คนไทยได้อะไรจากโครงข่ายคมนาคม

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

คนไทยได้อะไรจากโครงข่ายคมนาคม

Date Time: 24 ม.ค. 2565 06:42 น.

Summary

  • เมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา “ไทยรัฐ กรุ๊ป” และกระทรวงคมนาคม ได้ร่วมกันจัดงานสัมมนาในหัวข้อเรื่อง “Thailand Future Smart & Sustainable Mobility ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน”

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา “ไทยรัฐ กรุ๊ป” และกระทรวงคมนาคม ได้ร่วมกันจัดงานสัมมนาในหัวข้อเรื่อง “Thailand Future Smart & Sustainable Mobility ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน” ณ ห้องอีเทอร์นิตี้ บอลรูม โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์

โดยเนื้อหาในงานสัมมนาได้ก่อให้เกิดความชัดเจนถึง “ความคืบหน้าของโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ทั้งหมด” ภายใต้การขับเคลื่อนของ “กระทรวงคมนาคม” รวมทั้งให้คำตอบที่ประชาชนคนไทยตั้งตารอที่จะรู้ว่า “คนไทยจะได้ประโยชน์อย่างไรจากโครงข่ายคมนาคม” ทั้งที่ดำเนินการเสร็จแล้วและกำลังดำเนินการอยู่

และจากการฉายภาพทั้งหมดในวันนั้น ทั้งการดำเนินโครงการทางถนน ราง น้ำ และอากาศ เชื่อมโยงกัน ของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ทำให้ภาคเอกชนที่ร่วมสัมมนาแสดงความเห็นด้วย และขอให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จให้เร็วที่สุด เพราะคาดหวังจะเพิ่มความสะดวกสบาย ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และยังช่วยให้ภาคเอกชนลดต้นทุนการประกอบการ เสริมศักยภาพการแข่งขันของประเทศได้อีกด้วย

“ทีมเศรษฐกิจ” ขอสรุปภาพรวมจากคำกล่าวปาฐกถาของนายศักดิ์สยามมาให้อ่านกันอีกครั้ง เพื่อให้เห็นทุกมิติของการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ประโยชน์ทั้ง 4 มิติที่คนไทยจะได้รับ และประเทศไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไร เมื่อโครงข่ายคมนาคมสำเร็จตามเป้าหมายแผนยุทธศาสตร์กระทรวงคมนาคม

แผนคมนาคมตั้งเป้า “สังคมดีคนมีสุข”

“ตลอดเวลาที่ผ่านมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศเป็นอย่างมาก และได้ฝากให้กระทรวงคมนาคม ซึ่งถือเป็นกระทรวงหลักที่รับผิดชอบดูแลการลงทุนก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ และสาธารณูปโภคของประเทศ ให้เร่งดำเนินการเรื่องดังกล่าว

โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยเกิดความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” มีรายได้สูงขึ้น เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คนไทยมีความสุข อยู่ดี กินดี สังคมมีความมั่นคง และมีขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ” นายศักดิ์สยาม กล่าวปาฐกถาในหัวข้อเรื่อง “ชีวิตคนไทยจะดีขึ้นอย่างไรบนแผนคมนาคม”

ทำให้แม้ว่าจะอยู่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคู่ขนานกัน ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อให้เกิดโครงข่ายคมนาคมที่สมบูรณ์ต่อเนื่องกันทั้งประเทศ และเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจไทย

โดยวาง 4 หลักสำคัญเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของประชาชน และภาคธุรกิจไทย คือ “ความสะดวก ปลอดภัย ตรงต่อเวลา และราคาสมเหตุสมผล”

ขณะที่ความคืบหน้าล่าสุดในขณะนี้ มีทั้งโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ เปิดให้บริการ ขณะที่โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ มีหลายโครงการมีความคืบหน้าค่อนข้างมาก ขณะที่หลายโครงการเป็นการลงทุนต่อเนื่อง ส่วนโครงการไหนยังทำไม่ได้ทันที ก็ได้เริ่มศึกษาข้อมูลเตรียมไว้ เพื่อให้ดำเนินการได้ทันทีในอนาคต

บก-น้ำ-ราง-อากาศ เชื่อมไทย-ภูมิภาค

ทั้งนี้ นายศักดิ์สยาม ได้ฉายภาพรวมของการก่อสร้างโครงข่ายคมนาคมของประเทศ ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงกันทั้งบก ราง น้ำ อากาศ โดยในส่วนของ “ระบบคมนาคมขนส่งทางบก” มีโครงการสำคัญที่กำลังดำเนินการอยู่ ได้แก่ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ทั้งการเชื่อมโยงกรุงเทพฯ ชั้นในและปริมณฑล และการเชื่อมโยงกรุงเทพฯ สู่เมืองสำคัญในต่างจังหวัด โครงการก่อสร้างทางพิเศษ สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกและทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (ยกระดับ) สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ซึ่งจะทยอยเสร็จและเปิดใช้ในปี 66-67

ระบบคมนาคมขนส่งทางราง มีโครงการสำคัญ คือการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในพื้นที่เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 14 เส้นทาง ระยะทางรวม 554 กิโลเมตร โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ทั่วประเทศกว่า 3,200 กิโลเมตร โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค 2 ช่วง คือ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา และช่วงที่ 2 นครราชสีมา - หนองคาย และโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)

ระบบคมนาคมขนส่งทางน้ำ ได้แก่ การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 รวมทั้งโครงการท่าเรือบก (Dry Port) จะเป็นศูนย์กลางในการขนถ่ายสินค้าและตู้คอนเทนเนอร์เพื่อส่งต่อไปทางรถไฟได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และตรงเวลาในขอนแก่น นครราชสีมา นครสวรรค์ และฉะเชิงเทรา

และท้ายสุด ระบบคมนาคมขนส่งทางอากาศ มีโครงการสำคัญที่เร่งดำเนินการคือ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในเดือน เม.ย.นี้ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 โครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต

นอกจากนี้ ในครึ่งหลังของปีนี้ยังจะได้เห็น 2 โครงการที่สำคัญคือ ความคืบหน้าของ แผนแม่บท MR-Map ซึ่งจะเป็นถนนหลักเชื่อมเหนือใต้ ตะวันออก-ตะวันตกของประเทศ ซึ่งจะต่อยอดไปสู่การเชื่อมโยงไปสู่ภูมิภาค ประเทศเพื่อนบ้าน และการกระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่น โดย MR-Map เป็นการพัฒนาแนวโครงข่ายทางหลวงพิเศษคู่ขนานไปกับโครงข่ายรถไฟทางคู่ 10 เส้นทางทั่วประเทศ

และโครงการ สะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (Land Bridge ชุมพร-ระนอง) ซึ่งจะสร้างโอกาสและมูลค่าเศรษฐกิจจำนวนมหาศาลให้กับประเทศ ผ่านการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทั้ง 2 แห่งในฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน สำหรับขนถ่ายสินค้า และเชื่อมต่อท่าเรือทั้ง 2 แห่ง โดยอาศัยมอเตอร์เวย์ รถไฟ และท่อส่งน้ำมัน ซึ่งจะทำให้การขนส่งสินค้าผ่าน Land Bridge ชุมพร-ระนอง เร็วกว่าช่องแคบมะละกาถึง 4 วัน

“คนไทย” ได้ประโยชน์อะไร

แล้วคนไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากโครงข่ายคมนาคมเหล่านี้ !!

“การเร่งดำเนินการโครงการโครงสร้างพื้นฐาน และสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ของประเทศ เมื่อทยอยลงทุน และดำเนินการจนแล้วเสร็จ โครงการเหล่านี้จะสามารถปรับเปลี่ยนระบบขนส่งโลจิสติกส์ของประเทศ และเพิ่มทางเลือกในการเดินทาง “ให้สามารถเดินทางให้สะดวกขึ้น ระยะเวลาสั้นลง มีความปลอดภัยมากขึ้น”

ยกตัวอย่าง การเดินทางจากกรุงเทพฯไปจังหวัดนครราชสีมา หากใช้ทางเลือกที่ 1 เดินทางโดยรถยนต์โดยใช้ถนนมิตรภาพ ใช้เวลาเดินทาง 3 ชั่วโมงครึ่ง ทางเลือกที่ 2 เดินทางโดยรถยนต์ แต่เปลี่ยนมาใช้ถนนมอเตอร์เวย์ใช้เวลาเดินทางจะลดลงเหลือ 1 ชั่วโมงครึ่ง และทางเลือกที่ 3 เดินทางโดยรถไฟความเร็วสูง จะใช้เวลาเดินทางเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น

นอกจากนั้น ยังจะช่วยลดต้นทุนการประกอบการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศในด้านต่างๆ ให้เพิ่มสูงขึ้น

โดยจากการศึกษาระบบมอเตอร์เวย์ สายกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง สายบางปะอิน-โคราช และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี สามารถเพิ่มความเร็วในการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังหัวเมืองหลัก ในระยะรัศมี 300 กิโลเมตร จาก 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ขณะที่โครงสร้างระบบรางที่ได้ลงทุนไป จะเพิ่มความเร็วในการเดินรถไฟขบวนผู้โดยสาร จาก 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเพิ่มความเร็วในการเดินรถไฟขบวนสินค้า จาก 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งตู้สินค้าจาก 7 ล้านตู้ต่อปี เป็น 18 ล้านตู้ต่อปี ขณะที่การเพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยานหลัก ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอู่ตะเภา จะเพิ่มศักยภาพรองรับคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จาก 80 ล้านคนต่อปี เป็น 120 ล้านคนต่อปี

นอกจากนั้น ยังสามารถเชื่อมต่อกับภูมิภาคได้ด้วยโครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-ลาว-จีน และรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน เพิ่มโอกาสการค้า การลงทุน ด้วยโครงการ MR-MAP และ Landbridge ชุมพร-ระนอง

เร็วขึ้น สะดวกขึ้น ตรงเวลา ราคาโอเค

ขณะเดียวกัน หากจะมองใน 4 มิติ ตามหลักการของการใช้ประโยชน์ของโครงการโครงสร้างพื้นฐานของกระทรวงคมนาคม “ประโยชน์ที่คนไทย” จะได้รับในแต่ละมิติ จะมีดังนี้

มิติด้านความสะดวก

เพิ่มความเร็วในการเดินทางในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงรถติด เป็น 35 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ด้วยการใช้รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เพิ่มความเร็วในการเดินทางระหว่างเมืองจาก 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ด้วยการขับรถบนมอเตอร์เวย์ แต่หากใช้รถไฟทางคู่ความเร็วในการเดินทางจะเพิ่มขึ้นเป็น 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และหากเป็นรถไฟความเร็วสูงความเร็วในการเดินทางจะเพิ่มถึง 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ลดความแออัดที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานอู่ตะเภา โดยสามารถรับผู้โดยสารได้มากขึ้นจากเดิม 80 ล้านคนต่อปี เป็น 120 ล้านคนต่อปี

มิติปลอดภัย แก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนอย่างยั่งยืน

-โครงการ RFB ซึ่งใช้ยางพาราหุ้มแท่งคอนกรีตจะสามารถลดความเสียหายและแก้ปัญหาการชนต่างทิศทางบนถนนที่เป็นเกาะสี โครงการ Motorway ซึ่งเป็นระบบปิด และไม่อนุญาตให้รถมอเตอร์ไซค์มาใช้งาน จะช่วยลดปัญหาอุบัติเหตุจากรถที่ใช้ความเร็วต่างกัน และรถมอเตอร์ไซค์ได้

-โครงการพัฒนารถไฟทางคู่/รถไฟความเร็วสูง/รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ช่วยลดปริมาณการเดินทางและอุบัติเหตุบนถนน เนื่องจากรถไฟสามารถรองรับการเดินทางของคนได้มากกว่า และโอกาสการเกิดอุบัติเหตุน้อยมาก

-โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานอู่ตะเภา ลดปริมาณการเดินทางและอุบัติเหตุบนถนนมิติด้านเวลา

-โครงการรถไฟทางคู่ แก้ปัญหารถไฟรอหลีกและจุดตัดถนน ทำให้ความเร็วในการขนส่งสินค้าเพิ่มจาก 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงมิติด้านราคา

-โครงการรถไฟทางคู่ การขนส่งทางรางสามารถลดต้นทุนค่าขนส่งได้ 4 เท่าตัว ขณะที่โครงการท่าเรือแหลมฉบัง การขนส่งทางน้ำลดต้นทุนค่าขนส่งได้ 8 เท่าตัว ขณะที่ระบบขนส่งมวลชนทางรางมีค่าบริการที่เหมาะสม ประชาชนทุกระดับสามารถใช้บริการได้

เพิ่มเม็ดเงินสร้างมูลค่าเศรษฐกิจประเทศ

นอกจากนั้น หากมองในภาพรวมของประเทศ ยังจะได้รับประโยชน์จากแผนการลงทุนด้านคมนาคม โดยเฉพาะในเชิงเศรษฐกิจจากการหมุนเวียนเม็ดเงินการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ซึ่งจะส่งผลต่อให้เกิดการหมุนของเงินไปสู่ภาคส่วนต่างๆทางเศรษฐกิจ

รวมทั้งการเป็นปัจจัยที่สำคัญในการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติที่จะเลือกเข้ามาลงทุน รองรับการขนส่งสินค้า ช่วยลดต้นทุนการขนส่ง และเพิ่มประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ของประเทศ โดยเชื่อมโยงทั่วทุกภูมิภาค และรองรับการเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

โดยในปี 2565 นี้ ประเทศไทยจะมีโครงการลงทุนทั้งทางบก ทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ในวงเงินสูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย โครงการที่ได้ลงนามสัญญาแล้ว 516,000 ล้านบาท และโครงการลงทุนใหม่ 974,000 ล้านบาท ซึ่งคาดการณ์เบื้องต้นว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงานประมาณ 154,000 ตำแหน่ง และมีส่วนที่จะต้องใช้จัดหาวัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์ รวมทั้งเครื่องจักร และยานพาหนะต่างๆ ประมาณ 1.24 ล้านล้านบาท

และจากการประเมินผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ด้วยสูตรคำนวณจากงานวิจัยของ Global Infrastructure Hub and Cambridge Economic Policy Associates ของสหภาพยุโรป จะทำให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแบบทวีคูณ หรือ Multiply Effect 4 แสนล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 2.35% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)

“กระทรวงคมนาคมพยายามวางเป็น Action plan ไว้ ซึ่งจะทำให้ไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาล หรือเป็นรัฐมนตรีคมนาคม แผนการลงทุนขนาดใหญ่เหล่านี้จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน เพิ่มศักยภาพ และยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างไม่ติดขัด” รมว.คมนาคม กล่าวทิ้งท้าย.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ