fintips by ttb แนะ 3 วิธีจัดการหนี้สินก่อนเป็นหนี้เสีย ทั้งหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อบุคคล หลังคนไทยยังรายได้เท่าเดิม แต่รายจ่ายเพิ่มลากยาวตั้งแต่โควิด-19 ระบาด
จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังคงต่อเนื่องอยู่จนถึงทุกวันนี้ งานหาย รายได้ลด ค่าใช้จ่ายเพิ่ม จึงเป็นสถานะทางการเงินที่หลายคนต้องเผชิญ บางคนกระทบหนักถึงขั้น แบกหนี้หลายก้อน ไม่ว่าจะเป็นหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อบุคคล ที่ต้องจ่ายทุกเดือน เมื่อนำมารวมกันทำให้เป็นหนี้ดอกเบี้ยสูง โดย fintips by ttb หรือ ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต ได้แนะนำวิธี 3 ช่วยจัดการหนี้ ดังนี้
1. ลิสต์รายการที่เป็นหนี้ออกมาทั้งหมด : ก่อนที่จะรู้ว่าปัญหาหนี้ของเรามีมากแค่ไหน ต้องรู้ก่อนว่ามีหนี้เท่าไร จ่ายต่อเดือนมากน้อยแค่ไหน ซึ่งหลายคนมักลืมลิสต์รายการต่างๆ ออกมา เนื่องจากกังวล และวุ่นวายอยู่กับการชักหน้าไม่ถึงหลัง การทำลิสต์รายการที่เป็นหนี้ทั้งหมดเป็นสิ่งจำเป็น เพราะจะช่วยให้เรารู้ว่าหนี้แต่ละก้อน มียอดจ่ายชำระจริงเท่าไร และดอกเบี้ยที่จ่ายต่อเดือนเท่าไร ก็จะช่วยให้วางแผนได้ง่ายขึ้น
2. เช็กกระแสเงินสดที่มีตอนนี้ว่าจะจ่ายไหวแค่ไหน : สิ่งที่ต้องรู้หลังจากเห็นจำนวนหนี้ทั้งหมด คือ สถานะการเงินของเรา ว่ารายรับมีเท่าไร และมีรายจ่ายแค่ไหน เหลือเงินเพียงพอที่จะจ่ายหนี้ตามลิสต์ในข้อแรกได้หรือไม่ หากเช็กแล้วพบว่า กระแสเงินสดเป็นบวกก็พอที่จะสบายใจได้ แต่ถ้าเกิดติดลบ หรือมีไม่พอจ่ายหนี้ ก็จะต้องวางแผนแก้ปัญหาต่อไป
นอกจากดูจำนวนเงินแล้ว ต้องพิจารณาถึงจำนวนดอกเบี้ยของการผ่อนชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ ด้วย เพราะหากดอกเบี้ยสูงเกินไป การลดดอกเบี้ยได้ในช่วงนี้ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ควรทำไม่แพ้กัน ซึ่งไม่เพียงจะช่วยลดรายจ่ายเท่านั้น แต่ยังเพิ่มเงินในกระเป๋าได้อีกด้วย หลังจากที่พิจารณาดูแล้ว เชื่อว่าหลายคนน่าจะรู้ตัวเองว่าปัญหาอยู่ตรงไหน
3. มองหาหนทางในการลดรายจ่ายและดอกเบี้ย : ทางเลือกที่ง่ายและทำได้เร็ว คือ การรวมหนี้เป็นก้อนเดียว หรือเรียกง่ายๆ ว่า การรวบหนี้ วิธีการคือ ขอสินเชื่อมาใหม่ 1 ก้อน เพื่อเอาไปเคลียร์หนี้เดิมให้หมดเพื่อจะได้เหลือภาระผ่อนแค่ทางเดียว
ทั้งนี้ หากมีบ้าน หรือรถที่เป็นชื่อตัวเอง สามารถนำไปค้ำประกันเพื่อขอสินเชื่อจะช่วยให้ดอกเบี้ยต่ำลงได้มากเมื่อเทียบกับบัตรเครดิต หรือ สินเชื่อบุคคลที่ดอกเบี้ยประมาณ 16-25% ต่อปี ถ้าวงเงินไม่สูงมาก อาจเลือกสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกันดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งเป็นทางเลือกในการจัดการหนี้ที่สะดวกเช่นกัน
ข้อดีของวิธีนี้คือ อัตราดอกเบี้ยต่ำลง ขณะเดียวกันก็ช่วยให้สามารถชำระค่างวดต่อเดือนน้อยลง และทำให้มีเงินสดมากขึ้นเพื่อนำไปใช้จ่ายกับเรื่องที่จำเป็นอื่นๆ ได้ ลองมาดูตัวอย่างเพื่อทำความเข้าใจให้มากขึ้นกันก่อนตัดสินใจ
ตัวอย่าง ปัจจุบันมีหนี้บัตรเครดิต 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 16% ต่อปี ผ่อนจ่ายขั้นต่ำเดือนละ 5,000 บาท มีสินเชื่อบุคคลยอดหนี้คงเหลือ 30,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 22% ต่อปี ผ่อนจ่ายค่างวดเดือนละ 3,000 บาท และมีสินเชื่อรถยนต์กับที่อื่นยอดหนี้คงเหลือ 150,000 บาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3.50% ต่อปี จ่ายค่างวดเดือนละ 10,000 บาท รวมแล้วมีภาระหนี้เดือนละ 18,000 บาท
ขั้นตอนต่อไป คือ รายได้ที่ได้รับและค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนเป็นเท่าไร และยังมีเงินเหลือพอที่จะจ่ายหนี้เดือนละ 18,000 บาทหรือไม่ รวมถึงดอกเบี้ยที่จ่ายอยู่ตรงนี้มากเกินไปไหม หากต้องการมีสภาพคล่องมากขึ้น หรืออยากลดดอกเบี้ยอาจต้องมองหาแนวทางการรวบหนี้เข้ามาเป็นทางเลือก
โดยวิธีการรวมหนี้ หรือ การรวบหนี้ คือ การรวมเป็นหนี้ก้อนเดียว ด้วยสินเชื่อประเภทต่างๆ ซึ่งมีทั้งสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน หรือ สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อบ้านแลกเงิน หรือรถแลกเงิน ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานะ และความพร้อมว่าจะเลือกสินเชื่อประเภทไหนที่เหมาะสมกับตัวเอง และประหยัดสูงสุด
จากตัวอย่าง ถ้าเราพิจารณาวิธีการรวบหนี้ด้วยสินเชื่อรถแลกเงิน เคลียร์หนี้ โดยนำรถยนต์มาใช้เป็นหลักประกัน ได้วงเงินสินเชื่อสูงถึง 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4% ต่อปี และระยะเวลาผ่อน 72 เดือน ทำให้เหลือภาระค่าผ่อนเพียงเดือนละ 9,214 บาท จากวงเงิน 500,000 บาท สามารถนำเงินส่วนหนึ่ง 230,000 บาท ไปปิดหนี้เดิมทั้ง 3 ก้อนให้เรียบร้อยก่อนได้ เพื่อรวบให้เหลือภาระหนี้เพียงทางเดียว และยังมีเงินเหลืออีก 270,000 บาท ไว้เสริมสภาพคล่องหรือใช้จ่ายกับเรื่องที่จำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน
หลายคนมักเข้าใจผิดคิดว่าสินเชื่อที่มีหลักประกัน เช่น บ้าน หรือรถ หากยื่นกู้แล้วจะทำให้เสียความเป็นเจ้าของไป หรือถ้าเป็นหนี้แล้วเราจะใช้สินทรัพย์เหล่านี้ไม่ได้ ในความเป็นจริงยังสามารถอยู่บ้าน หรือขับรถได้เหมือนเดิม เพียงแต่เรานำไปค้ำประกันเพื่อสร้างสภาพคล่องเพิ่มเติมในช่วงที่ต้องการเงินสด
สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ วินัยในการจ่ายหนี้ตรงตามเวลา และไม่สร้างหนี้เพิ่มก็จะช่วยให้ปลดหนี้ได้ตามแผนที่ตั้งใจไว้ เพียงเข้าใจในสินเชื่อ และมีความรอบรู้เรื่องกู้ยืมก็จะช่วยให้แก้ไขปัญหาด้านการเงิน และนำไปสู่การมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นได้