คนไทยยังต้องพึ่งพาเงินกู้หนี้นอกระบบ หลังโอมิครอน ทำรายได้สั่นคลอนอีกครั้ง แนะรัฐปล่อยมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ เยียวยาด้านรายได้ สนับสนุนการจ้างงาน ปรับทักษะแรงงาน เพื่อเพิ่มความรายได้
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center หรือ EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทย ณ ไตรมาส 3 ปี 2564 อยู่ที่ 14.3 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัวที่ 4.2%YOY ซึ่งชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ระดับ 89.3% ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า โดยยังถือว่าอยู่ในระดับสูง
ขณะเดียวกัน การขยายตัวของสินเชื่อภาคครัวเรือนจากระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3/64 ชะลอลงในทุกหมวดสินเชื่อสำคัญ อย่างไรก็ดี สินเชื่อส่วนบุคคลยังคงขยายตัวในระดับสูงตามความต้องการสภาพคล่องเพื่อชดเชยรายได้ที่ลดลงที่ยังมีมาก
ทั้งนี้ ยังสะท้อนถึงแนวโน้มการกู้ยืมเพื่อนำมาใช้จ่ายทดแทนสภาพคล่องที่หายไปตามรายได้ที่ลดลงของภาคครัวเรือนที่ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญของการเติบโตของหนี้ครัวเรือนในช่วงนี้ และเป็นเทรนด์ที่ดำเนินมาต่อเนื่องในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับข้อมูลประกอบจาก Google Trends ในส่วนของการค้นหาคำที่เกี่ยวข้องกับ เงินกู้ เงินด่วน
โดยผลจากการค้นหาที่ปรากฏ สามารถเป็นได้ทั้งหนี้ในและนอกระบบ โดยล่าสุดแม้ดัชนีจะมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง แต่ก็ยังสูงกว่าระดับก่อนโควิดถึงราว 30% สะท้อนถึงความต้องการที่ยังสูงของผู้บริโภคต่อสินเชื่อเพื่อนำมาเป็นสภาพคล่องสำหรับการใช้จ่ายในช่วงที่รายได้ซบเซาและฟื้นตัวช้า
นอกจากนี้ สถาบันการเงินส่วนใหญ่ยังคงระมัดระวังในการให้สินเชื่อสะท้อนจากมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลที่ปรับเข้มงวดขึ้นมาโดยตลอดในช่วงวิกฤติโควิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อย ทำให้ความต้องการสินเชื่อที่ยังมีสูงอาจไม่ได้ถูกเติมเต็มได้อย่างครอบคลุมด้วยสินเชื่อในระบบ
ส่งผลทำให้ในช่วงโควิด ผู้บริโภคจำนวนหนึ่งที่มีความต้องการสินเชื่อ ได้หันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบ จากการสำรวจผู้บริโภคของ EIC พบว่า มีถึง 26.1% ของกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามที่ทำการกู้ยืมในช่วงโควิด ที่มีการกู้ยืมหนี้นอกระบบ แนวโน้มดังกล่าวส่งผลทำให้ปริมาณหนี้นอกระบบของภาคครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นหลังเกิดวิกฤติ COVID-19
จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมภาคครัวเรือน พบว่า หนี้นอกระบบของภาคครัวเรือนไทยรวมในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 อยู่สูงถึง 8.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นสูงจากช่วงก่อนโควิดในปี 2563 ที่อยู่ที่ 4.8 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราสูงถึง 78% ถือเป็นการกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งหลังจากที่หนี้นอกระบบมีแนวโน้มลดลงในปี 2563
เมื่อพิจารณาในรายละเอียดการกระจายตัวของหนี้นอกระบบภาคครัวเรือนจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ปัญหากระจุกตัวอยู่ในกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยเป็นส่วนใหญ่ ในภาพรวมสัดส่วนของครัวเรือนที่เป็นหนี้นอกระบบอยู่ที่ 9.2% จากจำนวนครัวเรือนที่มีหนี้ทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่ของครัวเรือนกลุ่มที่เป็นหนี้นอกระบบนี้มักจะกู้ยืมหนี้นอกระบบเพียงอย่างเดียว
หากแยกตามระดับรายได้แล้ว จะพบว่า สัดส่วนของการเป็นหนี้นอกระบบในกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยจะสูงกว่าครัวเรือนรายได้สูง สอดคล้องกับผลกระทบของวิกฤติครั้งนี้ที่มีความรุนแรงกับกลุ่มคนรายได้น้อย และมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อมักจะมีความเข้มงวดกับกลุ่มคนเหล่านี้มากเป็นพิเศษ
ทั้งนี้ ครัวเรือนที่พึ่งพาหนี้นอกระบบในระดับสูง มักมีภาระหนี้สูงกว่าจากอัตราดอกเบี้ยหนี้นอกระบบที่จะสูงกว่ามาก สถานการณ์ดังกล่าวนี้จึงเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข เพื่อป้องกันไม่ให้ครัวเรือนเปราะบางเหล่านี้เข้าสู่วังวนปัญหาภาระหนี้สินล้นพ้นตัว
เนื่องจากภาระหนี้สูงจะทำให้การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนมีข้อจำกัด ทั้งจากงบประมาณการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนที่จะลดลงตามภาระการผ่อนชำระที่เพิ่มสูงขึ้น และการขอสินเชื่อใหม่ที่ยากมากขึ้นหลังภาระหนี้เดิมอยู่ในระดับสูงส่งผลให้มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อโดยเฉพาะสินเชื่อในระบบมีความเข้มงวดมากขึ้น
ผลพวงจากภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูงดังกล่าวจะเป็นปัจจัยกดดันสำคัญต่อการบริโภคภาคเอกชนซึ่งถือเป็นเครื่องยนต์สำคัญ ทางเศรษฐกิจของไทยในยามที่การใช้จ่ายจากนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลต่อเนื่องให้เศรษฐกิจไทย ในภาพรวมมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าในระยะข้างหน้า
ทั้งนี้ EIC มองว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนมีโอกาสกลับมาเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนจะอยู่ในช่วง 89.5%-90.5% ต่อ GDP ภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 นี้ ก่อนที่จะทยอยปรับลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้เป็นต้นไป หลังการแพร่ระบาดของ Omicron เบาบางลงและกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาขยายตัวอีกครั้ง โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว
EIC มองว่า ในระยะต่อไปที่ครัวเรือนไทยมีแนวโน้มเข้าสู่ช่วงของการซ่อมแซมงบดุล หรือ deleverage ยังถือว่าเป็นช่วงที่มีความเปราะบางสูง ดังนั้น จึงต้องอาศัยมาตรการหลายด้านประกอบกัน เพื่อให้สถานะทางการเงินของภาคครัวเรือนฟื้นตัวได้อย่างราบรื่น