ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด คาดเศรษฐกิจไทยใน 65 จะเติบโตร้อยละ 3.3 แนะจับตาปัจจัยสำคัญทุกไตรมาสที่จะกระทบเศรษฐกิจ
เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 65 ที่ผ่านมา ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า เราคาดเศรษฐกิจไทยในปี 65 จะเติบโตร้อยละ 3.3 แต่ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามตลอดทั้งปี โดยแบ่งได้ดังนี้
ไตรมาสที่ 1 ฤดูกาลท่องเที่ยวของไทยเริ่มตั้งแต่เดือน พ.ย. ไปจนถึงไตรมาส 1 ของปีถัดไป ในไตรมาสนี้จึงเป็นที่จับตามองว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยในช่วงไฮซีซั่นอย่างไร หลังจากที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของไทยอย่างหนักในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
ไตรมาสที่ 2 เป็นช่วงของการทบทวนประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2565 ว่าจะมีจำนวน 5-10 ล้านคนตามที่คาดการณ์ไว้ได้หรือไม่ และสะท้อนให้เห็นว่าภาคการท่องเที่ยวกำลังค่อยๆ ฟื้นตัวสู่ภาวะปกติแล้วจริงไหม
ไตรมาสที่ 3 อาจจะเกิดความผันผวนในตลาดการเงินอันเป็นผลมาจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยกับธนาคารกลางอื่นในโลก เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยจะยังคงรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับต่ำให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ
ในขณะที่ธนาคารกลางอื่นๆ ในโลกอาจจะเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งอาจก่อให้เกิดเงินทุนไหลออกนอกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่ประเทศไทยไม่มีตัวช่วยอย่างดุลบัญชีเดินสะพัดและการท่องเที่ยวที่แข็งแกร่งเฉกเช่นในอดีตก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19
ไตรมาสที่ 4 น่าจะเริ่มมีการเคลื่อนไหวทางการเมือง เนื่องจากประเทศไทยจะเข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2566
"ปีนี้ยังคงมีความไม่แน่นอนรออยู่ โดยมีปัจจัยที่ต้องติดตามทุกไตรมาสตลอดทั้งปี โดยธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดมีมุมมองระมัดระวังสำหรับเศรษฐกิจไทยมาตั้งแต่ก่อนการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ในเดือนพ.ย. 64 เราคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะเติบโตร้อยละ 3.3 ซึ่งในขณะนั้นเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่าประมาณการจากสำนักอื่น แต่ตอนนี้ หลายๆ แห่งกำลังปรับลดประมาณการเศรษฐกิจของตนลงมา"
ทั้งนี้ การลงทุน การบริโภคภาคเอกชน ยังไม่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อนการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน การลงทุนภาคเอกชนยังไม่ส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ความเชื่อมั่นผู้บริโภค แม้จะปรับตัวดีขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยทั้งสองตัวแปรนี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่มั่นใจในภาคเอกชนที่ยังปกคลุมอยู่ในปี 2565
โดยเรามองว่าจะมีการเริ่มขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปี 2566 แม้ว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน แต่ยังอยู่ในกรอบที่ธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งไว้ ดังนั้น ด้วยภาวะที่เศรษฐกิจของประเทศยังต้องการการประคับประคอง คณะกรรมการนโยบายการเงินน่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ตลอดทั้งปี 2565 และหากเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวได้จริง ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดคาดว่า กนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง ในปี 2566
สำหรับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐต่อบาทนั้นน่าจะอยู่ที่ 32 บาท ในสิ้นปี 2565 โดยการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ประกอบกับผลกระทบจากการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 ค่าเงินบาทน่าจะยังคงอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม หากการท่องเที่ยวค่อยๆ กลับมาฟื้นตัว ค่าเงินบาทน่าจะเริ่มแข็งค่าขึ้นในครึ่งปีหลัง