ปรับพอร์ตหลังเฟดขึ้นดอกเบี้ย ชู Private Asset และ Structure Note น่าลงทุน

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ปรับพอร์ตหลังเฟดขึ้นดอกเบี้ย ชู Private Asset และ Structure Note น่าลงทุน

Date Time: 21 มี.ค. 2565 12:48 น.

Video

“ไทยรัฐ โลจิสติคส์” ถอดคราบ “ยักษ์เขียว” มุ่งสู่ขนส่งครบวงจร | Thairath Money Talk

Summary

  • จับจังหวะปรับสินทรัพย์ลงทุนหลังประชุมเฟด แม้ตลาดหุ้นจีนเริ่มคลายกังวล แนะกระจายลงทุนใน Private Asset และStructure Note หนุนลดความผันผวนของพอร์ต

Latest


จับจังหวะปรับสินทรัพย์ลงทุนหลังประชุมเฟด แม้ตลาดหุ้นจีนเริ่มคลายกังวล แนะกระจายลงทุนใน Private Asset และ Structure Note หนุนลดความผันผวนของพอร์ต

เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 65 นายศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย SCB Chief Investment Office ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB CIO กล่าวว่า หลังจาก ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 25 bps สู่ระดับ 0.25%-0.5%

โดย SCB CIO มองว่าเฟด ให้ความสำคัญต่อเป้าหมายเสถียรภาพเงินเฟ้อ และเศรษฐกิจมีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรองรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่วนการลดงบดุลมองว่าเฟดจะประกาศรายละเอียด และเริ่มทำการลดงบดุลในการประชุมเดือน พ.ค. ทั้งนี้ ยังต้องติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมจากรายงานการประชุมเฟดที่จะถูกเปิดเผยในวันที่ 6 เม.ย.65 นี้

ทั้งนี้ สัญญาณราคาพลังงานและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าที่จะเป็นตัวกำหนดระดับการขึ้นดอกเบี้ยในแต่ละรอบการประชุม โดยเฉพาะการขึ้นดอกเบี้ยในรอบที่เหลือของปีจะมีโอกาสขึ้นได้มากกว่า 25 bps หรือไม่ หากสงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อ และราคาสินค้าโภคภัณฑ์และน้ำมันยังพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง หากเป็นเช่นนั้น มองว่าเฟดอาจมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยตามในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งอาจจะสร้างความผันผวนให้กับตลาดได้ต่อเนื่อง

SCB CIO คาดว่าผลกระทบต่อดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะสั้น (2 ปี) และระยะยาว (10 ปี) ยังอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น แต่อาจจะยังไม่เกิดสภาวะ Inverted Yield Curve (เส้นผลตอบแทนพันธบัตรที่กลับด้านจากปกติ จากการที่ระดับดอกเบี้ยระยะสั้นเพิ่มสูงขึ้นเร็วจนมีค่ามากกว่าระดับระยะยาว) ทำให้มองเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่เสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในระยะข้างหน้า

ขณะเดียวกัน ความผันผวนในตลาดหุ้นจีนยังไม่หมดไป แม้ตลาดเริ่มคลายความกังวลในช่วงสั้น พร้อมจับตาความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีน จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ในช่วงที่ผ่านมา ตลาดหุ้นจีนโดยเฉพาะหุ้น Offshore (จดทะเบียนนอกตลาดจีน) ปรับฐานรุนแรงทั้งจากความกังวลด้านการคุมเข้มกฎระเบียบ และความเสี่ยงที่หุ้นจีนบางบริษัทจะถูกถอดถอน (Delist) ออกจากตลาดสหรัฐฯ

SCB CIO มองประเด็นความเสี่ยงด้านการปฏิรูปกฎระเบียบ (Regulation Risk) ยังเป็นความเสี่ยงต่อหุ้นจีนในระยะข้างหน้า แต่เชื่อว่าขนาดของผลกระทบจะไม่รุนแรงดังเช่นในปี 2021 ที่ทางการจีนเน้นคุมเข้มทั้งอุตสาหกรรม แต่การคุมเข้มในระยะข้างหน้าจะเน้นเฉพาะบริษัทที่ไม่ทำตามกฎและขัดขืนคำสั่งมากกว่า

ด้านความกังวลการถูกถอดถอนออกจากตลาดสหรัฐฯ (Delisting Risk) โดยมองความเสี่ยงนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และเป็นที่รับรู้ของตลาดอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว หลังจาก HFCAA (Holding Foreign Companies Accountable Act) ถูกลงนามเป็นกฎหมายในสหรัฐฯ ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2020

ทั้งนี้ การเพิกถอนไม่ได้เกิดทันที โดยจะเกิดการเพิกถอนหุ้นออกจากตลาดเฉพาะในกรณีที่ PCAOB (Public Company Accounting Oversight Board) ของสหรัฐฯ ไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลจากผู้สอบบัญชีของบริษัทได้เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกันเท่านั้น อีกทั้ง กรณีเลวร้ายหากถูกถอดถอน หลายบริษัทจีนในตลาดสหรัฐฯ ยังสามารถกลับเข้ามาจดทะเบียนในตลาดฮ่องกงได้ ทำให้มองผลกระทบค่อนข้างจำกัด

สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามใกล้ชิดเพิ่มเติม คือ กรณีความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีน จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งหากสหรัฐฯ ออกมาตรการคว่ำบาตรหรือกีดการทางการค้าการลงทุนต่อจีนเพิ่ม จากการที่จีนไม่ยอมประกาศคว่ำบาตรรัสเซียตามชาติมหาอำนาจอื่นๆ

ความเสี่ยงนี้อาจสร้างความผันผวนต่อตลาดการเงินโลกได้มากในระยะต่อไป และจะยิ่งทำให้ความขัดแย้งสหรัฐฯ-จีนที่ตึงเครียดอยู่เดิม กลับมาเพิ่มความเข้มข้น และส่งผลกระทบต่อการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกได้ โดยเฉพาะต่อตลาดหุ้นจีนในอนาคต

SCB CIO มองกลยุทธ์การลงทุนในตลาดสินทรัพย์เสี่ยง เช่น ตลาดหุ้นโลก ยังมีความไม่แน่นอน การถือครองเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงเป็นสัดส่วนมากกว่าปกติยังเป็นสิ่งจำเป็นในช่วงสั้นเช่น 20-30% ของเงินลงทุน เพื่อรอจังหวะเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น ตลาดหุ้นโลก เมื่อความผันผวนลดลง ตลาดหุ้นไทยและเวียดนามยังน่าลงทุน และควรทยอยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนใน Private Assets เนื่องจากได้รับผลกระทบจากความผันผวนด้านราคาน้อยกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่น และการลงทุนในตราสารอนุพันธ์ Structure Note จะช่วยบริหาร Downside Risk ของพอร์ตการลงทุนได้ดีมากขึ้น

กลยุทธ์การลงทุนในตราสารหนี้ SCO CIO แนะนำลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุเฉลี่ยตราสาร (Duration) ต่ำเพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของดอกเบี้ยโลกขาขึ้น ส่วนตราสารทุน แนะนำทยอยลงทุนในตลาดหุ้นที่ได้รับผลกระทบต่ำจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน เช่น ตลาดหุ้นไทยและเวียดนาม เนื่องจาก ทั้ง 2 ประเทศ มีเสถียรภาพเศรษฐกิจแข็งแกร่งและตลาดหุ้นรับความผันผวนได้ดีในช่วงที่ผ่านมา สำหรับการจัดสรรพอร์ตการลงทุน SCO CIO แนะนำคงสัดส่วนการถือครองเงินสดและสภาพคล่องในระดับมากกว่าปกติ เช่น 20-30% ของเงินลงทุนในช่วงสั้น

พร้อมทยอยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนใน Private Assets ทั้งในส่วนของ Private Equity และ Private Debt เนื่องจากราคาสินทรัพย์ Private Assets เช่น หุ้นที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาด จะได้รับผลกระทบด้านราคาต่ำกว่าราคาสินทรัพย์ Public Assets เช่น หุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงการลงทุนใน Structured Notes เช่น หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง ให้ผลตอบแทนหรือมีมูลค่าเชื่อมโยงกับหลักทรัพย์อ้างอิง (Underlying Asset) ซึ่งอ้างอิงกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่น

เช่น ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ หุ้นรายตัว หุ้นหลายตัว ตราสารหนี้ โภคภัณฑ์ สกุลเงิน อัตราดอกเบี้ย ฯลฯ เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สามารถออกแบบและจำกัดความเสี่ยงได้ตามความเหมาะสม และมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ตามความเสี่ยงที่รับได้ในช่วงที่ตลาดหุ้นโลกและตลาดสินทรัพย์เสี่ยงอื่นยังมีความไม่แน่นอนสูง


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ