มรสุมปีเสือผ่าน 3 เดือนแรก  “ยังไหวกันไหม..คนไทยทุกคน” วัดชีพจรธุรกิจเดินหน้าฝ่าวิกฤติ

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

มรสุมปีเสือผ่าน 3 เดือนแรก “ยังไหวกันไหม..คนไทยทุกคน” วัดชีพจรธุรกิจเดินหน้าฝ่าวิกฤติ

Date Time: 16 เม.ย. 2565 06:44 น.

Summary

  • 2 ปีเต็มๆที่ต้องผจญกับวิกฤติโควิด-19 เข้าสู่ปีที่ 3 ปี 2565 พร้อมสถานการณ์ที่เหมือนจะควบคุมและผ่อนคลายได้มากขึ้น เนื่องจากโควิดสายพันธุ์ล่าสุดโอมิครอนแม้ระบาดได้เร็ว แต่อาการไม่รุนแรง

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

2 ปีเต็มๆที่ต้องผจญกับวิกฤติโควิด-19 เข้าสู่ปีที่ 3 ปี 2565 พร้อมสถานการณ์ที่เหมือนจะควบคุมและผ่อนคลายได้มากขึ้น เนื่องจากโควิดสายพันธุ์ล่าสุดโอมิครอนแม้ระบาดได้เร็ว แต่อาการไม่รุนแรง รัฐบาลทยอยลดการใช้มาตรการเข้มงวดหันมาอยู่ร่วมกับโควิด-19 เพื่อช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ซบเซามายาวนาน รวมทั้งยังได้อานิสงส์จากเศรษฐกิจคู่ค้าที่ดีขึ้น ช่วยให้การส่งออกของไทยขยายตัวได้ดี

แต่เพียงเข้าสู่เดือนแรกไม่นาน เราต้องเผชิญปัญหาใหม่จากราคาอาหารสด เนื้อสัตว์ รวมทั้งอาหารปรุงสำเร็จที่ปรับตัวสูงขึ้นกระทบต่อความเป็นอยู่ของครัวเรือนไทย ราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นต้นทุนหลักของสินค้าบริการทุกชนิดแพงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซ้ำเติมด้วย “ช็อก” จากการบุกยึดยูเครนของรัสเซีย และผลกระทบจากมาตรการค่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกชะงักงัน และยิ่งโหมกระพือให้ราคาพลังงานและอาหารปรับตัวสูงขึ้นอีก ทุกสำนักวิจัยเศรษฐกิจปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงจาก 4-5% เหลือเฉลี่ย 3% เท่านั้น

ผ่าน 3 เดือนแรกเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ปีใหม่ไทย เศรษฐกิจบอบช้ำมากแค่ไหน การค้าขายมีทิศทางอย่างไร ภาคธุรกิจและประชาชนยังพออยู่ไหวหรือไม่ “ทีมเศรษฐกิจ” เช็กชีพจรประเทศไทยผ่าน 7 ธุรกิจชั้นนำ จากหลายอาชีพ ซึ่งล้วนเป็นอาชีพสำคัญที่สะท้อน “กำลังซื้อ” ของคนไทยได้เป็นอย่างดี

เริ่มจากธุรกิจขายเครื่องสำอาง ท่ามกลางสถานการณ์ Work From Home (WFH) ผู้หญิงไทยจะหยุดสวยหรือไม่ จากนั้นไปต่อที่ผู้ค้ารถยนต์และโทรศัพท์มือถือ ปัจจัยที่ 5 และ 6 ของชีวิตคนไทยในยุคนี้ ตามมาด้วยธุรกิจค้าน้ำมัน ในสถานการณ์ราคาน้ำมันที่พุ่งสูง ต่อด้วยตลาดฟิล์มกรองแสง และที่ขาดไม่ได้ คือ ธุรกิจอาหารการกิน ทั้งแบรนด์ชั้นนำขึ้นห้าง และสตรีทฟู้ดเจ้าเก่าแก่ ที่จะมาสะท้อนภาพบรรยากาศคนค้าขายและเศรษฐกิจไทยโดยรวม

หิรัญ ตันมิตร-ปริญญา วะนะศุข
ประธาน และรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีฟ แอนด์ บอย จำกัด

“3 เดือนแรกของปีนี้ สำหรับอีฟแอนด์บอย (EVEANDBOY) ต้องบอกว่าดีขึ้นมาก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ยอดขายเติบโตขึ้นกว่า 20% แต่ทั้งนี้ต้องบอกว่า 3 เดือนแรกของปี 2564 ยอดขายก็ไม่ได้แย่เพราะการควบคุมการระบาดโควิด-19 ของไทยทำได้ดีมาก และหากยังจำกันได้คลัสเตอร์ของการระบาดทวีความรุนแรงหลังสงกรานต์ ยอดขายปี 2564 จึงเริ่มชะงักตั้งแต่เดือนเม.ย.เป็นต้นมา”

ในปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 อีฟแอนด์บอยมียอดขายที่ 3,100 ล้านบาท ปี 2563 ซึ่งเป็นปีแรกของการแพร่ระบาด ยอดขายลดลงราว 30% เหลือ 2,200 ล้านบาท ปี 2564 ยอดขายอยู่ในระดับเดียวกับปี 2563 สำหรับปีนี้จากการประเมินภาพธุรกิจช่วง 3 เดือนแรก มองว่ายอดขายน่าจะกลับมาเติบโตได้ระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด

2 ปีที่ผ่านมา ถือว่ารายได้ลดลงไปมาก แต่ต้องยอมรับสภาพ เพราะตกลงกันไว้แล้วว่าจะไม่ปรับลดพนักงาน หรือลดเงินเดือนเด็ดขาด ยอมเฉือนเนื้อเอา แถมมีต้นทุนเพิ่มจากการซื้ออุปกรณ์ไอทีให้กับพนักงานไว้ใช้ทำงานที่บ้าน (WFH) รวมทั้งต้นทุนในการบริหารจัดการโรคระบาด ทั้งซื้อวัคซีน ตรวจโควิดพนักงานเป็นเงินมหาศาล เนื่องจากมีหน้าร้าน จึงหวังว่านับจากนี้จะดำเนินธุรกิจได้ตามปกติเสียที

“ในฐานะร้านค้าปลีกเครื่องสำอางมัลติแบรนด์ที่ปัจจุบันมี 16 สาขาทั่วประเทศ เราขออย่างเดียว รัฐบาลต้องไม่สั่งปิดประเทศ ปิดห้าง หรือสั่งจำกัดการทำธุรกิจอีก คิดว่าต่อจากนี้ทุกคนต้องเดินหน้าสู่เป้าหมายการกลับไปใช้ชีวิตตามปกติและอยู่กับโควิดให้ได้”

ไตรมาสแรกปีนี้ เราเห็นบรรยากาศกลับมาคึกคัก ผู้คนทำกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้น สัญญาณดีขึ้นเรื่อยๆ ย้อนกลับไป 2 ปีก่อน ยอดขายเครื่องสำอางที่ให้สีสันหรือ Color Product เช่น ลิปสติก ลดลงกว่าครึ่งจากกระแสทำงานที่บ้าน และการต้องใส่หน้ากาก แต่ 3 เดือนแรกปีนี้ ยอดขายลิปสติกกลับมาเติบโต 50% แล้ว หรืออีเวนต์ล่าสุดที่เพิ่งจัดเปิดตัวสินค้าใหม่ที่ร้านในรอบหลายเดือน คนมาเยอะมากจนน่าตื่นเต้น แสดงว่าคนพร้อมกลับมาใช้ชีวิตปกติแล้ว

ส่วนทิศทางการลงทุนในปีนี้ ยังคงเดินหน้าเปิดสาขาเพิ่มขึ้นอีก 3 สาขาจากเดิมที่มี 15 สาขา เริ่มจากสาขามาบุญครองที่เปิดไปเมื่อ 1 เม.ย. ส่วนอีก 2 สาขาขออุบที่ตั้งเอาไว้ก่อน เนื่องจากยังอยู่ในกระบวนการ

“เรายังคงเชื่อในการขายผ่านหน้าร้าน เพราะคนไทยชอบเดินห้าง ชอบสังคม ชอบใช้ชีวิต การได้เลือกหยิบจับ ทดลองสินค้า โดยเฉพาะเครื่องสำอาง น้ำหอม อีกอย่างอีฟแอนด์บอยเป็นธุรกิจที่กำลังเติบโต เราไม่ได้มีสาขามากมาย หากเทียบกับร้านวัตสันที่มี 600 กว่าสาขา จึงยังไม่ถึงเวลาที่เราจะหยุดขยายร้าน แต่จะทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปและระมัดระวัง”

อย่างไรก็ตาม นับว่าโชคดี เพราะแม้จะเน้นการขายหน้าร้านเป็นหลัก แต่อีฟแอนด์บอยเริ่มขยับเข้าสู่ออนไลน์ในปี 2562 ก่อนโควิดเล็กน้อย แต่ยอดขายผ่านช่องทางออนไลน์ยังอยู่ในระดับไม่สูงนักราว 10%

อภิเชต สีตกะลิน
ประธานกรรมการ เกียกรุงเทพฯ บริษัท โคเรีย มอเตอร์ จำกัด หนึ่งในผู้จำหน่ายรถ “เกีย” จากเกาหลี

“3 เดือนที่ผ่านมา ตลาดรถยนต์โดยรวมไปได้ด้วยดี แต่ปัญหาใหญ่สุดของผู้จำหน่ายรถยนต์คือ มีรถยนต์ในบางรุ่นไม่เพียงพอส่งมอบให้ลูกค้า เนื่องจากการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ชิป ซึ่งเกิดขึ้นกับผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลก”

โดยเฉพาะรถยนต์รุ่นใหม่ๆที่มีเทคโนโลยีทันสมัย ซึ่งจะมีระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ซับซ้อน และมีระบบช่วยในการขับขี่ต่างๆ ทำให้ต้องใช้ชิปจำนวนมากในรถแต่ละคัน เมื่อชิปขาดแคลน จึงกระทบต่อการส่งมอบรถให้ลูกค้า อาจจะต้องรอรับรถนานกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม คาดว่ากลางปีนี้เป็นต้นไป ปัญหาการขาดแคลนชิปจะได้รับการแก้ไขและช่วยให้ลูกค้า “เกีย คาร์นิวัล” รับรถได้ตามปกติ ไม่ต้องรอรถนานจนเกินไป

สถานการณ์ตลาดรถยนต์ในขณะนี้ ด้วยราคาเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นมาก ผู้ใช้รถจำนวนมากจึงหันไปเลือกซื้อรถยนต์ประหยัดเชื้อเพลิง และรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ส่งผลให้ตลาดรถไฟฟ้าขยายตัวแบบก้าวกระโดด

“เกียได้นำรถไฟฟ้ารุ่นโซล อีวี เข้ามาจำหน่าย ขณะที่เครื่องยนต์ดีเซล ในรุ่นคาร์นิวัล ที่ขึ้นชื่อเรื่องความประหยัด สภาพการใช้งานจริงเฉลี่ย 16-17 กิโลเมตรต่อลิตรยังคงได้รับความนิยมต่อเนื่อง คำถามหลักของลูกค้าในช่วงนี้คือ ความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ซึ่งผู้จำหน่ายต้องเตรียมเอกสารอ้างอิงอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง เพื่อให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจ”

ผู้จำหน่ายต้องปรับตัวตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงต่างๆ อย่างรวดเร็วที่สุด พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้า ว่าจะได้รับสินค้าและบริการที่ได้มาตรฐานตามที่ลูกค้าคาดหวัง ต้องพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง ฝึกอบรมเพิ่มทักษะความรู้ที่จำเป็นในการทำงาน เพื่อส่งมอบงานที่มีคุณภาพไปสู่ลูกค้า

“อยากฝากรัฐบาลในเรื่องอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินขอไม่ให้สูงเกินไป เพราะจะส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้า ตลอดจนการขยายธุรกิจของผู้ประกอบการในอนาคต ขณะเดียวกัน การสร้างอีโคซิสเต็มวางรากฐานไปสู่ผู้นำรถ EV ในภูมิภาคอย่างจริงจัง ชัดเจน โดยเฉพาะการส่งเสริมให้เกิดการจ้างงาน การลงทุนจากผู้ผลิตชิ้นส่วน โรงงานประกอบรถ EV เป็นอีกเรื่องที่ฝากไว้เพื่อให้ประเทศได้รับประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยในระยะยาว”

ไตรสรณ์ วรญาณโกศล
กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส พี วี ไอ จำกัด (มหาชน) หรือ SPVI

จากตลาดรถยนต์ มาต่อที่ตลาดมือถือ ซึ่ง SPVI ระบุว่า “ไตรมาสแรกของปีนี้ ยอดขายตกลงไปเล็กน้อย จากการเปิดตัวไอโฟน 13 ที่ขยับเร็วขึ้น เปิดตัวตั้งแต่วันที่ 8 ต.ค.2564 จากปกติไอโฟนรุ่นใหม่จะทำยอดขายพีกได้ในช่วงเดือนแรกจากการแห่แหนซื้อของเหล่าสาวก และผ่านเดือนแรกไปก็จะซาลง”

“ปกติแอปเปิลจะเปิดตัวไอโฟนในช่วงเดือน พ.ย. โดยไอโฟน 12 เปิดตัววันที่ 27 พ.ย. 2563 ทำให้ยอดรับรู้รายได้ขยายไปถึงไตรมาสแรกของปีถัดมา แต่ไอโฟน 13 เปิดตัวและวางจำหน่ายเร็วกว่าปกติทำให้รับรู้รายได้ในไตรมาส 4 ปีที่แล้ว และ 3 เดือนแรกของปีนี้ไม่มีสินค้าเร่งยอดขาย ประกอบกับ “ไอแพด” ก็มีปัญหาซัพพลายเชน ชิปขาดตลาด ผู้ผลิตหลักอย่างจีน ประกาศนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero Covid) ทำให้กำลังผลิตตึงตัว ยอดขายบางส่วนจึงหายไป” ภาพรวมตลาดสินค้าไอทีช่วง 2 ปีของโควิดยังเติบโตได้ดีเยี่ยม จากกระแสทำงานและเรียนออนไลน์ SPVI ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายหลักผลิตภัณฑ์แอปเปิล มีไอโฟน-ไอแพดเป็นสินค้าเรือธง พูดได้ว่าไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เพราะลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในระดับกลางถึงบน เข้าใจว่ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจเป็นกลุ่มลูกค้าระดับ C ลงมา ซึ่งเป็นลูกค้าส่วนน้อย โดยปี 2564 ทำยอดขายได้ 5,500 ล้านบาท เติบโต 53% กำไร 125 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 71%

ปีนี้เราตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะทำยอดขายให้ได้แตะ 6,000 ล้านบาท จากการบุกเชิงรุกสู่ตลาดการศึกษา เพราะปีนี้แอปเปิลมีนโยบายมอบส่วนลดพิเศษให้กับลูกค้าไอแพดในกลุ่มเด็กประถม มัธยมต้น มัธยมปลาย เพิ่มเติมจากเดิมมอบส่วนลดพิเศษให้เฉพาะกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นตลาดไอแพดกลุ่มเด็กนักเรียนได้เต็มสูบ โดยเฉพาะกลุ่มโรงเรียนรัฐบาลที่มีอยู่ 36,000 แห่งทั่วประเทศ ด้วยไอแพดที่ราคาเริ่มต้นเบาๆ ระดับหมื่นนิดหน่อย

ตลาดการศึกษายังมีพื้นที่ให้เติบโตอีกมาก SPVI จึงมีแผนเพิ่มสาขา โดยจับมือกับเอไอเอสบุกรั้วมหาวิทยาลัย ในนามร้าน A Store ภายใต้คอนเซปต์วางจำหน่ายมือถือหลากหลายแบรนด์ รวมทั้งขยายร้าน Mobi ซึ่งเป็นร้าน SPVI เองที่จำหน่ายสินค้าไอทีมือถือหลากหลายแบรนด์เช่นกัน เพื่อเก็บตกลูกค้ากลุ่มอื่นๆ ที่เหลืออยู่

ส่วนธุรกิจหลักในฐานะตัวแทนจำหน่าย 1 ใน 4 แบรนด์หลักของแอปเปิล ประเทศไทย ปัจจุบันมีสาขาร้าน iStudio iBeat และ Ustore 66 แห่ง และมีเป้าหมายขยายเพิ่มในปีนี้อีก 10 สาขา

จิราพร ขาวสวัสดิ์
ประธานเจ้าหน้าที่และกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์

“3 เดือนที่ผ่านมาของปี 2565 ถือเป็นเรื่องราวที่ดีของโออาร์ เพราะเป็นช่วงรัฐบาลผ่อนปรนมาตรการควบคุมการระบาดของ
โควิด-19 ช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายอย่างเกิดขึ้น ประกอบกับประชาชนได้รับวัคซีนป้องกันโควิด มีการดูแลตัวเองตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ส่งผลให้ยอดการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นเทียบกับปี 2564”

ทั้งนี้ แม้เศรษฐกิจ 3 เดือนแรกของปีนี้ดูจะซบเซาจากวิกฤติโควิด-19 ราคาน้ำมันแพง ราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้น กำลังซื้อของประชาชนยังไม่ฟื้น ยังมีสงครามระหว่างยูเครน-รัสเซีย แต่ยอดการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นสวนทาง เนื่องจากประชาชนเริ่มขยับตัวเดินทางท่องเที่ยว ปรับตัวใช้ชีวิตประจำวัน เว้นระยะห่าง ดูแลตัวเองให้ห่างจากโควิดได้แล้ว

อย่างไรก็ตาม ยอมรับในช่วงวิกฤติโควิดระบาดหนักที่ผ่านมา มีการล็อกดาวน์ประเทศ ร้านค้าในสถานีบริการน้ำมันประสบปัญหา โออาร์ก็ลดค่าเช่าที่ ลดค่าแฟรนไชส์ เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในยามลำบาก เพราะโออาร์ ถือคติ เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เราจะโตไปด้วยกัน

ขณะเดียวกัน โออาร์เองก็ต้องบริหารความเสี่ยง ต้องบริหารจัดการการจัดหาน้ำมัน การขายและขนส่ง เพื่อให้น้ำมันมีเพียงพอต่อความต้องการใช้ของประชาชน สร้างเสถียรภาพความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ ซึ่งเป็นพันธกิจหลักของโออาร์ และขอย้ำว่า ถึงแม้ราคาจะสูง น้ำมันก็จะไม่ขาดแคลน เพราะเราได้วางแผนรับมือไว้แล้ว

“ไม่หนักใจต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันแพง เพราะเชื่อว่าเป็นเหตุการณ์ช่วงสั้นๆ ด้วยเหตุผลมาจากในปัจจุบัน สถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย ความต้องการใช้น้ำมันเพื่อการเดินทางเพิ่มมากขึ้น ขณะที่กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ โอเปคคงปริมาณการผลิต รวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสงครามยูเครนและรัสเซีย”

ประเทศไทยของเราเคยผ่านยุคน้ำมันราคาแพงมาหลายครั้งและขณะนี้ก็ยังไม่ถือว่าวิกฤติเมื่อเทียบกับครั้งที่ผ่านมา เราเคยเจอกับราคาน้ำมันตลาดโลกอยู่ที่ 140 เหรียญฯต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันเบนซินในประเทศลิตรละ 49.15 บาท ดีเซลลิตรละ 43.64 บาท เรายังผ่านมาได้ เพราะคนไทยยอมรับได้ว่าเราต้องนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ แต่ในฐานะคนไทยผู้ใช้น้ำมันในภาวะน้ำมันแพงเช่นวันนี้ก็ต้องวางแผนการเดินทาง เพื่อใช้น้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า

โออาร์ ก็จะช่วยสร้างโอกาสให้เอสเอ็มอี สตาร์ตอัพ และชุมชนเติบโตไปพร้อมๆกัน สนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าด้วยการติดตั้งจุดชาร์จไฟฟ้าในสถานีบริการน้ำมัน และนอกสถานี โดยมีเป้าหมายปีนี้จะมีจุดชาร์จกว่า 450 จุด กระจายอยู่ทั่วประเทศเป็นทางเลือกให้ประชาชน เพราะเราเชื่อในพลัง “ไทยช่วยไทย” จะนำไทยผ่านพ้นทุกวิกฤติไปด้วยกัน

จันทร์นภา สายสมร
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เทคโนเซล (เฟรย์) จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายฟิล์มกรองแสงรถยนต์และอาคาร “ลามิน่า”

“ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ประเทศควบคุมสถานการณ์โควิดได้ดีขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อในอุตสาหกรรมรถยนต์เติบโตดีขึ้น แต่อาจสะดุดบ้างจากสงครามยูเครนรัสเซีย ซึ่งกระทบความเชื่อมั่นผู้บริโภคและยอดขายชะลอตัวลง ตลาดหลักของฟิล์มกรองแสงกว่า 90% มาจากตลาดรถยนต์ เมื่อรถยนต์ชะลอตัวย่อมส่งผลต่อตลาดฟิล์ม แต่ในไตรมาสแรกลามิน่าทำได้ดี สร้างยอดขายได้ตามเป้าที่วางไว้ ตลาดฟิล์มบ้านและอาคารค่อนข้างเสถียร ไม่แกว่งตัวมาก”

ลามิน่าฟิล์มก่อตั้งมากว่า 27 ปีผ่านวิกฤติใหญ่มามากมาย และทุกครั้งแนวทางรับมือหลักๆ จะเป็น 3 ส่วน คือ 1.มีภูมิคุ้มกันในตนเอง โดยช่วงที่มีผลประกอบการที่ดี เราจะกันผลกำไรส่วนหนึ่งเป็นทุนสำรอง เวลาที่มีวิกฤติเราจะนำทุนส่วนนี้มาเติมหรือต่อยอด ผ่อนหนักเป็นเบาได้อย่างไม่สะดุด 2.การสร้างความเชื่อมั่นให้กับครอบครัวของเรา ซึ่งหมายถึงพนักงานทุกคนให้มั่นใจว่าองค์กรมั่นคง พร้อมเดินหน้าโดยไม่ลดเงินเดือนหรือสวัสดิการ รวมทั้งตอกย้ำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นในคุณภาพ ความคุ้มค่าและบริการที่ดี เพราะเราเข้าใจว่าในช่วงวิกฤติผู้บริโภคจะใช้เงินอย่างคุ้มค่าที่สุด ส่วนข้อ 3.คือ การบริหารจัดการภายในให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เรามุ่งสร้างระบบงานขายและการบริหารจัดการให้ดีมีประสิทธิภาพ ใช้งบประมาณที่คุ้มค่าสูงสุด เพื่อให้ผ่านทุกวิกฤติได้อย่างแข็งแกร่ง

“ฟิล์มลามิน่าเราตอบโจทย์เรื่องราคาที่สมเหตุสมผล มีคุณภาพที่เชื่อถือได้ และไม่ต้องกังวลเรื่องการให้บริการผ่านศูนย์ตัวแทนจำหน่ายที่มีเกือบ 800 แห่ง และโชว์รูมรถยนต์อีกกว่า 2,000 โชว์รูมลามิน่ายังต่อยอดด้วยการเปิดตัวฟิล์มกรองแสงรุ่นใหม่ ลามิน่า ดิจิทัล อีวีบูสต์ ที่ออกแบบมาเพื่อรถไฟฟ้าอีวีและสมาร์ทคาร์โดยเฉพาะ ซึ่งถือเป็นฟิล์มกรองแสงแรกและ แบรนด์เดียวในเมืองไทยที่มีฟิล์มสำหรับรถอนาคต”

“ลามิน่า” ขอเป็นกำลังใจให้กับคนไทยทุกคน เราเชื่อว่าประเทศไทยของเราเข้มแข็ง มั่นคง ช่วงเวลานี้ต้องช่วยกันบริหารจัดรายรับรายจ่ายให้ดี ช่วยประคับประคอง ช่วยเหลือกันและกัน เราย่อมผ่านพ้นทุกวิกฤติได้อย่างแน่นอน

อารมณ์ กลัดแพร
เจ้าของร้านข้าวแกงแม่อ้น หมูทอดสะพานหัน (เจ้าเก่า)

มาถึงอาหารการกิน “สตรีทฟู้ดเจ้าดัง” ซึ่งยอมรับว่าสถานการณ์ขณะนี้อยู่ในระดับที่หนักมาก “เปิดร้านขายข้าวแกงมาเป็นเวลาเกือบ 40 ปี ไม่เคยเจอวิกฤติครั้งใด หนักหนาสาหัสเท่าครั้งนี้ ช่วงที่เกิดการระบาดของโควิดที่ใช้มาตรการล็อกดาวน์ เราต้องปิดร้าน ต่อมาแม้จะเปิดร้านได้ แต่ห้ามนั่งทานในร้าน”

และนับตั้งแต่ต้นปี 2565 สถานการณ์หนักกว่าเดิม นับเป็นช่วง 3 เดือนที่ยากลำบากมาก เพราะราคาต้นทุนวัตถุดิบแพงทุกชนิด ตั้งแต่เนื้อหมู น้ำมันพืช ก๊าซหุงต้ม พาเหรดกันขึ้นราคาพร้อมกันทุกอย่าง และถึงแม้ต้นทุนของอาหารจะขึ้นราคา แต่ข้าว
ราดแกงไม่ได้ขึ้นราคาเลย ยังคงราคาเดิม 50 บาท ปริมาณเท่าเดิม

อย่างไรก็ตาม สำหรับเมนูหมูทอด หมูเค็ม เราต้องทยอยปรับขึ้นมาเรื่อยๆ ตามค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ค่าแรงและต้นทุนก็เพิ่มขึ้น โดยจากเดิมที่เราขายอยู่ 450-500 บาท กิโลกรัม (กก.) ปัจจุบันเพิ่มเป็น 900 บาทต่อ กก. และทำจำนวนน้อยลง ขายตามออเดอร์ จากเดิมมาซื้อเมื่อใด โทรศัพท์สั่งเวลาใด ก็จะทอดส่งให้ลูกค้าสดๆใหม่ แต่ปัจจุบันต้องปรับเปลี่ยน สั่งจองล่วงหน้า เพราะทุกวันนี้จะทอดหมูแค่รอบเดียว

“เนื้อหมูราคา 250 บาท ซื้อ 10 กก. ทอดหมูเค็มได้ 4 โลครึ่ง ถ้าไม่ขายราคา 900 บาทก็จะขาดทุน เราแบกรับภาระขาดทุนตลอดไม่ไหว จึงต้องปรับเปลี่ยนใช้วิธีทำตามออเดอร์ ทำเฉพาะขายวันต่อวัน ลดปริมาณการทำลงด้วย”

สถานการณ์ราคาสินค้าแพงวันนี้ ถือว่าหนักหนาสาหัสมาก อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือ ช่วยแก้ปัญหาราคาสินค้าแพง เป็นไปได้ไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นพร้อมๆทุกอย่างกัน เพื่อช่วยเหลือพ่อค้า แม่ค้า ให้ประคองการทำธุรกิจไปพลางก่อน จนกว่าจะผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ และรัฐก็จะมีรายได้เพิ่มจากการจัดเก็บภาษี

“อยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาราคาสินค้าแพง เพราะตอนนี้ต้องท่องคาถาคำว่าอดทน และประคองธุรกิจกันไปให้อยู่รอด อะไรที่ไม่จำเป็นก็ต้องตัดหมดแล้ว และต้องสู้ต่อไป สู้ไปจนกว่าไม่ไหว เพราะประกอบอาชีพร้านขายข้าวแกงมาเป็นเวลา 37 ปีแล้ว และต้องทำต่อไป”

ฤทธิ์ ธีระโกเมน
ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

“แม้ว่าธุรกิจในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2565 จะไม่ได้ถูกปิดล็อก ลูกค้าเข้ามานั่งทานในร้านได้ แต่ความมั่นใจของผู้บริโภคก็ยังกลับมาเพียง 70% เท่านั้นโดยประมาณ ทุกคนมีความระมัดระวังตัวเองในการออกมาสังสรรค์นอกบ้าน ทำให้ยอดขายของเรากลับมาเพียง 70-80% เช่นกันเมื่อเทียบกับก่อนจะมีโควิดในปี 2562”

ภาวะตลาดในขณะนี้จึงอยู่ในลักษณะทรงตัวเพื่อรอเวลาให้วิกฤติโควิดผ่านพ้นไป ซึ่งก็คาดว่าภายในปี 2565 นี้จะเกิดขึ้นได้ ขณะเดียวกันปัจจัยที่น่าจับตามองสำหรับธุรกิจร้านอาหาร คือการขาดแคลนแรงงาน และภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งทำให้วัตถุดิบต่างๆมีต้นทุนที่สูงขึ้น มากน้อยแล้วแต่ผลกระทบอยู่ระหว่าง 5-25% ขึ้นไป จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง ช่วยให้ธุรกิจยังคงมีกำไร และดำเนินอยู่ต่อไปได้

ทางกลุ่ม MK กรุ๊ป ซึ่งประกอบด้วยแบรนด์หลักๆ คือ MK Yayoi แหลมเจริญ ซีฟู้ด ฯลฯ ได้ปรับวิธีการทำงาน โดยนำหุ่นยนต์มาใช้ทดแทนแรงงานประมาณ 5-10% เพิ่มช่องทางการจำหน่ายแบบ delivery เพื่อรองรับและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้เพิ่มขึ้น ลงทุนอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน เช่น Solar Roof บนหลังคาของโรงงานทุกแห่ง รวมถึงส่งเสริมการทำงานที่บ้าน และแบบ Hybrid เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพการทำงานที่ดี และปลอดภัยต่อพนักงาน

เนื่องจากวิกฤติครั้งนี้มีความรุนแรงกว่าทุกครั้งที่เคยประสบมาในรอบเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา และหนทางแก้ไขก็ไม่ชัดเจน และไม่มีตัวอย่างให้ทำตาม ทุกคนก็ทำไปตามเหตุการณ์เฉพาะหน้า

“อยากฝากข้อคิดว่า ในทุกวิกฤติย่อมมีโอกาส เราคงต้องใช้ความอดทนเพื่ออยู่รอดผ่านพ้นไปได้ โดยต้องรักษาทรัพยากรทั้งคน เงิน ความรู้ความสามารถ ฐานลูกค้าและแบรนด์เนมที่ดีเอาไว้ เพราะสิ่งเหล่านี้จะมีประโยชน์อย่างยิ่งในช่วงฟื้นฟูธุรกิจหลังโควิดผ่านไป ธุรกิจต้องไม่ท้อแท้ และรัฐบาลจำเป็นต้องช่วยธุรกิจขนาดเล็กที่มีทรัพยากรไม่เพียงพอให้ประคองตัวอยู่รอดต่อไป ขอให้ทุกคนปลอดภัยและมีความสุขถ้วนหน้า”.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ