นายกฯปลื้มอานิสงส์ปรับโครงสร้าง “บีโอไอ” ทันสมัย หนุนส่งตัวเลขลงทุนเพิ่มต่อเนื่อง แม้โควิดระบาด ชี้นักลงทุนเชื่อมั่นมาตรการ สธ. บีโอไอเผยยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวมปี 64 มูลค่ากว่า 6.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 59%
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 3 ก.พ. ที่ผ่านมา ว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินการและแผนงานในระยะต่อไปของบีโอไอ ซึ่งตนได้สั่งให้ปรับโครงสร้างบีโอไอให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับสถานการณ์โลกในปัจจุบัน ทั้งด้านเศรษฐกิจ ภาษีและด้านต่างๆ ที่ไทยต้องเตรียมความพร้อม ดังนั้น การลงทุนสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆจะต้องมีการเตรียมการด้านใหม่ๆออกมา เพื่อรองรับการลงทุนใหม่ในประเทศให้ได้มากยิ่งขึ้น
“จากที่ได้รับรายงานเมื่อเปรียบเทียบสถิติก่อนหน้าที่โควิด-19 จะระบาดมาถึงปี 2562 ปี 2563 และปี 2564 พบว่ามีสถิติการลงทุนสูงขึ้นเมื่อประเมินจากข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ มีการลงทุนจริงมากขึ้น ซึ่งอาจจะเพราะการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้การเดินทางไปไหนไม่ค่อยสะดวกมากนัก ส่งผลให้นักลงทุนมีโอกาสอยู่ในประเทศไทยได้เล็งเห็นศักยภาพของประเทศ ไทย และนักลงทุนยังมีความเชื่อมั่นเรื่องการดูแลสุขภาพให้กับบริษัทและแรงงานของเขาที่ไม่จำเป็นต้องปิดกิจการ อันนี้เขาชื่นชมเรามา ก็เป็นโอกาสของพวกเรา ของประเทศเรา”
ด้านนางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ได้รับทราบสถิติการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2564 ว่า มีมูลค่ารวม 642,680 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59% เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยมีจำนวนโครงการรวม 1,674 โครงการ เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มีคำขอลงทุน 404,610 ล้านบาท จำนวนโครงการรวม 1,599 โครงการ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมการแพทย์ มีอัตราการขยายตัวสูง จากนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต
ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม 783 โครงการ มูลค่ารวม 455,331 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 163% เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มีมูลค่าลงทุน 169,334 ล้านบาท ซึ่งประเทศที่ยื่นขอรับ การส่งเสริมที่มีมูลค่าเงินลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น มีมูลค่าเงินลงทุน 80,733 ล้านบาท รองลงมา คือจีน 38,567 ล้านบาท และสิงคโปร์ 29,669 ล้านบาท
สำหรับคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีมูลค่ารวม 340,490 ล้านบาท คิดเป็น 53% ของมูลค่าคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม และ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่าลงทุน 104,490 ล้านบาท เป็นผลจากการพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อรองรับเทคโนโลยี 5G และการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีเพื่อเชื่อมต่ออุปกรณ์ไฮเทคต่างๆ เช่น เทคโนโลยีที่ใช้ในยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
2.อุตสาหกรรมการแพทย์ มูลค่าลงทุน 62,170 ล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพและมีความต้องการผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์เพิ่มขึ้น 3.อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ มูลค่าลงทุน 48,410 ล้านบาท 4. อุตสาหกรรมการเกษตรและแปรรูปอาหาร มูลค่าลงทุน 47,660 ล้านบาท และ 5.อุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วน มูลค่าลงทุน 24,570 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีการขอรับการส่งเสริมจำนวน 453 โครงการ มูลค่ารวม 220,500 ล้านบาท โดย จ.ระยอง มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 112,740 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังได้เห็นชอบการปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนภาคเกษตร และเปิดประเภทกิจการใหม่ ได้แก่ กิจการศูนย์การค้าผลิตผลทางการเกษตรระบบดิจิทัล และกิจการนิคมหรือเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร และทบทวนสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขสำหรับผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวสู่ Bio Hub (ศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่ต่อยอดจากอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม) ในด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน รองรับการขยายตัวในอุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีการแข่งขันสูงมากในตลาดโลก.