม่ได้เป็นไปตามที่เราคาดหวัง เนื่องจากเศรษฐกิจของจีนต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหาให้สามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้ในระยะเวลาหนึ่ง
ทั้งนี้ ประเทศไทยยังมีโอกาสเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสโดยใช้จุดแข็งที่มีอยู่ แต่เครื่องยนต์เศรษฐกิจปีนี้จะเปลี่ยนจากปีก่อนที่เราใช้การส่งออกที่เติบโต 20% การท่องเที่ยวผ่านเราเที่ยวด้วยกัน และการบริโภคภายในประเทศผ่านคนละครึ่ง ทำให้ผ่านวิกฤติมาได้ แต่เครื่องยนต์ในระยะต่อไปจะดึงการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ดึงดูดการลงทุนจากภายนอก และการลงทุนภาครัฐ
เช่น โครงการคนละครึ่งที่เราเคยใช้ได้ผล ตอนนี้ต้องลดขนาดลงควรเอาเงินที่เหลือมาใช้ดูแลราคาพลังงานที่ปรับขึ้นบางส่วน เพื่อให้ประชาชนยังมีกำลังซื้อในช่วงที่ราคาพลังงานสูง ส่วนโครงการเราเที่ยวด้วยกันความจำเป็นก็น้อยลง เพราะคนจำนวนหนึ่งเริ่มต้องการไปเที่ยวต่างประเทศ จึงต้องเปลี่ยนเป็นดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา รวมถึงนักท่องเที่ยวที่จะมาพำนักระยะยาวและที่ต้องการเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทย
สำหรับภาคเกษตรของไทยเป็นอีกภาคที่จะได้ประโยชน์จากวิกฤติ จากราคาสินค้าเกษตรราคาที่ดีตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ แต่รัฐต้องเข้ามาดูแลปัจจัยการผลิตโดยเฉพาะปุ๋ย โดยหากปุ๋ยในประเทศขาดแคลนต้องมีแผนพึ่งพาตัวเอง เช่น การผลิตปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทน รวมถึงทบทวนแผนการทำเหมืองโปรแตสในประเทศ
ประเด็นสุดท้าย คือ ยังมีการย้ายฐานการผลิตออกจากยุโรป จีน และอินเดีย มายังอาเซียนต่อเนื่อง ซึ่งไทยยังเป็นเป้าหมายหนึ่งที่นักลงทุนสนใจ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งรัฐบาลควรเร่งเดินหน้าโครงการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และเพิ่มการลงทุนภาครัฐ
คาด กนง. ทยอยขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 65 สิ้นปีแตะ 1.25%
ธรรมรัตน์ กิตติสิริพัฒน์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ หรือ TISCO ESU กล่าวว่า หลัง กนง. มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เท่าเดิมที่ 0.50% ตามที่ตลาดคาด อย่างไรก็ดี คณะกรรมการ 3 ใน 7 ท่านมีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% (25bps) ในการประชุมครั้งนี้
ทั้งนี้ ถือเป็นการส่งสัญญาณว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอีกไม่ช้า สวนทางกับการประชุมในครั้งก่อนที่คณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยรายงานการประชุมระบุว่า การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในปัจจุบันจะมีความจำเป็นลดลงในระยะข้างหน้า
นอกเหนือไปจากการลงมติที่เสียงแตก กนง. ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อขึ้นอย่างมาก โดย กนง. คาดว่าเงินเฟ้อในปี 2566 จะขยับขึ้นไปใกล้กับกรอบบนของเงินเฟ้อเป้าหมายที่ 3% ประกอบกับมีการแถลงในการประชุมว่าการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากมีความจำเป็นลดลง เราจึงเชื่อว่า กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งถัดไปในเดือนสิงหาคมจากเดิมที่เคยคาดไว้ว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า
สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินสู่ภาวะปกติอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งละ 0.25% ในทุกการประชุมที่เหลือของปี 2565 ซึ่งได้แก่ เดือน ส.ค. ก.ย. และ พ.ย. และจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายกลับเข้าสู่ระดับก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของไวรัสที่ 1.25% ณ สิ้นปีนี้ จากปัจจุบันอยู่ที่ 0.50%
อย่างไรก็ตาม โอกาสในการปรับขึ้นดอกเบี้ยมากถึง 3 ครั้งในปีนี้อาจลดลง ซึ่งขึ้นอยู่กับพัฒนาการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเป็นสำคัญ เช่น หากสงครามยูเครนดีขึ้นอย่างมีนัยจนนำไปสู่การลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์เป็นวงกว้าง และ หรือรัฐบาลเพิ่มการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล อาทิ การปรับลดเพดานราคาน้ำมันดีเซลให้ต่ำกว่า 35 บาทต่อลิตร ซึ่งจะช่วยทำให้การส่งผ่านของต้นทุนลดลงและลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อให้ต่ำลง เป็นต้น
"กนง. อาจต้องการลดความเสี่ยง เลี่ยงการใช้ยาแรง หากเลือกที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยปีหน้า เหมือนกับที่ได้เห็นหลายประเทศได้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยสูงถึง 0.50% ต่อครั้งในการประชุม เนื่องจากความเสี่ยงของเงินเฟ้อยังโน้มไปด้านสูงอยู่และต้องใช้ระยะเวลาในการส่งผ่านเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ กนง. เลยเลือกส่งสัญญาณเร็วขึ้นและทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปแทน เพื่อให้ตลาดทยอยปรับตัว แล้วค่อยประเมินภาพของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเป็นระยะ"
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์หลายอย่างยังนับว่ามีความท้าทายและมีความไม่แน่นอนอยู่มาก รวมไปถึงหากเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วและทำให้เกิดการหยุดชะงักของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หรือเศรษฐกิจโลกเกิดปัญหาชะลอตัวอย่างมาก อย่างเช่นยุโรปที่เศรษฐกิจอาจได้รับผลกระทบหนักจากการงดเว้นการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียในปีนี้ ก็อาจทำให้ กนง. เลือกกลับมาแตะเบรก หยุดการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องไปก่อนได้เช่นกัน
เวิลด์แบงก์ออกคำเตือน ทั่วโลกกำลังเผชิญความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย
หลังจากเดวิด มัลพาสส์ ประธานธนาคารโลก หรือ World Bank ได้ออกคำเตือนนานาประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอย เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.65 ที่ผ่านมา เนื่องจากสงครามในยูเครนได้กระหน่ำซ้ำเติมเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563
โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาในทวีปยุโรปและเอเชียตะวันออกจะเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างหนัก ซึ่งความเสี่ยงของภาวะเงินเฟ้อ และการเติบโตต่ำ ซึ่งเรียกกันว่า stagflation หรือ ภาวะชะงักงัน หรือภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาฝืดเคือง ขณะนี้นานาประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับราคาพลังงานและอาหารที่สูงขึ้นทั่วโลก
"สงครามในยูเครน การล็อกดาวน์ในจีน ทำให้ซัพพลายเชนหยุดชะงัก และความเสี่ยงของการเกิดภาวะเศรษฐกิจชะงักงันกำลังซ้ำเติมการเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงทำให้การเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในหลายประเทศทั่วโลกจะเป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยง"