ศึกยูเครนป่วน “ไข่ไก่-หมู” ขึ้นราคา ต้นทุนอาหารสัตว์พุ่งไม่หยุดทำนิวไฮ

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ศึกยูเครนป่วน “ไข่ไก่-หมู” ขึ้นราคา ต้นทุนอาหารสัตว์พุ่งไม่หยุดทำนิวไฮ

Date Time: 22 เม.ย. 2565 06:12 น.

Summary

  • ผู้เลี้ยงไก่ไข่ขึ้นราคาไข่คละหน้าฟาร์ม อีก 10 สต. เป็นฟองละ 3.50 บาท มีผล 22 เม.ย.นี้ ส่วนหมูเป็นขยับขึ้นด้วยอีกโลละ 2-4 บาท เหตุราคาอาหารสัตว์พุ่งไม่หยุดจากผลของสงครามในยูเครน

Latest

“อุตสาหกรรมแบตเตอรี่”  จิ๊กซอว์ที่ต้องต่อให้เต็ม สานฝันไทย “ฮับผลิต EV” ภูมิภาค

ผู้เลี้ยงไก่ไข่ขึ้นราคาไข่คละหน้าฟาร์ม อีก 10 สต. เป็นฟองละ 3.50 บาท มีผล 22 เม.ย.นี้ ส่วนหมูเป็นขยับขึ้นด้วยอีกโลละ 2-4 บาท เหตุราคาอาหารสัตว์พุ่งไม่หยุดจากผลของสงครามในยูเครน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้เลี้ยงไก่ไข่ ทั้งสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่แปดริ้ว จำกัด สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ชลบุรี จำกัด สหกรณ์การเกษตรผู้เลี้ยงไก่ไข่สุพรรณบุรี จำกัด และชมรมผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่-ลำพูน ได้ประกาศปรับขึ้นราคาขายไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม เป็นฟองละ 3.50 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย.65 เป็นต้นไป จากปัจจุบันที่ฟองละ 3.40 บาท ซึ่งจะมีผลทำให้ราคาปรับขึ้นเป็นแผง (30 ฟอง) ละ 10 บาท

นายมาโนช ชูทับทิม นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องประกาศปรับขึ้นราคาขายไข่ไก่ เป็นเพราะต้นทุนต่างๆเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาอาหารสัตว์ที่แม้กรมการค้าภายในประกาศเป็นสินค้าควบคุมและต้องขออนุญาตก่อนขึ้นราคา แต่ผู้ค้าได้ขึ้นราคาขายอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด เมื่อช่วงต้นเดือน เม.ย.ปรับขึ้นอีก กก.ละ 60 สตางค์ ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงขยับขึ้นมาอยู่ที่ฟองละ 3.20 บาท สำหรับผู้เลี้ยงรายย่อย จากเดือน มี.ค.ที่ต้นทุนฟองละ 2.94 บาท แต่แม้ประกาศปรับขึ้นราคาเป็นฟองละ 3.50 บาท แต่ราคาขายจริงขึ้นอยู่กับการเจรจาของผู้ซื้อและผู้ขาย

อย่างไรก็ตาม ต้องการให้กระทรวงพาณิชย์ เร่งพิจารณาแก้ปัญหาราคาวัตถุดิบและอาหารสัตว์โดยเร็ว โดยกลุ่มผู้ใช้และผู้ผลิตอาหารสัตว์ ได้ยื่นข้อเสนอการแก้ปัญหาไป 3 ข้อ แต่จากการประชุมร่วม 4 ฝ่าย ระหว่างกระทรวงพาณิชย์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับผู้ผลิตอาหารสัตว์ เกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่ที่เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ และเกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์ ซึ่งเป็นผู้ใช้อาหารสัตว์ ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา รัฐพิจารณาเพียง 1 ข้อ คือ ลดภาษีนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าวสาลี ภายใต้องค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) เป็น 0% และให้นำเข้าได้ 380,000 ตัน จากที่เสนอไป 1.5 ล้านตัน ส่วนการลดสัดส่วน 1 ต่อ 3 ที่กำหนดให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์นำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ต้องซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ 3 ส่วน และลดภาษีนำเข้าถั่วเหลือง 2% รัฐไม่ได้พิจารณา แต่มติที่ประชุม 4 ฝ่ายครั้งล่าสุด ยังไม่ถือว่าเป็นที่สุด เพราะกระทรวงพาณิชย์ต้องนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพด (นบขพ.) และคณะกรรมการอาหาร ก่อนเสนอ ครม. แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้ประชุมทั้ง 2 คณะ

ขณะเดียวกัน สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้ประกาศราคาแนะนำขายหมูเป็น (หน้าฟาร์ม) ประจำวันพระที่ 16 เม.ย.65 อยู่ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 96-98 บาททั่วประเทศ ส่วนราคาแนะนำ ขายส่งอยู่ที่ กก.ละ 150-156 บาท และราคาแนะนำขายปลีกอยู่ที่ กก.ละ 190-196 บาท เพิ่มขึ้นจากวันพระที่ 9 เม.ย.65 ที่หมูเป็นอยู่ที่ กก.ละ 92-96 บาท ราคาแนะนำขายส่งอยู่ที่ กก.ละ 147-153 บาท และราคาแนะนำขายปลีกอยู่ที่ กก.ละ 182-192 บาท ทั้งนี้ เพื่อหนีจากภาวะขาดทุนจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาก ล่าสุด คณะอนุกรรมการต้นทุนของพิกบอร์ด คำนวณได้อยู่ที่ กก.ละ 98.81 บาทแล้ว อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา สมาคมได้ทำหนังสือด่วนถึงนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ให้เร่งเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 เม.ย.ที่ผ่านมา พิจารณาเห็นชอบตามมติจากการประชุมร่วม 4 ฝ่าย ในการผ่อนคลายอากรขาเข้าเป็น 0% สำหรับการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามกรอบดับบลิวทีโอ แต่จนถึงขณะนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังไม่เร่งเสนอให้ ครม.พิจารณา

สำหรับราคาอาหารสัตว์ล่าสุด จากเว็บไซต์สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ เดือน มี.ค.65 ข้าวโพด กก.ละ 12.70 บาท เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.พ.65 ที่ กก.ละ 11.11 บาท กากถั่วเหลือง กก.ละ 21.31 บาท เพิ่มจาก 19.78 บาท รำสด กก.ละ 11.42 บาท เพิ่มจาก 10.74 บาท ปลายข้าว กก.ละ 12.41 บาท เพิ่มจาก 11.85 บาท มันเส้น กก.ละ 8.19 บาท เพิ่มจาก 7.85 บาท ขณะที่ราคาข้าวโพดที่ตลาดล่วงหน้าในสหรัฐฯ ส่งมอบเดือน พ.ค.65 อยู่ที่บุชเชลละ 8 เหรียญฯ (กก.ละ 10 บาทกว่า) สูงสุดเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี และอยู่ใกล้ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ เพราะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ผลผลิตของทั้ง 2 ประเทศ ลดลง และทำให้ความต้องการธัญพืชของสหรัฐฯเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าการเพาะปลูกข้าวโพดรอบต่อไปของยูเครนอาจลดลงเกือบ 40% จากปีที่แล้ว.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ