นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่ผู้ประกอบการรถบรรทุกเตรียมปรับขึ้นค่าขนส่ง 20% ว่า สิ่งที่กระทรวงพาณิชย์ทำได้ คือการขอความร่วมมือผู้ผลิตสินค้าให้ตรึงราคาขายสินค้าให้นานที่สุด เพื่อช่วยเหลือประชาชน ซึ่งที่ผ่านมา ได้หารือกับหลายกลุ่มให้ตรึงราคาแล้ว ทั้งเครื่องดื่ม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เนื้อสัตว์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ แต่หากภาคขนส่งปรับขึ้นค่าบริการ ก็อาจทำให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าขึ้น และกระทบต่อราคาขายสินค้าด้วย ส่วนราคาน้ำมันดีเซล รัฐบาลตรึงราคาไว้ไม่เกินลิตรละ 30 บาท และน่าจะมีมาตรการช่วยเหลืออื่นๆอีก ที่จะลดผลกระทบให้กับภาคขนส่งได้
“อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนการผลิตสินค้าอย่างเจาะลึกแล้วว่า สินค้าใดจะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน และค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น และหากผู้ผลิตรายใดมีภาระต้นทุน และเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นราคาขาย ก็จะพิจารณาเป็นรายๆไป แต่ไม่ได้หมายความว่า เมื่อราคาน้ำมันและค่าขนส่งปรับขึ้น กระทรวงพาณิชย์จะปล่อยให้ราคาสินค้าขึ้นได้ทั้งหมด เพราะขณะนี้ยังอยู่ในช่วงตรึงราคา และยังไม่มีนโยบายให้ผู้ผลิตปรับขึ้นราคาขายแต่อย่างใด”
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า ถ้าผู้ประกอบการรถบรรทุกจะปรับขึ้นค่าบริการ 20% ประเมินว่าจะส่งผลให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น 3-4% แต่ถ้าหากขึ้นค่าบริการ 10% จะทำให้ราคาสินค้าขึ้น 1-2% ซึ่งจะไม่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในปัจจุบันต้องปรับขึ้น และน่าจะยังอยู่ใน 1.5-2.5% ได้ และจะไม่กดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องใช้นโยบายการเงินโดยขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาดูแลเงินเฟ้อในขณะนี้ แต่อาจเห็นเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นระดับ 3% ในระยะสั้น คือในช่วงไตรมาส 1 ของปีนี้ จากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น ค่าขนส่งที่แพงขึ้นจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้น และราคานำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศสูงขึ้น.