บาทอ่อนซ้ำต้นทุนสูง เพิ่มภาระค่าครองชีพ

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

บาทอ่อนซ้ำต้นทุนสูง เพิ่มภาระค่าครองชีพ

Date Time: 21 พ.ค. 2565 06:45 น.

Summary

  • ทิศทางความเคลื่อนไหว “เงินบาทอ่อนค่าไม่หยุดต่อเนื่องในรอบหลายปี” ที่มีแนวโน้มผันผวนตามเงินดอลลาร์แข็งค่า และอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูง ทำให้สถานการณ์ไม่แน่นอน ต้องเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

ทิศทางความเคลื่อนไหว “เงินบาทอ่อนค่าไม่หยุดต่อเนื่องในรอบหลายปี” ที่มีแนวโน้มผันผวนตามเงินดอลลาร์แข็งค่า และอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูง ทำให้สถานการณ์ไม่แน่นอน ต้องเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด

เพราะแม้ว่า “เงินบาทอ่อนค่า” จะเป็นตัวช่วยให้ภาคการส่งออกราคาถูกจูงใจต่อต่างชาติหันมาซื้อสินค้าไทยมากยิ่งขึ้นก็ตาม แต่ยังเป็นผลเสียต่อ “การซื้อสินค้านำเข้าในราคาแพง” ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน อาหารสัตว์ ปุ๋ยเคมีและ เหล็ก ล้วนแล้วส่งผลให้ภาคธุรกิจในประเทศตัดสินใจปรับเพิ่มราคาสินค้าตาม

ท้ายที่สุดนำไปสู่ “เงินเฟ้อ” ให้เกิดภาวะราคาสินค้าและบริการซื้อกินซื้อใช้มีแนวโน้มเพิ่มสูง ส่งผลกระทบต่อฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่อย่างทุกวันนี้ ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) ให้ข้อมูลว่า

อัตราเงินบาทอ่อนค่ามีหลายปัจจัยเข้ามากระทบ ส่วนหนึ่งมาจาก “เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวไม่เท่าเทียมกัน” โดยเฉพาะประเทศพัฒนาอย่าง “สหรัฐอเมริกา” เข้าถึงวัคซีนเร็ว สามารถฟื้นตัวเศรษฐกิจได้ดี “ผู้บริโภค” มีกำลังการซื้อสินค้าบริการสูงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าแพงที่เรียกว่า “เงินเฟ้อ” เป็นกลไกให้สกุลเงินของประเทศแข็งค่า

พูดง่ายๆ “เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็ว คนมีเงินพร้อมต้องการจับจ่ายซื้อสินค้าเยอะขึ้น” แต่ในทางกลับกัน “กำลังผลิตปรับตัวไม่ทันต่อความต้องการ” ทำให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงเกินไปจน “ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve System : Fed) ปรับขึ้นดอกเบี้ย” เป็นกลไกชะลอเศรษฐกิจไม่ให้เติบโตมากสกัดปัญหาเงินเฟ้อ

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ “เกิดความต่างของอัตราดอกเบี้ย” จนเป็นแรงจูงใจให้คนพยายามเก็บเงินฝากไว้ในธนาคาร เก็งผลกำไร แล้วก็เป็นโอกาสทอง “นักลงทุนไทยนำเม็ดเงินบาทไหลไปลงทุนในสหรัฐฯ” ด้วยเช่นกัน

คิดง่ายๆ...ธนาคารหนึ่งให้ดอกเบี้ย 1% อีกแห่งให้ดอกเบี้ย 3% เช่นนี้นักลงทุนมักถอนเงินออกจากดอกเบี้ย 1% นำฝากธนาคารกินดอกเบี้ย 3% อีกทั้งช่วงนี้ “ประเทศไทย” ก็ยังไม่มีแผนปรับขึ้นดอกเบี้ยด้วย เพราะคณะกรรมการนโยบายการเงินมองว่า “เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว” จึงไม่จำเป็นต้องไปแตะเบรกไว้ตอนนี้

สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นถึง “ความต่างของนโยบายการเงิน” ที่ก่อให้เกิดกระแสการเงินทุนไหลไปยังสหรัฐฯ แม้เป็นเพียงคาดการณ์ที่ยังไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยตามจริง “ผู้คน” ก็นำเงินบาทออกไปเก็งกำไรหวังผลตอบแทนที่สูงสุดทำให้ “เงินบาทอ่อนค่าลง” เพราะด้วยคนไม่ต้องการถือเงินบาทไทยกัน

ตามปกติค่าเงินบาทควรแกว่งอยู่ระดับ 30-33 บาทต่อดอลลาร์ฯ เมื่อไหร่ก็ตามที่ค่าเงินบาทเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมักสะท้อน “ปัญหาเศรษฐกิจผิดเพี้ยน” อย่างกรณีเงินบาทอ่อนค่ามากไปก็มีผลต่อการนำเข้าสินค้ารูปแบบเงินดอลลาร์ฯซื้อในราคาแพงขึ้น ถ้าค่าเงินแข็งไปอาจส่งผลต่อการส่งออกมีกําไรขายสินค้าลดลง

เหตุนี้เมื่อใดก็ตาม “เงินบาทอ่อนค่า” มักกระทบคนรากหญ้าเสมอ ด้วยปัจจัยเชื่อมโยงต่อผ่าน “สินค้านำเข้าราคาแพง” ทั้งอาหารสัตว์ เมล็ดพันธุ์พืชหรือสารเคมีการเกษตร ซ้ำเติมด้วย “ราคาน้ำมันดิบดีดตัวขึ้น” กลายเป็นแรงผลักดันสินค้าพื้นฐานอุปโภคบริโภคปรับราคาตาม ทำให้ประชาชนแบกรับภาระค่าใช้จ่ายสูงกว่าเดิม

เท่าที่ดู “สถานการณ์ค่าเงินบาทยังทรงตัวโน้มทางอ่อนตัวไปอีก” จนกว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัว โดยเฉพาะ “ภาคการท่องเที่ยว” ที่จะช่วยกระตุ้นให้การซื้อขายเงินบาทมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

ถัดมาประเด็น “การลงทุนช่วงเงินบาทอ่อนค่า” เรื่องนี้คาดเดายากโดยมากในช่วงกระแสข่าวไม่ดีมักมีความไม่แน่นอนต่อการลงทุน ก่อให้เกิดความผันผวน แต่ก็มักมาพร้อมกับโอกาสได้ด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อ “หุ้นแกว่งมาก” หากจับถูกจังหวะรอซื้อตอนราคาต่ำ และรอจังหวะราคาปรับสูงแล้วขายออกไปอาจจะมีผลกำไรได้ดี

ฉะนั้น ถ้า “กลุ่มนักลงทุนที่ชอบความผันผวน” มักเป็นโอกาสอีกแบบหนึ่งได้ แต่หาก “คนชื่นชอบลงทุนระยะยาวกำไรไม่หวือหวา” ก็ต้องรอจังหวะลงทุนในสินทรัพย์ที่ปลอดภัย “เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น” เริ่มมีการฟื้นตัว ปัญหาเงินเฟ้อคลี่คลาย และสงครามรัสเซีย-ยูเครนสงบลง ค่อยกลับมาซื้อหุ้นใหม่ที่อาจเติบโตไม่มากเท่ากับช่วงนี้

ดังนั้น การลงทุนช่วงนี้ “ต้องยอมรับความเสี่ยงการปรับเปลี่ยนผันผวน” อย่างเช่น กรณีราคาบิทคอยน์ที่ขึ้นสูงมากแล้วก็ร่วงลงต่ำได้เช่นเดียวกัน “การเล่นหุ้นสหรัฐฯ ก็อาจพุ่งขึ้นพันจุดและตกลงมาพันจุดได้เหมือนกัน” เรื่องนี้ต้องขึ้นอยู่กับบุคคลชอบการลงทุนแบบใด อันเป็นวิจารณญาณของนักลงทุนแต่ละคน

ประการต่อมา “เงินบาทอ่อนค่ากระทบต่อประชาชนเพียงใด” ในเรื่องนี้ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยของรายได้แต่ละบุคคลสอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นด้วยหรือไม่ เพราะถ้ามีรายได้สอดรับมักไม่มีปัญหาต่อการใช้ชีวิตปกติ แต่ถ้ารายได้ไม่เพียงพอสอดคล้องแล้ว อันนี้ต้องมีการช่วยเหลือแบ่งเป็น 2 กรณี คือ...

กรณีแรก...“มาตรการภาครัฐออกนโยบายช่วยเหลือ” ที่ต้องเข้าให้ถึงทุกกลุ่มเปราะบางอันเป็นเม็ดเงินช่วยบรรเทาความเดือดร้อน เช่น การเติมเงินเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่ม หรือโครงการคนละครึ่งเฟสถัดไป

กรณีที่สอง...“มาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงิน” เร็วๆนี้ได้ข่าวมาว่า กระทรวงแรงงานออกมาตรการให้สามารถนำเงินจากประกันสังคมใช้ในการค้ำประกันกู้ยืมเงินต่อสถาบันการเงินได้ แต่ท้ายที่สุดแล้ว “ประชาชน” จำเป็นต้องรัดเข็มขัดตัวเองในการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปก่อนในช่วงนี้

และมีคำถามว่า “เงินบาทอ่อนตัวสูงสุดเสี่ยงต่อระบบค่าเงินล้มหรือไม่” สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยเป็นไปได้ยาก แม้ว่าค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนไปกว่านี้ก็ไม่น่าถึงขนาดเงินบาทล้มสลายได้แน่ๆ เพราะบ้านเรามีความมั่นคงทางด้านสินทรัพย์ในประเทศมากมาย ส่วนแบงก์ชาติก็มีทุนสำรองของประเทศอยู่เยอะพอสมควร

สิ่งนี้สร้างความมั่นใจให้ “คนภายนอกร่วมการค้าการขาย” จนทำให้มีการส่งออกสินค้าแต่ละปีสามารถสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศได้มหาศาล โดยเฉพาะหนี้สาธารณะอยู่ที่ร้อยละ 62 ต่อ GDP อันเป็นอัตราไม่สูงมาก

เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า “ศักยภาพการสร้างรายได้ของประเทศยังดี และมีช่องว่างกู้เงินเพิ่มได้อีก” ดังนั้น ในเรื่องความกังวลว่า “เงินบาทไทยจะล่มสลาย” ยืนยันคงเป็นไปไม่ได้เลยด้วยซ้ำ

หากย้อนดู “วิกฤติต้มยำกุ้ง” คราวนั้นเงินบาทอ่อนค่าต่ำสุดถึง 55 บาทต่อดอลลาร์ฯ แต่โชคดี “ประชาชนได้รับผลกระทบน้อย” ด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจยังไม่เชื่อมระบบการลงทุนต่อกันทั่วโลกเช่นปัจจุบัน ทำให้ผลกระทบตกอยู่เฉพาะกลุ่มเกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน หรือนักเรียนทุนไปเรียนต่างประเทศมีต้นทุนเพิ่มขึ้น

เทียบกับในปีนี้ “เงินบาทอ่อนค่า” ค่อนข้างมีผลกระทบต่อประชาชนทั่วไปเยอะพอสมควร เพราะด้วยมีปัจจัยหลายอย่างผลักดันร่วมกัน ทั้งราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับสูง สงครามรัสเซีย-ยูเครนผลักดันสินค้านำเข้าแพงอีก “ผู้ประกอบการ” ไม่อาจแบกรับภาระขาดทุน จำเป็นต้องปรับราคาสินค้าตามต้นทุนนั้น

สิ่งที่ทำได้ตอนนี้ “ภาวนาให้ภาคการท่องเที่ยวฟื้นกลับมาโดยเร็ว” เพื่อให้คนถือเงินบาทในการจับจ่ายใช้สอยอันจะสามารถช่วยผลักดันค่าเงินบาทเข้าสู่ภาวะปกติ อีกปัจจัย “ภาคการส่งออกสินค้า” ก็มีความหวังว่า “ค่าเงินบาทอ่อนนี้” น่าจะทำให้ราคาสินค้าถูกลงจนเป็นแรงจูงใจให้ต่างชาติหันมาซื้อสินค้าไทยมากยิ่งขึ้น

ถัดมาคงรอดู “มาตรการอัดฉีดของภาครัฐ” ที่จะเป็นตัวช่วยรองรับปัญหาสินค้าราคาแพง เช่น ออก พ.ร.บ.กู้ยืมเงินไซต์เล็กใหม่ หรือนำเงินกู้คงเหลือครั้งที่แล้วมาใช้ช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มผู้เดือดร้อนจริงๆ

ย้ำว่า “วิกฤติเงินบาทอ่อนค่า” จะหวังให้ภาครัฐเข้ามาแทรกแซงคงเป็นไปได้ยาก เพราะเป็นกลไกปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ แต่หาก “ราคาสินค้าแพง” ต้องวางกลยุทธ์รับมือด้วยการมองสถานการณ์เลวร้ายไว้ก่อน

คาถาดีที่สุด “รู้จักควบคุมรายจ่าย ลดการใช้เงินฟุ่มเฟือยโดยไม่จำเป็น” นี่คือเครื่องมือช่วยให้รับมือกับ “วิกฤติเงินบาทอ่อนค่า ราคาสินค้าแพง เศรษฐกิจตกต่ำ” ที่จะนำพาเราๆผ่านพ้นไปได้ด้วยกัน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ