จัดระเบียบสินทรัพย์ดิจิทัล คลัง-ธปท.-ก.ล.ต. กระตุกความร้อนแรง

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

จัดระเบียบสินทรัพย์ดิจิทัล คลัง-ธปท.-ก.ล.ต. กระตุกความร้อนแรง

Date Time: 31 ม.ค. 2565 07:00 น.

Summary

  • 3 หน่วยงานกำกับดูแลถึงกับออกแถลง การณ์ร่วมเพื่อแสดงจุดยืน “ไม่สนับสนุนการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ”

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

ความพยายามในการสยบความร้อนแรงของสกุลเงินดิจิทัลและคริปโตเคอร์เรนซี จากกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) เมื่อสัปดาห์ก่อน

กลายเป็นประเด็น “ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์” อีกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อครั้งนี้ 3 หน่วยงานกำกับดูแลถึงกับออกแถลงการณ์ร่วมเพื่อแสดงจุดยืน “ไม่สนับสนุนการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment : MOP)”

เนื่องด้วยในช่วงที่ผ่านมา เริ่มมีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการเป็นวงกว้าง นอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุน ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวมได้ในอนาคต ขณะเดียวกัน ยังก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อประชาชนและธุรกิจ อาทิ ความเสี่ยงจากการสูญมูลค่าที่เกิดจากความผันผวนของราคา การถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ ข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล หรือการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลบางรายไม่ได้กำหนดให้ลูกค้าต้องยืนยันตัวตน

รวมทั้งยังอาจจะกระทบต่อปริมาณเงินในระบบ ซึ่งจะส่งผลลดทอนความเชื่อมั่นของเงินบาทและประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายการเงินอีกด้วย

ในมุมของหน่วยงานรัฐ การรู้เท่าทันเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถกำหนดมาตรการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างเหมาะสมดูเหมือนไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะเมื่อต้องพยายามรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจในองค์รวม คุ้มครองป้องกันประชาชนที่อาจตกเป็นเหยื่อการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง ตรวจสอบยาก และที่สำคัญกำลังกลายเป็นเครื่องมือของกระบวนการฟอกเงินผิดกฎหมายทั่วโลก

แต่การกำกับดูแลที่มาก่อนเวลาอันควร ก็อาจถูกมองว่าเป็นการบั่นทอนการเติบโตของธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเมื่อโลกทั้งใบไม่สามารถต้านทานความเชี่ยวกรากของกระแสดิจิทัลได้อีกต่อไป จุดกึ่งกลางอยู่ตรงไหน จึงนับเป็นความท้าทายยิ่ง...

ความพยายามในการจัดระเบียบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลปรากฏให้เห็นชัดเจนตั้งแต่เดือนแรกของปี เมื่อแบบฟอร์มการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2564 ของกรมสรรพากร ซึ่งผู้เสียภาษีมีหน้าที่ยื่นแสดงรายได้ในช่วงต้นปี 2565 มีช่องให้กรอกรายได้จากการลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี จากเดิมไม่มีกำหนดเฉพาะเจาะจง

ต่อการนี้ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ยืนยันว่ามีการจัดเก็บภาษีคริปโตมาตั้งแต่ปี 2561 แล้ว เมื่อมีรายได้ก็จำเป็นต้องยื่นแสดงรายการ จึงทำช่องกรอกให้ชัดเจน ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง แต่รายได้จากภาษีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ไม่เพิ่มขึ้นเลย จึงจำเป็นต้องขยายฐานภาษี สร้างรายได้ นำเม็ดเงินมาพัฒนาประเทศ

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

ก็ตาม หลังการรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ในที่สุดกรมสรรพากรก็ได้ออกมาตรการและแนวทางผ่อนปรน ได้แก่ 1.การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภงด.) จากเงินได้พึงประเมินนั้น กรมสรรพากรจะออกกฎกระทรวงให้ผู้เสียภาษีนำผลขาดทุนมาหักกลบกำไรได้ในปีภาษีเดียวกัน โดยต้องทำการซื้อขายผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange) ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.)

2.การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ผ่าน Exchange ภายใต้ ก.ล.ต. จะไม่มีภาระภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% เนื่องจากไม่สามารถระบุตัวตนผู้รับเงิน และไม่ทราบจำนวนเงินได้ที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย ทำให้ไม่ครบองค์ประกอบการหักภาษี ณ ที่จ่าย จึงไม่จำเป็นต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แต่อย่างใด

3.กรมสรรพากรจะเสนอพระราชกฤษฎีกาให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับธุรกรรมที่กระทำผ่านผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่ภายใต้ ก.ล.ต. และสินทรัพย์ดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

นอกจากนี้ กรมสรรพากรจะร่วมกันศึกษา เพื่อแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ อาทิ การแก้ประมวลรัษฎากรมาตรา 50 ที่เกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่าย โดยให้ผ่าน Exchange เพื่อเป็นผู้หักภาษีและนำส่งกรมสรรพากรรวมถึงการเปลี่ยนประเภทการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นภาษีเฉพาะสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีลักษณะเป็นหลักทรัพย์ เป็นต้น

ขณะที่ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า การนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการอย่างแพร่หลายจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศ จึงควรมีการกำกับดูแลที่ชัดเจน ส่วนเทคโนโลยีและสินทรัพย์ดิจิทัลบางประเภทที่ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงดังกล่าว ก็ควรได้รับการสนับสนุน โดยมีกลไกดูแลที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดนวัตกรรมและประโยชน์ต่อประชาชน

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

เช่นเดียวกับ รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. ที่ให้ความเห็นว่า ลักษณะการใช้งานสินทรัพย์ดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ ก.ล.ต.ต้องทบทวนทั้งในประเด็นการเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัลและการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลใหม่

และเพื่อไม่ให้เกิดกรณีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนแทนเงินในวงกว้าง จึงได้ใช้อำนาจตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 ร่างหลักเกณฑ์แนวทางกำกับดูแลการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ โดยเน้นกำกับดูแล “ผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล” โดยต้องไม่ดำเนินการสนับสนุน หรือส่งเสริมให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ ได้แก่

1.ไม่โฆษณาเชิญชวน หรือแสดงตนว่าพร้อมให้บริการแก่ร้านค้า เพื่อให้ร้านค้าสามารถรับชำระค่าสินค้า หรือบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลได้

2.ไม่จัดทำระบบ หรือเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกใดๆ แก่ร้านค้าในการรับชำระด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล

3.ไม่ให้บริการเปิดกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ wallet แก่ร้านค้า เพื่อรับชำระค่าสินค้า หรือบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล

4.ในกรณีที่ผู้ซื้อขายทำการขายสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อรับเป็นเงินบาท ผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องโอนเงินบาทเข้าบัญชีผู้ซื้อขายเท่านั้น

รื่นวดี สุวรรณมงคล
รื่นวดี สุวรรณมงคล

5.ไม่ให้บริการที่มีลักษณะเป็นการโอนสินทรัพย์ดิจิทัล/เงิน จากบัญชีของผู้ซื้อขายไปยังบัญชีของรายอื่น หรือบุคคลอื่นใด เพื่อวัตถุประสงค์ของการรับชำระค่าสินค้าหรือบริการ

6.ไม่ดำเนินการในลักษณะอื่นใดนอกเหนือจาก 1-5 ที่เป็นการสนับสนุนหรือส่งเสริมให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นตัวกลางชำระค่าสินค้าและบริการ

และในกรณีที่พบว่าผู้ซื้อขายนำบัญชีสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ในการรับชำระค่าสินค้าและบริการ ผู้ประกอบการธุรกิจต้องแจ้งเตือน พิจารณาดำเนินการกับผู้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการให้บริการ เช่น ยกเลิกการให้บริการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือระงับบัญชี เป็นต้น

โดยขณะนี้ร่างหลักเกณฑ์อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะจนถึงวันที่ 8 ก.พ.2565 จากนั้น ก.ล.ต.จะประกาศหลักเกณฑ์โดยเร็วที่สุด ซึ่งผู้ประกอบการ ได้แก่ ศูนย์ซื้อขาย นายหน้า ผู้ค้า ที่ปรึกษา และผู้จัดการเงินทุน จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ภายใน 15 วัน นับจากวันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ หากไม่ดำเนินการตามมีโทษปรับวันละ 10,000 บาทตลอดระยะเวลาที่ยังไม่ได้แก้ไข และมีโทษปรับอีกครั้ง 300,000 บาท

ทันทีที่ประเด็นภาษีและ Means of Payment : MOP ของทั้ง 3 หน่วยงานกำกับดูแลถูกเปิดเผยออกมา “ทีมเศรษฐกิจ” ได้สอบถามความเห็นของบรรดานักธุรกิจที่เกี่ยวข้อง


เศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเปิดรับชำระค่าบ้าน-คอนโดมิเนียมด้วยคริปโตเคอร์เรนซีตั้งแต่ช่วงกลางปี 2564 ให้ความเห็นว่า เมื่อหน่วยงานภาครัฐมีมาตรการออกมากำหนด แสนสิริก็จะเลิกรับชำระค่าสินค้าด้วยคริปโต “จะให้เราต้องซื้อขายตรงกับลูกค้าเท่านั้น ห้ามผ่านตัวกลาง เราไม่รับเลยดีกว่า ไม่อยากมีปัญหา แม้ผมจะเชื่อว่าจริงๆแล้ว การซื้อขายสินค้าเป็นเรื่องของผู้ซื้อและผู้ขาย เราสะดวกแบบไหน ก็น่าจะเป็นเรื่องของเรา”

เศรษฐา ทวีสิน
เศรษฐา ทวีสิน

ตั้งแต่แสนสิริเปิดรับชำระค่าบ้าน-คอนโดมิเนียมด้วยคริปโตเคอร์เรนซีในช่วงกลางปีที่ผ่านมา พอร์ตรายได้ที่รับชำระเป็นเงินคริปโตอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาท จากพอร์ตรายได้รวมกว่า 30,000 ล้านบาท ถือเป็นเงินเล็กน้อยมาก แต่ในฐานะที่ทำธุรกิจ เราย่อมต้องอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าในทุกช่องทาง รวมถึงความต้องการในการชำระค่าสินค้าเป็นเงินคริปโตด้วย “ผมพร้อมปฏิบัติตาม แต่ถ้าถามว่าเห็นด้วยไหม ผมไม่เห็นด้วย ตลาดคริปโตในไทยเพิ่งเกิดได้ไม่เกิน 2-3 ปี รอให้เติบโตแข็งแกร่งก่อนดีไหม รอสัก 3 ปีจากนี้ จะเก็บภาษี จะกำกับดูแลแบบใด ค่อยว่ากัน

ตลาดหุ้นเกิดมาตั้งนานแล้ว ยังได้รับการยกเว้นเก็บภาษีกำไรจากการซื้อ-ขายหุ้นมาตลอด 30 ปี คริปโตเป็นแหล่งเงินทุนที่คนรุ่นใหม่ คนเงินน้อยก็เข้าถึงได้ มีเงิน 100-200 บาท ก็ลงทุนได้ มันเป็นอีกแรงบันดาลใจที่เหมือนการซื้อลอตเตอรี่ เป็นความหวังของคนรุ่นใหม่ “เขาอาจขาดทุนก็ได้ แต่ถ้ากำไรล่ะ”

ผมมองว่าหากปล่อยให้ตลาดเติบโต ธุรกิจที่เกี่ยวข้องจะขยายตัวได้อีกมากและภาครัฐจะเก็บภาษีได้มากขึ้นแน่นอน อาจได้ประโยชน์มากกว่าพยายามเก็บภาษีตั้งแต่จุดนี้

ถามว่ามันอาจมีประเด็นฟองสบู่ไหม มีความเสี่ยงไหม บอกเลยว่ามี แต่มันจะเป็นบทเรียนให้เรียนรู้ ผมพูดได้เพราะแสนสิริผ่านวิกฤติต้มยำกุ้งมาแล้ว และเราแข็งแกร่งขึ้นเพราะได้เรียนรู้ ปรับตัว ของบางอย่างควรปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ตลาดคริปโตยังไม่ถึงวัยเจริญพันธุ์ ก็จะถูกทำหมันเสียแล้ว

อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเจมาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART ในฐานะที่กลุ่มเจมาร์ทเป็นบริษัทแรกที่แนะนำ JFin Coin สกุลเงินดิจิทัลประเภท Unity coin ตั้งแต่ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา กล่าวว่า คริปโตเคอร์เรนซีเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการเข้ารหัสในรูปแบบบล็อกเชน ซึ่งเป็นเครือข่ายการเก็บข้อมูลในแต่ละบล็อก เมื่อถูกเก็บไว้แล้วจะไม่สามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ ทำให้มีจุดเด่นคือความโปร่งใส เข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็ว

อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา
อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา

“เทคโนโลยีมีความจำเป็น เพราะคริปโตเคอร์เรนซีในบล็อกเชนมีประโยชน์ ถ้าเราไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในประเทศไทย แล้วเอกชนหันไปดำเนินการในต่างประเทศ ผมว่าประเทศก็เสียโอกาส รัฐบาลควรมองว่าการนำบล็อกเชน มาใช้อย่างถูกต้องควรที่จะส่งเสริม ใครที่เอามาใช้ผิดวิธี ผิดวัตถุประสงค์ไม่ควรส่งเสริม ต้องแยกแยะให้ชัดเจน”

อีกมุมหนึ่งที่ผมอยากเห็นว่ารัฐควรส่งเสริมเทคโนโลยีในบ้านเรา จริงๆแล้วการออกไปทำในต่างประเทศ มันง่ายมาก แต่จะเกิดอะไรขึ้นสำหรับประเทศไทย คิดว่าเราจะอยู่แบบล้าหลังหรือช่วยกันพัฒนา อะไรที่ไม่ดีช่วยไม่ให้เกิดขึ้น อะไรที่ดีก็ควรจะช่วยๆกันผลักดันอยากให้ ธปท.จัดทำแซนด์บ็อกซ์ศึกษาว่าจะเกิดผลดี ผลเสียอย่างไร ทำใน Jfin ก็ได้ เรามีระบบนิเวศ (อีโคซิสเต็ม) รองรับอยู่แล้ว

ปริญญ์ พานิชภักดิ์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ให้ความเห็นว่า เชื่อในแนวคิด “ฟรีภาษี เสรีคริปโต” การยกเว้นหรือเลื่อนการจัดเก็บภาษีคริปโตออกไปก่อนสัก 5 ปี หรือการให้นำมาลดหย่อนได้ จะเป็นโอกาสเติบโตที่ยิ่งใหญ่ให้ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ตลาดนี้ยังไม่โตเต็มที่ การเก็บภาษีในช่วงนี้นักลงทุนอาจย้ายหนี เพราะธุรกิจนี้เป็น Global นักลงทุนสามารถเลือกซื้อขายกับตลาดแลกเปลี่ยน (Exchange) ต่างประเทศได้ไม่ยาก ตรงนี้จะทำให้สตาร์ตอัพด้านสินทรัพย์ดิจิทัลไทยเสียโอกาส

ปริญญ์ พานิชภักดิ์
ปริญญ์ พานิชภักดิ์

“เมื่อมีการยกเว้นหรือชะลอการเก็บภาษีคริปโตออกไปก่อนอุตสาหกรรมจะเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ จึงค่อยกลับมาพิจารณาการจัดเก็บภาษีนักเทรด ส่วนในแง่ของภาษีที่เก็บจากผู้ประกอบการ เมื่อถึงตอนนั้นธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลก็จะแข็งแรงแล้ว รัฐบาลย่อมสามารถที่จะจัดเก็บภาษีนิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากค่าธรรมเนียมการเทรดได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และอาจเป็นไปได้ที่จะมียอดจัดเก็บได้มากกว่ามาเร่งรีดภาษีตอนนี้”

ไม่ใช่แค่ภาษีที่จะเป็นอุปสรรคเท่านั้น แต่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี NFT (Non-Fungible Token) ที่ทาง ก.ล.ต. ส่งสัญญาณการเข้ามากำกับดูแล ยังถือว่าเร็วเกินไป เทคโนโลยี NFT เพิ่งเริ่มต้น การออกกฎหมายควบคุมจะทำให้อุตสาหกรรมหดตัวทั้งที่ยังไม่ทันได้เติบโต ผู้ประกอบการตลาด NFT อาจหนีไปต่างประเทศ คนซื้อขายก็จะไปใช้บริการตลาดต่างประเทศ เนื่องจากตลาดนี้ก็เป็น Global และต้องยอมรับว่าปัจจุบัน NFT คืออีกช่องทางในการหารายได้เพิ่มของศิลปินรายเล็ก ได้เข้ามาในพื้นที่นี้เพื่อสร้างรายได้ในโลกดิจิทัล

“แม้ตอนนี้ทางรัฐบาลจะพยายามช่วยเต็มที่ในการสนับสนุนสตาร์ตอัพ เช่น การยกเว้นภาษีกำไรจากการซื้อขายหุ้นหรือ Capital Gains Tax สำหรับการลงทุนในสตาร์ตอัพไทย แต่การสนับสนุนต้องครบองค์รวม ที่ครอบคลุมถึงระบบนิเวศของฟินเทคโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย”

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ