สรุป อาคเนย์ประกันภัย จะเลิกกิจการเร็วๆ นี้ ลูกค้าประกันต้องทำอย่างไร

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

สรุป อาคเนย์ประกันภัย จะเลิกกิจการเร็วๆ นี้ ลูกค้าประกันต้องทำอย่างไร

Date Time: 27 ม.ค. 2565 16:35 น.

Video

เปิดทริกวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

Summary

  • อาคเนย์ประกันภัย บอกว่า การตัดสินใจครั้งนี้ เป็นการหาทางออกที่ดีที่สุด คือ การยอมเลิกกิจการเพื่อให้ทุกคนได้เงินคืน

Latest


  • บริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) มีมติเห็นชอบแผนยกเลิกธุรกิจ "อาคเนย์ประกันภัย"
  • เครือไทย โฮลดิ้งส์ มีบริษัทประกันอะไรบ้างในพอร์ต
  • อาคเนย์ประกันภัยปิดกิจการ ลูกค้าประกัน อู่รถยนต์ พนักงานอาคเนย์ประกันภัย จะเป็นอย่างไร 
  • บทบาทของ คปภ.หลังจากนี้

การระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาทำให้ธุรกิจในหลายเซกเตอร์ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ ไม่ว่าจะเป็นภาคการท่องเที่ยว ภาคค้าปลีก ภาคการขนส่ง รวมไปถึงธุรกิจในส่วนอื่นๆ ที่กระทบกันเป็นทอดๆ ทั้งหลายเล็กหลายใหญ่ แต่ในปี 2563 ที่โควิดเริ่มระบาด ธุรกิจประกันภัย ถือเป็นดาวรุ่งของปีเลยก็ว่าได้

โดยเฉพาะ "ประกันโควิด เจอ จ่าย จบ" ซึ่งถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกมาสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่า โอกาสที่โควิดจะระบาดมากๆ เหมือนสหรัฐฯ หรืออังกฤษมีน้อยมาก..ถ้าจำกันไม่ผิด ปีนั้นเป็นปีทองของบริษัทประกันภัย กำไรอู้ฟู่ โบนัสจ่ายพนักงานไม่ธรรมดากันเลยทีเดียว

เหตุการณ์ก็ดำเนินต่อมาจนปลายปี 63 เข้าปี 64 จากนั้นโควิดระบาดระลอกใหม่ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น ยอดเคลมประกันโควิด เจอ จ่าย จบ พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ส่งผลกระทบทำให้บริษัทประกันภัยหลายแห่ง เริ่มรับภาระการเคลมประกันโควิด เจอ จ่าย จบไม่ไหว ประกาศเวนคืนกรมธรรม์ประกันโควิด เจอ จ่าย จบ และปล่อยให้คปภ.เพิกถอนใบอนุญาตไปในที่สุด ซึ่งบริษัทประกันภัยที่ คปภ.เพิกถอนใบอนุญาตมีดังนี้ 1. เอเชียประกันภัย 2. เดอะ วัน ประกันภัย

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ยื่นอุทรณ์ขอให้คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือบอร์ด คปภ. พิจารณายกเลิกคำสั่งนายทะเบียน 2 ฉบับ ได้แก่ 1. ห้ามยกเลิกประกันภัยโควิด-19 และ 2. คำสั่งการรักษาพยาบาลโควิด

เนื่องจากคำสั่งดังกล่าวทำให้บริษัทประกันวินาศภัย ไม่สามารถใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยเพื่อหยุดยั้งความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ และทำให้บริษัทไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนเพื่อเพิ่มทุนได้ เนื่องจากผู้ลงทุนไม่มีความมั่นใจว่าหากมีการเพิ่มทุนไปแล้วจะเพียงพอต่อค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต (อ่านต่อทั้งหมด ที่นี่

เครือไทย โฮลดิ้งส์ มีมติเห็นชอบแผนยกเลิกธุรกิจ "อาคเนย์ประกันภัย"

ล่าสุด บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ก็เป็นบริษัทประกันภัยรายที่ 3 ที่จะขอเลิกประกอบกิจการ โดยบริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TGH แจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติ กับแผนการเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของอาคเนย์ประกันภัย ซึ่งเป็นการใช้สิทธิขอเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยโดยสมัครใจและส่งคืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจต่อนายทะเบียนตามมาตรา 57 และ 57/1 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 (รวมทั้งที่การแก้ไขเพิ่มเติม)

นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นของ อาคเนย์ประกันภัย ก็เห็นชอบ การเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของอาคเนย์ประกันภัย ด้วยเช่นกัน รวมถึงการคืนเบี้ยประกันให้กับผู้เอาประกันภัยทุกรายตามกรมธรรม์ประกันภัยที่อาคเนย์ประกันภัย ยังมีภาระผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยต่อผู้เอาประกันภัยนั้นๆ ซึ่งรวมถึงกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุ และการเจ็บป่วยจากโควิด

รวมทั้งการจัดหาผู้รับประกันภัยรายใหม่ให้แก่ผู้เอาประกันภัยตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่ คปภ. และ/หรือกองทุนประกันวินาศภัยเห็นชอบ โดยอาคเนย์ประกันภัย เป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านต่างๆ ในการดำเนินการข้างต้น ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 100 โดยไม่มีผู้ใดออกเสียงคัดค้าน

เครือไทย โฮลดิ้งส์ มีบริษัทประกันอะไรบ้างในพอร์ต

ทั้งนี้ อาคเนย์ประกันภัย ซึ่งมีเครือไทย โฮลดิ้งส์ เป็นเจ้าของนั้น เมื่อดูรายชื่อผู้ถือหุ้น 5 อันดับแรกมีดังนี้ 1. บริษัท ผลมั่นคงธุรกิจ จำกัด 2. บริษัท อาคเนย์ แมเนจเม้นท์ จำกัด 3. บริษัท ไทยสิริวัฒน จำกัด 4. บริษัท เพรสทีจ 2015 จำกัด และ 5. บริษัท สินธนรัตน์ จำกัด

สำหรับ เครือไทย โฮลดิ้งส์ นั้นมี นายเจริญ สิริวัฒนภักดี เป็นประธานกรรมการ และมีคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี รองประธานกรรมการ ส่วนคณะกรรมการบริหารมี นายโชติพัฒน์ พีชานนท์ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร และรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร รวมถึง นางอาทินันท์ พีชานนท์ เป็นรองประธานกรรมการบริหาร

อย่างไรก็ตาม เครือไทย โฮลดิ้งส์ มีธุรกิจในเครือได้แก่ อาคเนย์ประกันภัย, อาคเนย์ประกันชีวิต, อาคเนย์แคปปิตอล, RDD รถดีเด็ด นอกจากนี้ยังเข้าไปถือหุ้นในบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท อินทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) อีกด้วย ซึ่งทุกบริษัทยังคงดำเนินธุรกิจตามปกติ 

อาคเนย์ประกันภัยจะปิดกิจการ ลูกค้าประกัน อู่รถยนต์ พนักงานอาคเนย์ประกันภัย จะเป็นอย่างไร

โดย อาคเนย์ประกันภัย ได้ออกมาชี้แจงว่า ปัจจุบันบริษัทฯ ยังดำเนินธุรกิจและให้บริการ รวมถึงความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยตามปกติ และขณะนี้บริษัทฯ มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมายอยู่ถึง 170% และยังมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะจ่ายค่าสินไหมให้กับลูกค้าและคู่ค้าทุกราย

ทั้งนี้ การดำเนินการใช้สิทธิขอเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยโดยสมัครใจ และส่งคืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจต่อนายทะเบียน หรือ คปภ.นั้นเป็นไปเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดในการลดผลกระทบสำหรับลูกค้าผู้เอาประกันทุกประเภทและผู้เกี่ยวข้องของบริษัทฯ ให้ได้รับเงินคืนทุกราย ซึ่งลูกค้าทุกกรมธรรม์จะได้รับการคุ้มครองและดูแลตามสิทธิอย่างถูกต้อง รวมถึงการดูแลพนักงาน คู่ค้า และพันธมิตรทางธุรกิจทุกราย

บริษัทฯ ขอยืนยันว่า "การตัดสินใจครั้งนี้ เป็นการหาทางออกที่ดีที่สุด คือ การยอมเลิกกิจการเพื่อให้ทุกคนได้เงินคืน"

ทั้งนี้ ณ วันที่ 1 ม.ค. 65 อาคเนย์ประกันภัยมีสินทรัพย์สุทธิคงเหลือกว่า 1,800 ล้านบาท เพื่อใช้ในการชำระคืนเบี้ยประกันภัยตามกรมธรรม์ได้และยังมีสัดส่วนการดำรงเงินกองทุนที่ประมาณ 170% โดยเงินและทรัพย์สินของอาคเนย์ประกันภัย ทั้งหมดจะใช้ในการชำระคืนเบี้ยประกันภัย และ ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกัน รวมถึง การชำระหนี้ต่อผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ทั้งหมด โดยไม่ได้นำไปชำระหรือคืนให้แก่ผู้ถือหุ้นของอาคเนย์ประกันภัย หรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (กลุ่มTCC) แต่อย่างใด

โดยการยกเลิกประกอบธุรกิจโดยสมัครใจนั้นจะไม่เป็นภาระต่อหน่วยงานกำกับกองทุนฯ หากจัดการกับภาระกรมธรรม์ ประกันภัยทั้งหมดที่มีอยู่อย่างเหมาะสม

ผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยที่ไม่เกี่ยวกับโควิดของอาคเนย์ประกันภัย จำนวน 8,629,036 ราย : ไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากผู้ถือกรมธรรม์ จะได้รับการคืนเบี้ยประกันตามสัดส่วน หรือได้รับการคุ้มครองต่อเนื่อง หากย้ายกรมธรรม์ไปยังบริษัทประกันภัยอื่น

ผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ของอาคเนย์ประกันภัย จำนวน 1,851,921 ราย : ไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากผู้ถือกรมธรรม์ จะได้รับการคืนเบี้ยประกันตามสัดส่วน หรือได้รับการคุ้มครองต่อเนื่อง หากย้ายกรมธรรม์ไปยังบริษัทประกันภัยอื่น

คู่ค้า เช่น อู่ซ่อมรถ โรงพยาบาล ตัวแทน ของ อาคเนย์ประกันภัย 9,000 ราย : ได้รับชำระอย่างครบถ้วนหากอาคเนย์ประกันภัยยังมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน

พนักงานอาคเนย์ประกันภัย 1,396 คน : พนักงานจะได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมตามแผนงานในการเลิกประกอบธุรกิจตามที่ คปภ. ให้ความเห็นชอบ

บทบาทของ คปภ. หลังจากนี้

โดยก่อนหน้านี้ อาคเนย์ประกันภัย ได้ยื่นขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 เรื่อง ให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยบริษัทในกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย เมื่อวันที่ 14 ม.ค.65 ที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม คปภ. ได้ออกมาชี้แจง กรณีอาคเนย์ประกันภัยจะยกเลิกประกอบกิจการว่า กรณีที่บริษัทประกันวินาศภัยประสงค์จะเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยให้ยื่นคำขออนุญาตต่อคณะกรรมการ คปภ.เพื่อพิทักษ์ประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย หรือผู้มีส่วนได้เสีย

โดยคณะกรรมการมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลา ให้บริษัทต้องปฏิบัติให้แล้วเสร็จก่อนที่คณะกรรมการจะอนุญาตให้เลิกกิจการ อย่างน้อยดังต่อไปนี้

1. วิธีจัดการหรือการโอนภาระผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ยังมีผลผูกพันอยู่

2. วิธีการบอกกล่าวให้ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยและผู้มีส่วนได้เสียทราบ และใช้สิทธิตามกฎหมาย

3. การโอนหรือการขอรับเงินสำรองที่บริษัทวางไว้กับนายทะเบียน

4. การจัดการทรัพย์สินและหนี้สิน ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการประกันวินาศภัยและการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัท

5. ระยะเวลาของการดำเนินการตามข้อ 1-4 ในกรณีที่คณะกรรมการอนุญาตให้เลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย และบริษัทประสงค์จะเลิกบริษัท

โดยการเลิกบริษัทให้มีผลนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้เลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยและให้มีการชำระบัญชี

แม้อาคเนย์ประกันภัย ได้ยื่นคำขอเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ต่อคณะกรรมการ คปภ. ผ่านสำนักงาน คปภ. แล้ว แต่คณะกรรมการ คปภ. ยังไม่ได้อนุญาต ในการนี้ สำนักงาน คปภ. ได้ตั้งคณะทำงานพิจารณารายละเอียดต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายก่อนเสนอต่อคณะกรรมการ คปภ. พิจารณาต่อไป

ล่าสุด ลูกค้าประกันภัยส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบกับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เช่น แฟนเพจหมอแล็บแพนด้า ได้โพสต์ภาพและข้อความระบุว่า ศูนย์ซ่อมรถไม่รับเคลมประกันของอาคเนย์ประกันภัยแล้ว จากนี้คงติดตามต่อว่า อาคเนย์ประกันภัย และ คปภ.จะออกมาเคลื่อนไหวอย่างไร


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ