สงครามไม่เคยปรานีใคร รับสภาพวิกฤติน้ำมันทำ “แพงทั้งโลก”

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

สงครามไม่เคยปรานีใคร รับสภาพวิกฤติน้ำมันทำ “แพงทั้งโลก”

Date Time: 14 มี.ค. 2565 07:00 น.

Summary

  • วิกฤติน้ำมันแพงที่ตามหลอกหลอนคนไทยมาตั้งแต่ปลายปี 2564 ด้วยราคาน้ำมันดิบที่ดีดตัวขึ้นสูงจากความต้องการใช้ที่เริ่มกลับมาหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายในหลายประเทศสวนทางกับสต๊อกน้ำมันของกลุ่มโอเปก

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

วิกฤติน้ำมันแพงที่ตามหลอกหลอนคนไทยมาตั้งแต่ปลายปี 2564 ด้วยราคาน้ำมันดิบที่ดีดตัวขึ้นสูงจากความต้องการใช้ที่เริ่มกลับมาหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายในหลายประเทศสวนทางกับสต๊อกน้ำมันของกลุ่มโอเปกที่ลดลงต่ำสุดในรอบ 15 ปี

เมื่อมีสงครามรัสเซีย-ยูเครนเข้ามาเป็นตัวเร่งซ้ำเติม ราคาน้ำมันจึงพุ่งทำสถิตินิวไฮการซื้อขายน้ำมันดิบเบรนท์ล่วงหน้าพุ่งสูงสุดไปแตะระดับ 139 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลสูงสุดในรอบ 14 ปี ที่ราคาสูงสุดเคยทำไว้ที่ 147 ดอลลาร์ เมื่อปี 2551 หลังสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตกคว่ำบาตรรัสเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตอันดับ 3 ของโลก ส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำมันของรัสเซีย

สิ่งที่น่ากังวลตามมาก็คือ ในทุกๆสงคราม ไม่ว่าจะเป็นสงครามอินโดจีน สงครามอ่าวเปอร์เซีย สงครามอิรัก เป็นต้น ปัญหาน้ำมันแพงจะเกิดนำหน้าก่อนตามด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอยทุกครั้ง สอดคล้องกับที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ออกมาระบุว่ามีแนวโน้มที่จะปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจลง จากที่ประเมินไว้เมื่อเดือน ม.ค. 2565 ว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้จะโต 4.4% ปรับลดจาก 5.9% ในปี 2563

ขณะที่ตัวเลขจากโกลด์แมน แซคส์ประเมินว่า ในทุกๆ 20 ดอลลาร์ที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ลดลง 0.30% สหรัฐอเมริกา ลดลง 0.30% ยุโรปลดลง 0.60% เอเชียแปซิฟิกลดลง 0.20-0.80% และประเทศไทยลดลง 0.10%

ท่ามกลางความผันผวนในทิศทางขาขึ้นของราคาน้ำมัน รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งประกาศตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร ตลอดจนตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) อยู่ที่ 318 บาทต่อถัง รวมทั้งขอความร่วมมือสินค้า 18 กลุ่มสำคัญ ตั้งแต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เครื่องดื่ม ปุ๋ยเคมี อาหารสัตว์ ไม่ให้ขึ้นราคา ก็ชักออกอาการ “เอาไม่อยู่” ส่งสัญญาณให้ “ทำใจ” หลังเงินที่ใช้อุดหนุนราคาพลังงานเริ่มร่อยหรอ

เริ่มจากราคาก๊าซหุงต้มที่จะปรับราคาสู่ระดับ 333 บาทต่อถังตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2565 เป็นต้นไป จากที่แท้จริงต้องอยู่ที่ถังละ 463 บาท การขึ้นราคา 15 บาทต่อถังถือว่าเป็นการลดภาระระดับหนึ่งแล้ว ส่วนราคาน้ำมันดีเซลคาดว่าจะตรึงไปได้ถึงเดือน พ.ค. ขณะที่ค่าไฟให้รอลุ้นวันที่ 16 มี.ค.นี้ ว่าจะขึ้นเท่าไร ไม่รวมราคาสินค้าอีก 18 กลุ่มที่กระทรวงพาณิชย์ขอความร่วมมือตรึงราคาไปจนสิ้นเดือน เม.ย.

สอดคล้องกับที่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์ รองนายก รัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ประกาศในงานแถลงข่าวปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า อยากให้ประชาชนช่วยกันประหยัด และ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2551 ในสมัยของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ยุคที่ราคาน้ำมันดีเซลถีบตัวสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 44.24 บาทต่อลิตร และน้ำมันเบนซิน ราคา 42.89 บาทต่อลิตร คนไทยหลายครอบครัวในยุคนั้นถึงกับต้องจอดรถไว้ที่บ้าน หยุดการใช้....

.....ส่วนวันนี้ สถานการณ์จะไปถึงจุดไหน เชิญติดตามอ่านได้จากรายงานของ “ทีมเศรษฐกิจ” สัปดาห์นี้....

เกวลิน หวังพิชญสุข
เกวลิน หวังพิชญสุข

เกวลิน หวังพิชญสุข

รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 24 ก.พ.2565 ตามมาด้วยการออกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการเงินต่อรัสเซียจากนานาประเทศที่นำโดยชาติตะวันตก กระทั่งขณะนี้ยังมีความไม่ชัดเจนว่าจะยุติลงได้เมื่อไรและอย่างไรนั้น จะส่งผลให้ราคาพลังงาน (น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ) และสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ทั้งวัตถุดิบอาหารและโลหะอุตสาหกรรม (ข้าวสาลี ปุ๋ยเคมี นีออน แพลเลเดียม ฯลฯ) มีแนวโน้มยืนระดับสูงในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของปี 2565 นี้

เนื่องจากทั้งรัสเซียและยูเครนต่างก็เป็นผู้ผลิตและส่งออกหมวดสินค้าเหล่านี้เป็นอันดับต้นๆของโลก อีกทั้งปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทานที่เดิมเริ่มจะทุเลาลงบ้างจากสถานการณ์การระบาดของโควิด สงครามที่เกิดขึ้นกลับสร้างแรงกดดันให้ปัญหานี้รุนแรงและเรื้อรังนานขึ้น

ทั้งนี้ แม้ในที่สุดแล้วทั้งสองชาติคงจะสามารถเจรจาและยุติการสู้รบระหว่างกันได้ แต่มาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียก็อาจจะไม่ถูกยกเลิกลงในทันที และการพลิกฟื้นประเทศจากความเสียหายของยูเครนก็คงต้องใช้เวลา ขณะที่การหาสินค้าทดแทนจากแหล่งอื่นหรือผลิตภัณฑ์อื่นเป็นเรื่องที่ทำได้ยากในเวลาเฉพาะหน้า นอกจากนี้เศรษฐกิจทั่วโลกก็ได้รับความบอบช้ำและถูกคาดการณ์ว่าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงกว่าที่คาด

สำหรับภาคอุตสาหกรรมไทยซึ่งนำเข้าพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์หลายรายการเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบและสนับสนุนการดำเนินกิจการ ย่อมจะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในภาวะที่ยอดขายของธุรกิจก็ยังไม่ฟื้นกลับมาอย่างเต็มที่นัก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเพิ่งจะเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิดแตกต่างจากเศรษฐกิจหลักสำคัญๆ ที่ได้ฟื้นตัวดีขึ้นชัดเจนมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว ประกอบกับทิศทางค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มผันผวนอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างน้อยในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ก็เป็นปัจจัยที่เพิ่มต้นทุนการนำเข้าด้วย โดยอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการปรับตัวสูงขึ้นของต้นทุนพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ ตลอดจนปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทาน ได้แก่

กลุ่มที่มีสัดส่วนต้นทุนพลังงานอย่างน้ำมันในปัจจัยการผลิตและการขนส่งค่อนข้างสูง อาทิ ขนส่ง (มากกว่า 50%) ประมง เหมืองแร่ (35-40%) ไฟฟ้า ค้าปลีกค้าส่ง (15-20%) โดยเฉพาะจากต้นทุนน้ำมันกลุ่มเบนซินที่ปรับตัวสูงขึ้นสอดคล้องไปกับราคาน้ำมันดิบตลาดโลก

ภาคการผลิตที่ใช้วัตถุดิบอาหารและโลหะอุตสาหกรรมในสัดส่วนที่มาก อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม เช่น ปศุสัตว์ (อาหารสัตว์) น้ำมันพืช เบเกอรี เบียร์ ผักผลไม้ (ปุ๋ยเคมี) เป็นต้น รวมไปถึงรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง บรรจุภัณฑ์

นอกเหนือจากต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งที่มีแนวโน้มยืนระดับสูงแล้ว ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ยังอาจเผชิญความท้าทายด้านต้นทุนอื่นๆ ที่ก็มีโอกาสจะปรับตัวขึ้นในช่วงข้างหน้าด้วย ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนค่าจ้างแรงงาน ซึ่งผู้เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและต้นทุนทางการเงิน ตามแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางชาติต่างๆ เพื่อดูแลเสถียรภาพเงินเฟ้อ ถึงแม้ทางการไทยน่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ให้นานที่สุด

ท่ามกลางแรงกดดันด้านต้นทุนที่สูงขึ้นในแต่ละอุตสาหกรรม สุดท้ายแล้วผู้บริโภคอาจหนีไม่พ้นที่จะได้รับผลกระทบด้านค่าครองชีพผ่านการปรับตัวขึ้นของระดับราคาสินค้าและบริการ ซึ่งคงจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการแบกรับภาระต้นทุนของผู้ประกอบการแต่ละรายว่าจะทำได้มากน้อยเพียงใด ตลอดจนสภาวะการแข่งขันในตลาด โดยในบางธุรกิจ ผู้ประกอบการอาจจำเป็นต้องยอมสูญเสียมาร์จิ้นหรือแม้กระทั่งขาดทุนเพื่อแลกกับยอดขายเพื่อให้มีสภาพคล่องหมุนเวียนกิจการ แต่ก็คงไม่ใช่ทุกกิจการที่จะสามารถทำเช่นนั้นได้ หรือทำได้เป็นระยะเวลานาน

สำหรับผลจากการปรับขึ้นของราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ดันราคาน้ำมันในประเทศให้ขยับสูงขึ้นนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินเบื้องต้นว่า ทุก 1 บาท/ลิตรของราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินที่เพิ่มขึ้น อาจส่งผลกระทบสุทธิต่อเศรษฐกิจไทยคิดเป็นราว 0.1% ต่อ GDP อย่างไรก็ตาม ผลต่อแต่ละภาคส่วนอาจจะแตกต่างกันตามสัดส่วนการพึ่งพาการใช้น้ำมันและความยืดหยุ่นในการปรับตัว

ชญาวดี ชัยอนันต์
ชญาวดี ชัยอนันต์

ชญาวดี ชัยอนันต์

ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ราคาพลังงานโลกปรับสูงขึ้นมาระยะหนึ่งแล้วจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลายประเทศในโลก โดยเฉพาะกลุ่มเศรษฐกิจหลัก และล่าสุดสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันดิบและสินค้าโภคภัณฑ์บางประเภทมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นไปอีก เนื่องจากทั้งสองประเทศเป็นผู้ผลิตหลักทั้งน้ำมันดิบ และสินค้าโภคภัณฑ์

“สถานการณ์การคว่ำบาตรยังยืดเยื้อ ทำให้ปีนี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยทั้งปีนี้น่าจะสูงถึงกว่า 100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล คิดเป็นเกือบ 45% จากปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อนั้น หลักๆมาจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น ประกอบกับราคาอาหารสดบางประเภทที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงก่อน เช่น ราคาเนื้อหมู ซึ่งมีส่วนทำให้ราคาเนื้อสัตว์อื่นและราคาอาหารสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นตาม แต่ยังไม่ได้เพิ่มขึ้นเป็นวงกว้าง

ดังนั้น แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 คาดว่าจะมีแนวโน้มสูงกว่าที่ ธปท. มองไว้ในการประมาณการครั้งก่อนในเดือน ธ.ค.ที่ 1.7% โดย ธปท.อยู่ระหว่างการประเมินตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของปีนี้ และจะเปิดเผยประมาณการใหม่ในการประชุม กนง. วันที่ 30 มี.ค.นี้”

ทั้งนี้ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนจะทำให้ค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงไทยที่จะเพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน จากผลกระทบทั้ง 4 ด้านหลักๆ คือ 1.ผลจากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์บางประเภทที่เพิ่มขึ้น 2.ผลกระทบจากค่าใช้จ่ายในการขนส่งที่จะเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน 3.ราคาอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลมายังราคาอาหารสดและอาหารสำเร็จรูปเพิ่มเติมจากช่วงก่อนหน้า และ 4.การส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการมายังราคาสินค้าที่อาจจะเริ่มเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อค่าครองชีพ โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อย เนื่องจากกลุ่มนี้มีสัดส่วนการบริโภคหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงถึง 45% เทียบกับครัวเรือนที่มีรายได้สูงที่ 26% ทำให้ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

“อย่างไรก็ดี ไทยยังไม่เกิด stagflation เพราะสัญญาณของการเกิด stagflation ต้องประกอบไปด้วย 1.อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง และ/หรือ 2.เศรษฐกิจหดตัวหรือยังไม่ฟื้น แต่สำหรับไทยนั้น เงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้นมาจากราคาพลังงานและอาหารสำเร็จรูปเป็นหลัก โดยยังไม่เห็นการขึ้นราคาในวงกว้างที่ไม่ได้เกี่ยวเนื่องโดยตรง และเศรษฐกิจไทยยังโตได้ 2–3% ในปีนี้ ไม่ได้หดตัว”

เกรียงไกร เธียรนุกุล
เกรียงไกร เธียรนุกุล

เกรียงไกร เธียรนุกุล

รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ยิ่งยืดเยื้อยิ่งสร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจ และเกิดความผันผวนของราคาพลังงานโลก โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ณ วันที่ 9 มี.ค.2565 ปรับตัวสูงขึ้นถึง 130 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 71% จากเมื่อเดือน มี.ค. 2564 และกลับลงมาเคลื่อนไหวในกรอบราคา 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา ลดลงกว่า 15%

ขณะเดียวกัน รัสเซียยังระบุว่า ถ้านานาประเทศมีการห้ามนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซีย จะส่งผลทำให้ตลาดน้ำมันโลกเกิดความผันผวนมากขึ้น และกดดันราคาน้ำมันดิบให้ปรับตัวสูงขึ้นมากกว่า 300 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งรัสเซียถือเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐฯ และซาอุดีอาระเบีย มีการส่งออกน้ำมันดิบ 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน และมากกว่าครึ่งหนึ่งถูกส่งไปยังสหภาพยุโรป (อียู)

ในส่วนของราคาก๊าซธรรมชาติ ก็ได้รับผลกระทบหนักเช่นเดียวกัน ซึ่งล่าสุดราคาก๊าซธรรมชาติในอียูปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับ 3,900 ดอลลาร์ต่อ 1,000 ลูกบาศก์เมตร เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งการผลิตก๊าซธรรมชาติของรัสเซียมีปริมาณคิดเป็น 17% ของการใช้ก๊าซธรรมชาติทั่วโลก และคิดเป็น 40% ของการบริโภคในยุโรปตะวันตก ทำให้ทั่วโลกต้องเผชิญหน้ากับราคาพลังงานและเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น อันเป็นผลจากสงครามที่เกิดขึ้นครั้งนี้

“หากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนทวีความตึงเครียดมากขึ้น จนทำให้ราคาน้ำมันดิบโลกปรับตัวสูงถึง 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะสร้างความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจไทยและอัตราเงินเฟ้ออย่างมาก และจะกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทย โดยประเมินว่าจะเติบโตเหลือเพียง 2.5% หรือต่ำกว่านั้น ซึ่งจากอัตราเงินเฟ้อของไทยเดือน ก.พ.2565 ที่ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.28% สูงสุดในรอบ 13 ปี ก็แสดงให้เห็นถึงภาพรวมของระดับราคาสินค้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้น”

กรณีดังกล่าว จะส่งผลต่อภาพรวมของการลงทุนภายในประเทศ นักลงทุนอาจชะลอการลงทุนในช่วงนี้ แต่ในอีกมุม นักลงทุนที่เคยลงทุนในยูเครนหรือรัสเซียก็อาจย้ายการลงทุนมาในอาเซียนมากขึ้น

หากราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงกดดันมากขึ้น จนทำให้ราคาปรับตัวสูงต่อเนื่อง แน่นอนว่าไม่ใช่แค่เศรษฐกิจไทยเท่านั้น ที่จะได้รับผลกระทบ แต่ทุกประเทศทั่วโลก “การปรับเพิ่มขึ้นของน้ำมันดิบ ทุกๆ 1 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าปั๊มน้ำมัน ปรับเพิ่มขึ้นประมาณลิตรละ 25 สตางค์”

ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบสูงสุดอยู่ที่ 147.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เมื่อกลางปี 2551 จากผลกระทบของวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ (Hamburger Crisis) ซึ่งราคาน้ำมันดิบ ณ วันนี้ ยังไม่ทะลุจุดสูงสุดเดิม จึงต้องเฝ้าติดตามและประเมินผลกระทบเป็นระยะ โดยเฉพาะมาตรการคว่ำบาตรการส่งออกพลังงานของรัสเซีย ที่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของราคาพลังงานโลก.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ