“อีลิทการ์ด” กำไรครั้งแรก ททท.ปลื้มตั้งมา 19 ปีเพิ่งมีเฮรับส้มหล่นโควิด

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“อีลิทการ์ด” กำไรครั้งแรก ททท.ปลื้มตั้งมา 19 ปีเพิ่งมีเฮรับส้มหล่นโควิด

Date Time: 18 ก.พ. 2565 06:50 น.

Summary

  • ในปีงบประมาณ 2564 อีลิทการ์ดทำกำไร 238 ล้านบาท สามารถล้างขาดทุนสะสมเป็นครั้งแรกในรอบ 19 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท ในปี 2546 โดยจะโอนกำไรให้ ททท.ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ 134 ล้านบาท

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในฐานะประธานกรรมการ บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด (ทีพีซี) ผู้ให้บริการบัตรอีลิทการ์ด เปิดเผยในงานเปิดตัวโครงการ Flexible Plus Program ว่า ในปีงบประมาณ 2564 อีลิทการ์ดทำกำไร 238 ล้านบาท สามารถล้างขาดทุนสะสมเป็นครั้งแรกในรอบ 19 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท ในปี 2546 โดยจะโอนกำไรให้ ททท.ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ 134 ล้านบาท และเก็บเป็นทุนสำรอง 10% ของทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท หรือสำรองประมาณ 100 ล้านบาท ส่วนปี 2565 ททท.ตั้งเป้ากำไรประมาณ 200 ล้านบาท โดยต้องยอมรับว่ากำไรที่เกิดขึ้นในปี 2564 ส่วนหนึ่งมาจากการขายบัตรสมาชิกได้ถึง 3,280 บัตร สะท้อนชาวต่างชาติต้องการมาใช้ชีวิตในไทยหลังโควิด-19 และอีกส่วนมาจากต้นทุนในการบริการต่ำ เนื่องจากในปีที่ผ่านมามีการเดินทางเข้าประเทศไทยน้อย เพราะอยู่ในช่วงการระบาดของโควิด-19

ทั้งนี้ ในปี 2565 ตั้งเป้าขายบัตรสมาชิกให้ได้ 4,400 บัตร โดยจะรุกขายบัตรที่มีราคาสูง 1-2 ล้านบาท ให้ได้มากขึ้นและทำการรีแบรนด์บัตรอีลิทการ์ด ให้บริการที่ตอบสนองความต้องการของสมาชิกที่มีรายได้สูงให้มากขึ้น โดยอนาคตอาจมีการขายบัตรสมาชิกอีลิทการ์ดในราคา 5 ล้านบาท และต้องพยายามลดการขายบัตรสมาชิกที่ราคาถูกที่ขายอยู่ในราคา 600,000 บาท ที่ขณะนี้มียอดขายประมาณ 60% ของจำนวนสมาชิก

นอกจากนี้ หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ หลักการในการลงทุนภายใต้โครงการ Flexible Plus Program คาดว่าในปีนี้จะมีเงินลงทุนขั้นต่ำจากสมาชิก 500 ราย เข้ามาประเทศไทย 15,000 ล้านบาท โดยสมาชิกบัตรอีลิทการ์ดที่ลงทุนขั้นต่ำ 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯในไทย หรือประมาณ 30 ล้านบาท จะได้สิทธิ์ในการขอใบอนุญาตทำงานในประเทศไทย (Work Permit) 5 ปี จากที่เดิมได้วีซ่า 10 ปี โดยเมื่อมีการลงทุนจะได้รับการเปลี่ยนประเภทวีซ่า จากวีซ่าประเภทอยู่ชั่วคราวเป็นพิเศษ (PE Visa) เป็นวีซ่าธุรกิจและการทำงาน (Non-B Visa) โดยผ่านการลงทุนในประเทศไทยภายใต้ 3 ประเภท คือ 1.การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ 2.การลงทุนในบริษัท จำกัด และบริษัทจำกัดมหาชน 3.การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของโครงการส่วนใหญ่ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น อังกฤษ ฮ่องกง รัสเซีย ฝรั่งเศส อเมริกา สิงคโปร์ เป็นต้น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ