อดีตผู้ว่าการ ธปท.รุมสับรัฐบาล ประชานิยมเกินตัว-ฐานะการเงินง่อนแง่น

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

อดีตผู้ว่าการ ธปท.รุมสับรัฐบาล ประชานิยมเกินตัว-ฐานะการเงินง่อนแง่น

Date Time: 5 เม.ย. 2565 06:10 น.

Summary

  • อดีตผู้ว่าการ ธปท.กังวลฐานะการเงินประเทศ รัฐใช้เงินไม่มีเป้าหมายชัด ทำขาดดุลคลังยาวนาน–หนี้สูง ระบุนโยบายการเงินยังต้องช่วยแก้ปัญหา และกระตุ้นเศรษฐกิจ ยัน ธปท.เป็นอิสระ ไม่อยู่เหนือคลัง

Latest

“อุตสาหกรรมแบตเตอรี่”  จิ๊กซอว์ที่ต้องต่อให้เต็ม สานฝันไทย “ฮับผลิต EV” ภูมิภาค

อดีตผู้ว่าการ ธปท.กังวลฐานะการเงินประเทศ รัฐใช้เงินไม่มีเป้าหมายชัด ทำขาดดุลคลังยาวนาน–หนี้สูง ระบุนโยบายการเงินยังต้องช่วยแก้ปัญหา และกระตุ้นเศรษฐกิจ ยัน ธปท.เป็นอิสระ ไม่อยู่เหนือคลัง แต่ไม่ทำตามทุกเรื่อง ต้องกล้าใช้นโยบายที่คนไม่ชอบและเข้มงวด หากจำเป็น เพื่อประคองเศรษฐกิจให้อยู่รอด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดงานเสวนา “เหลียวหลัง แลหน้า กับผู้ว่าการ ธปท.” ในโอกาสครบรอบ 80 ปี ธปท. โดยมี 6 อดีตผู้ว่าการ ธปท.ร่วมเสวนา ท่ามกลางความท้าทายของเศรษฐกิจในปัจจุบันและสภาพแวดล้อมที่จะเปลี่ยนไปในอนาคต ประกอบด้วย นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล นางธาริษา วัฒนเกส นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล และนายวิรไท สันติประภพ

ห่วงนโยบายคลังสร้างภาระหนี้

ทั้งนี้ ในเรื่องการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจขณะนี้ การดำเนินนโยบายการเงิน การคลัง และการดำเนินการของ ธปท.นั้น นายชัยวัฒน์ ให้ความเห็นว่า นโยบายการคลังขณะนี้เป็นจุดที่เป็นห่วงมาก เพราะหากมองอย่างเป็นกลาง ภาครัฐอยู่ในฐานะที่น่าเป็นห่วง เพราะเราขาดดุลติดต่อกันมานานเหลือเกิน และภาระหนี้สูงขึ้นเรื่อยๆ แม้ตอนนี้ไม่ใช่ขาดดุลคู่ เพราะดุลบัญชีเดินสะพัดยังเป็นบวก และมีเงินออมส่วนรวม แต่ปัญหาคือ รัฐบาลทำให้คนเชื่อว่าประชานิยมเป็นเรื่องธรรมดา มีอะไรก็ใช้จ่าย จริงๆฐานะการคลังตอนนี้ยังซ่อนปัญหาระยะยาวไว้มาก เมื่อไรการคลังไม่สามารถดูแลตัวเองให้ดีกว่านี้ ภาระจะตกมาที่นโยบายการเงิน

“ผู้ว่าการ เศรษฐพุฒิพูดกับผมเสมอ ปัญหาเศรษฐกิจหลายเรื่อง ต้นเหตุอยู่ที่ภาคเศรษฐกิจจริง แต่มาโผล่ที่ระบบการเงิน การเงินไม่มีเสถียรภาพ เราอยู่ปลายเหตุ แต่ต้องรับภาระแก้ปัญหา ซึ่ง ธปท.ต้องพยายามออกแรงเหมือนในอดีต ผู้ว่าการต้องพูดคุยกับรัฐบาล ส่วนมากเขาจะไม่ค่อยฟัง หากเป็นรัฐบาลที่มาจากการเมือง ผมคิดว่าเราจะเหนื่อยมาก แต่ต้องทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด หากเมื่อไรจำเป็นชัดเจนว่าเราจะต้องทำนโยบายที่ยาก นโยบายที่เข้มงวด ที่คนอื่นไม่ชอบ แต่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เราต้องใจแข็งทำ เพราะถ้าไม่มีเราเป็นด่านสุดท้าย ก็ไม่รู้ว่าเศรษฐกิจจะตกเหวไปอยู่ที่ไหน”

ธปท.เป็นอิสระแต่ไม่อยู่เหนือคลัง

ขณะที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า นโยบายการคลังเหมือนไม่มีนโยบาย รัฐบาลใช้เงิน
ไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ว่าจะขาดดุลแค่ไหน ประเทศตอนนี้ต้องเน้นการมีนโยบายการเงินที่จริงจัง
และต้องเดินไปตามกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ แต่จะต้องเข้าไปช่วยกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจพอสมควร เพราะถ้าไม่มีการขยายตัว ภาษีที่จะเก็บได้ ก็จะไม่มี ตอนนี้คนที่ควรดำเนินนโยบายการคลัง ไม่ทำในสิ่งที่ควรทำ ถ้าคลังดำเนินนโยบายการคลัง และนโยบาย
การเงินสนับสนุนจะหมดปัญหาต้องอยู่ที่ผู้นำรัฐบาลจะคิดหรือไม่คิด

“ส่วนความเป็นอิสระของ ธปท.จะต้องทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ไม่ต้องคำนึงว่าจะต้องเป็นที่พอใจของผู้มีอำนาจและนักการเมือง แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นอิสระโดยไม่ฟังใคร ต้องฟังความเห็นหน่วยงานอื่นๆ ผู้ว่าการ ธปท. ต้องประสานงานได้กับ รมว.คลัง ให้เข้าใจเป็นอย่างดี แต่ไม่ควรทำตัวเหนือคลัง และไม่ใช่ทำตามเขาหมด ต้องฟังเขาให้เข้าใจ และหาทางที่ดีที่สุดแก่ประเทศ และให้ถือว่าธนาคารพาณิชย์เป็นลูก ไม่ใช่ศัตรู ถ้าผิดก็ลงโทษ แต่ไม่ใช่ทำลาย”

ด้านนายประสาร กล่าวว่า มาถึงจุดนี้ ปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจไทย อาจไม่ใช่แค่นโยบายการเงิน และการคลัง หรือเศรษฐกิจจริง แต่เป็นเรื่องระบบการบริหารจัดการและธรรมาภิบาลของประเทศ เป็นเรื่องของระบบยุติธรรม ซึ่งคนไม่น้อยเห็นว่าไม่มีความน่าเชื่อถือ ทำให้การ
ปรับปรุงระบบ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจทำไม่ได้จริง จึงเป็นเรื่องที่กว้างกว่า และเป็นสิ่งที่ต้องการการคิดใหม่ทั้งหมด ต้องการการปรับโครงสร้างทั้งระบบเศรษฐกิจและการเมือง
ย้ำต้องกล้าแก้ปัญหาที่บิดเบือน

ขณะที่ ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวว่า ในการร่าง พ.ร.บ.ธปท.ช่วงที่ตนทำนั้น เรามองถึงความเป็นอิสระ คือ ผู้ว่าการ ธปท.มีอิสระเลย แต่รัฐบาลมองว่า ธปท.ก็เป็นส่วนหนึ่งของราชการ จะเป็นอิสระทั้งหมดไม่ได้ และสุดท้ายปรับเป็นว่า หาก รมว.คลังจะให้ผู้ว่าการ ธปท.ออก ต้องให้เหตุผล ซึ่งทำให้การปลดผู้ว่าการยากขึ้น สถานการณ์นี้ถือว่าดี เพราะทุกเรื่องเป็นเจตนาดีของทุกคน เช่นเดียวกับการกำหนดกรอบนโยบายการเงิน ซึ่งหลักๆเป็นหน้าที่ของ ธปท. แต่กฎหมายกำหนดให้ต้องส่งเป้าหมายให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติทุกปี “การทำงานในโลกก็เป็นอย่างนั้น ระหว่างผู้ว่าการ ธปท.กับ รมว.คลัง หรือนายกฯ ใครชนะใจประชาชน คนนั้นชนะ กฎหมายเราออกมาเป็นลูกครึ่งแบบนี้ แต่การบริหารงานของ ธปท.ถือว่าดี ไม่เป็นอิสระเลย แต่ก็ถือเป็นอิสระระดับหนึ่ง”

ขณะที่นางธาริษา กล่าวว่า บทบาทที่ ธปท.จะต้องทำในระยะต่อไป คือ การดูแลนโยบายการเงิน และเสถียรภาพของระบบการเงิน แต่สำคัญสุดคือ พัฒนาความอยู่ดีกินดีของประชาชน ดังนั้น ธปท. ต้องเป็นตัวช่วยให้เครื่องจักรของเศรษฐกิจทำงานได้ปกติ เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ รวมทั้งช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขัน และลดความเหลื่อมล้ำ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในการทำธุรกิจจากเทคโนโลยี โลกดิจิทัล และ ESG (การดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล) นอกจากนั้น ต้องมองไปข้างหน้าเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ และดูแลความเสี่ยงต่างๆ

ด้านนายวิรไท กล่าวว่า “ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ และติดดิน” ยังเป็นหลักของ ธปท. มองว่า “ยืนตรง” คน ธปท.ต้องกล้าแก้ปัญหาที่บิดเบือน รวมทั้งการหลอกลวงทางการเงิน เพื่อช่วยประชาชน หรือในวิกฤติเศรษฐกิจ หากเราต้องทำอะไรในช่วงนั้น ที่อาจจะไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของ ธปท. แต่ก็ต้องทำ เช่น แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ขณะเดียวกัน ต้องคงความน่าเชื่อถือ ซึ่งขึ้นกับผลงานของเราที่จะช่วยแก้ปัญหา ประชาชน ส่วน “ติดดิน” คือ ช่วยแก้ไขปัญหาให้คนทุกระดับ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ