ตัวเลขการส่งออกสินค้าของไทยในช่วงสองเดือนแรกของปี 2022 สะท้อนถึงโมเมนตัมการขยายตัวที่ดีต่อเนื่อง จากการทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการค้าโลก ตามความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคของนานาประเทศ รวมถึงการผลิตเพื่อส่งออกกลับมาได้อย่างเป็นปกติมากยิ่งขึ้น หลังจากที่โรงงานบางส่วนต้องหยุดการผลิตลงชั่วคราวเพื่อควบคุมโรคในช่วงการระบาดของสายพันธุ์เดลตา
อย่างไรก็ตาม สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ปะทุขึ้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ได้เริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในเดือนมีนาคม และคาดว่าผลกระทบทั้งทางตรงจากการส่งออกไปยังรัสเซียและยูเครน และทางอ้อมจากสถานการณ์สงครามที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอลงนั้น จะรุนแรงมากยิ่งขึ้นในระยะถัดไป แต่ EIC มองว่าความเสี่ยงดังกล่าวก็ยังสร้างโอกาสต่อธุรกิจส่งออกไทยในบางด้านด้วยเช่นกัน
ผลกระทบทางตรงมีอยู่จำกัด
การส่งออกไปรัสเซียและยูเครนหดตัวมากถึง 73% และ 77.8% ในเดือนมีนาคมเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า และอาจรุนแรงขึ้นในระยะข้างหน้าตามช่องทางการค้า การชำระเงิน และการขนส่งที่ถูกปิดกั้นมากขึ้น
แต่ผลกระทบทางตรงต่อเศรษฐกิจไทยจากการส่งออกยังมีอยู่อย่างจำกัด เนื่องจากไทยส่งออกไปยังรัสเซียและยูเครนเป็นสัดส่วนน้อยและไม่ได้มีสินค้าส่งออกสำคัญใดที่พึ่งพาตลาดรัสเซียและยูเครนมากเป็นพิเศษ โดยในปี 2021 มูลค่าการส่งออกสินค้าจากไทยไปรัสเซียและยูเครนอยู่ที่ราว 1,028 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 135 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นเพียง 0.38% และ 0.05% ของการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทย ตามลำดับ
ดังนั้น หากภาวะสงครามยังคงรุนแรงและยืดเยื้อจนส่งผลให้ไทยไม่สามารถส่งออกสินค้าไปยังรัสเซียและยูเครนได้เลยในช่วงที่เหลือของปี 2022 ไม่ว่าจะเป็นเพราะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจากพิษของสงคราม มาตรการคว่ำบาตรจากนานาชาติ หรือการอ่อนค่าของสกุลเงินท้องถิ่น ก็จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยไม่ถึง 0.5% ของทั้งหมด
นอกจากนี้ หากพิจารณาสินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปยังรัสเซียและยูเครน ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ก็ไม่ได้พึ่งพารัสเซียหรือยูเครนเป็นตลาดส่งออกหลัก
แต่ผลกระทบทางอ้อมรุนแรงกว่า
แม้ผลกระทบทางตรงจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนจะมีอยู่อย่างจำกัดจากที่ได้กล่าวมา แต่อาจสร้างผลกระทบทางอ้อมต่อการส่งออกสินค้าของไทยได้ โดยมี 2 ช่องทางที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และปัญหาคอขวดอุปทาน
ช่องทางแรก ภาวะสงครามจะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจยุโรปที่อยู่ประชิดด่านหน้าของความขัดแย้ง โดย EIC คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกและยุโรปจะขยายตัวได้เพียง 3.4% และ 2.7% ตามลำดับ ต่ำกว่าประมาณการเดิมในช่วงก่อนสงคราม
เศรษฐกิจยุโรปที่ชะลอตัวลงจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยต่อภาพรวมของการส่งออกสินค้าไทย รวมถึงกลุ่มสินค้าหลักที่ส่งออกไปยุโรป เช่น คอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์ เป็นต้น เนื่องจากการส่งออกไปยังกลุ่มสหภาพยุโรป รวมถึงสหราชอาณาจักร (EU28) มีสัดส่วนขนาดใหญ่ถึง 9.3% ของการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทยในปี 2021 และคิดเป็น 9.9% หากรวมการส่งออกไปยังประเทศในสมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA)
ช่องทางที่สอง ปัญหาอุปทานคอขวดอาจรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในภาคส่งออกหลักของไทยที่พึ่งพาเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) เป็นส่วนประกอบสำคัญอย่างอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์
สงครามในยูเครนและการคว่ำบาตรรัสเซียส่งผลให้ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่มีอยู่เดิมจากวิกฤติโควิดมีแนวโน้มคลี่คลายช้าลงกว่าที่คาด เนื่องจากรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกแร่ธาตุ โลหะอุตสาหกรรม และโภคภัณฑ์หลักของโลก โดยเฉพาะวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์อย่างก๊าซนีออนและแพลเลเดียม
การขาดแคลนดังกล่าวอาจสร้างผลกระทบต่อเนื่องมายังอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ สะท้อนได้จากการปรับลดคาดการณ์การผลิตรถยนต์โลกล่าสุดในปีนี้ลงมาอยู่ที่ 81.5 ล้านคัน จากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ 84.1 ล้านคัน (-3.1%) อีกทั้ง ต้นทุนการผลิตรถยนต์โดยรวมยังมีแนวโน้มสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบและวัสดุอื่น ๆ ที่ใช้ในกระบวนการผลิตรถยนต์ เช่น เหล็กและอะลูมิเนียม ที่พุ่งสูงขึ้นตามความเสี่ยงต่ออุปทานโลก
ทั้งนี้ การใช้มาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดในจีนซึ่งเป็นผู้เล่นใหญ่ในห่วงโซ่อุปทานโลก ยิ่งอาจซ้ำเติมให้ปัญหาอุปทานคอขวดรุนแรงขึ้นอีกในระยะถัดไป
การส่งออกของไทยบางส่วนได้รับอานิสงส์จากสงคราม
ท่ามกลางผลกระทบจากภาวะสงคราม ส่งออกไทยได้รับอานิสงส์สนับสนุนการขยายตัวของส่งออกในปี 2022 อย่างน้อยจาก 3 ปัจจัย ซึ่งอาจสามารถชดเชยผลกระทบในทางลบได้ โดยเฉพาะจากปัจจัยทางด้านราคาสินค้าส่งออก
ปัจจัยแรก ราคาสินค้าส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นและสามารถชดเชยการชะลอตัวในด้านปริมาณ ภาวะสงครามและมาตรการคว่ำบาตรทำให้รัสเซียและยูเครนไม่สามารถส่งออกพลังงานและโภคภัณฑ์ทางการเกษตรหลายชนิด
เช่น ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด น้ำมันทานตะวัน ปุ๋ยยูเรีย ปุ๋ยโพแทสเซียม ที่ตนเองเป็นผู้ส่งออกหลักของโลก ส่งผลให้ระดับราคาสินค้าต่าง ๆ ในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น สินค้าส่งออกของไทยโดยเฉพาะในกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน รวมถึงผลผลิตทางการเกษตร จึงมีแนวโน้มจะเติบโตดีในด้านราคาส่งออกเป็นสำคัญ
ปัจจัยที่ที่สอง สินค้าส่งออกไทยบางประเภทสามารถขยายส่วนแบ่งตลาดได้ จากการทดแทนสินค้าส่งออกของรัสเซียและยูเครนในตลาดโลก โดยเฉพาะในยุโรปที่สินค้าส่งออกไทยหลายประเภทมีส่วนแบ่งตลาดในยุโรปในระดับที่ดีและแข่งขันได้ เช่น ยางสังเคราะห์ ไม้อัด ปลาแช่แข็ง ฟอสฟิเนต รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับคาร์โบไฮเดรตที่อาจนำมาทดแทนข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และข้าวโพดของรัสเซียและยูเครน เป็นต้น
ปัจจัยสุดท้าย เงินบาทที่อ่อนค่าสนับสนุนรายได้ของผู้ส่งออกไทยและอาจช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน นับตั้งแต่เกิดสงครามค่าเงินบาทอ่อนค่ามากกว่าสกุลอื่นในภูมิภาค โดย EIC คาดเงินบาทในระยะสั้นจะเผชิญแรงกดดันจากความต้องการถือสินทรัพย์เสี่ยงที่ลดลง ดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีแนวโน้มขาดดุลมากขึ้น
และการขึ้นดอกเบี้ยของหลายประเทศสำคัญทั่วโลก ก่อนจะกลับมาแข็งขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ภาคส่งออกไทยจึงจะได้รับประโยชน์จากความสามารถในการแข่งขันด้านราคาเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาด ซึ่งจะแปรเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจส่งออกไทย
ในภาพรวม EIC ยังคงคาดว่ามูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2022 ยังขยายตัวได้ดีที่ 6.1% แต่การขยายตัวเป็นผลจากปัจจัยด้านราคาที่สูงขึ้นตามต้นทุนโดยเฉพาะในหมวดพลังงานเป็นหลักและมากกว่าการเพิ่มขึ้นในเชิงปริมาณ อย่างไรก็ตาม มูลค่าการนำเข้าสินค้าจะขยายตัวในอัตราที่เร่งตัวกว่ามากที่ 13.2%
บทความโดย วิชาญ กุลาตี
นักวิเคราะห์
Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
eic@scb.co.th | EIC Online: www.scbeic.com