สร้างแพลตฟอร์มใหม่ให้ประเทศ “สุวัจน์” แนะรัฐบาลหากจำเป็นกู้เพิ่มก็ต้องกู้

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

สร้างแพลตฟอร์มใหม่ให้ประเทศ “สุวัจน์” แนะรัฐบาลหากจำเป็นกู้เพิ่มก็ต้องกู้

Date Time: 6 ม.ค. 2565 06:45 น.

Summary

  • “สุวัจน์” ชี้เศรษฐกิจประเทศไทยปี 2565 ยังต้องพึ่งพาตนเอง แนะรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง หากจำเป็นต้องกู้เพิ่มก็ต้องกู้

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

“สุวัจน์” ชี้เศรษฐกิจประเทศไทยปี 2565 ยังต้องพึ่งพาตนเอง แนะรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง หากจำเป็นต้องกู้เพิ่มก็ต้องกู้ ต้องคิดหาแพลตฟอร์มใหม่ให้ประเทศรบบนจุดแข็ง ไม่มีวันแพ้ สร้างประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยว ระดับไฮเอนด์ พร้อมกระตุ้นคนไทยเที่ยวไทย ลงทุนในไทย ซื้อของไทย ใช้ของไทย

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา เปิดเผยถึงมุมมองที่มีต่อสถานการณ์ของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ว่า คนไทยยังคงต้องพึ่งพาตนเอง เนื่องจากการฟื้นตัวทางด้านเศรษฐกิจมีสองอย่างคือชาวต่างชาติเข้ามาลงทุน และชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยว แต่ทั้งสองประเด็น ยังมีข้อจำกัด โดยการท่องเที่ยวที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วที่สุด แต่ผลจากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2564 ทำให้ตลอดทั้งปี ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในระดับ 500,000 คน แม้เปิดประตูแล้วก็ยังเข้ามาไม่ถึง 1 ล้านคน จากเดิมเคยมีถึง 40 ล้านคน เนื่องจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก ที่มีสายพันธุ์โอมิครอนเกิดขึ้น มีการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ เป็นเรื่องของความพร้อมของประเทศต้นทางด้วย

“ถ้าโควิด-19 ของโลกไม่ขยายมากนัก ในปี 2565 นักท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมา แต่ไม่ใช่ 40 ล้านคน ถ้าจะกลับมาเหมือนเดิมอย่างน้อยต้องใช้เวลา 2-3 ปี ก็อาจจะมีมาบ้าง 10 ล้านคน”

ส่วนเรื่องการเข้ามาลงทุน ต้องมีเรื่องของความเชื่อมั่นสถานการณ์ความเรียบร้อยภายในประเทศ รัฐบาลต้องมีนโยบายที่ชัดเจน ต้องย้ายเงินมาลงทุนต้องมาตอกเสาเข็ม ต้องมาขออนุญาต กระบวนการต่างๆใช้เวลา 4-5 ปี ฉะนั้นถ้าคิดจะฟื้นตัวเศรษฐกิจโดยเร็วจากการลงทุนต้องใช้เวลา

ปี 2565 ประเทศไทยต้องพึ่งตัวเอง

นายสุวัจน์กล่าวว่า ดูภาพรวมแล้วปี 2565 เศรษฐกิจไทย ถ้าจะมีที่สุดจะขยายตัวกว่า 3% ส่วนปี 2564 คงขยายตัว 1% กว่าๆ การพึ่งพาตนเองที่สำคัญที่สุดคือ การกระตุ้นเศรษฐกิจ โครงการต่างๆที่รัฐบาลออกมา เราเที่ยวด้วยกัน คนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน ยิ่งใช้ยิ่งได้ เป็นการสร้างดีมานด์จากคนในชาติ เมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เคยมี 40 ล้านคนยังไม่มาก วันนี้ก็ต้องอาศัยคนไทย 60 ล้านคนออกมาใช้จ่ายถ้าใครยังพอมีกำลัง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อรักษาเอสเอ็มอี และรักษาให้คนยังมีงานทำ

โดยการกระตุ้นเศรษฐกิจเหล่านี้ ต้องมีต่อเนื่องในปี 2565 เพื่อรักษาการเติบโตของอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ตัวอย่าง พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้โควิด-19 วงเงิน 500,000 ล้านบาท ใช้บรรเทาเยียวยา 300,000 ล้านบาท และใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ 170,000 ล้านบาท ควรเพิ่มสัดส่วนการกระตุ้นเศรษฐกิจให้สูงขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาทำงาน การกระตุ้นต้องทำให้ถูกจุดเพื่อให้เศรษฐกิจกระเตื้อง ที่ผ่านมาการช่วยเหลือโดยตรงถึงผู้ประกอบการ ยังไม่เพียงพอ ถ้ามีมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีโดยตรง โดยเฉพาะกิจการขนาดเล็กที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ต้องช่วยให้เขาอยู่ได้ก่อน

“ผมคิดว่าการกู้เงินเพิ่ม ถ้าจำเป็นก็ต้องทำ ทุกประเทศทั่วโลกก็ทำกัน และตอนนี้ขยายเพดานหนี้สาธารณะไป 70% ของจีดีพี จึงมีพื้นที่ให้กู้ได้อีก 1 ล้านล้านบาท ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่ก็ต้องเตรียมเงิน ไม่เช่นนั้นเศรษฐกิจไทยจะลำบาก จะอยู่ไม่ได้”

นายสุวัจน์กล่าวว่า การกระตุ้นการใช้จ่าย ของคนไทยมีความจำเป็นเหมือนสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี มีนโยบายชาตินิยม ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ เพื่อกอบกู้เศรษฐกิจ ซึ่งสถานการณ์เศรษฐกิจของบ้านเมืองวันนี้ก็ต้องออกมาแนวนี้ เมดอินไทยแลนด์ไทยเที่ยวไทย ไทยลงทุนในไทย ไทยซื้อของไทย ไทยใช้ของไทย ต้องเอาความเป็นชาตินิยมมากระตุ้น และมากอบกู้ไม่ให้พวกเราจมน้ำ เพื่อรอวันโควิด-19 คลี่คลาย

สร้างแพลตฟอร์มใหม่ให้ประเทศ

ขณะเดียวกัน ต้องมองไปข้างหน้าและคิดนโยบายเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ว่าต้องทำอะไรบ้าง เพราะพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ของคนจะเปลี่ยนไปและมากระทบต่อธุรกิจ ต่อการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมของไทย ต้องคำนึงถึงแล้ว จะดำเนินนโยบายของประเทศอย่างไร เพื่อสร้างความเข้มแข็งที่ยั่งยืน โดยต้องติดตามสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกมาปรับแผนภายในประเทศด้วย ประกอบด้วย 3 ตัวแปร คือ การระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และภาวะเงินเฟ้อในโลกที่เกิดขึ้นจากการที่ทุกประเทศกู้เงินมาใช้จ่ายดูแลปัญหาโควิด-19 จนหนี้สาธารณะของทุกประเทศทั่วโลก อยู่ที่ 226 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 250% ของจีดีพีโลก

“วันนี้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยควรสร้างแพลตฟอร์มใหม่ของประเทศ ประเด็นแรกต้องสร้างความเข้มแข็งของประเทศภายใต้ ไทยแลนด์ กรีน เพราะวันนี้กระแสโลกร้อน เรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมมาแรงมาก ต่อไปเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่จะตามมา ต้องสร้างความตื่นตัวและการมีส่วนร่วมของประชาชน และต้องให้ความสำคัญกับเขตภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งประเทศไทยถูกรายล้อมไปด้วยข้อตกลงทางการค้าต่างๆที่มีทั้งด้านบวกและลบ หากตั้งรับไม่ดี สินค้าต่างๆจะเข้ามาตีเรากระจุย หากตั้งรับให้ดี ประเทศไทยจะเป็นประตูการค้าสู่โลกผ่านเวทีต่างๆ และเป็นตัวเพิ่มระบบเศรษฐกิจให้ไทย เป็นด่านหน้าสู่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก”

รบบนจุดแข็งไม่มีวันแพ้

ประเด็นต่อมาต้องสร้างจุดเปลี่ยนของการท่องเที่ยว สร้างสินค้าท่องเที่ยวให้มีความหลากหลาย และมีความแตกต่าง และยกระดับประเทศไทย เป็นจุดหมายปลายทางระดับไฮเอนด์ เพื่อดึงให้นักท่องเที่ยวอยู่ให้นานขึ้น ใช้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะการทำให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางของกลุ่มดิจิทัล นอแมด (Digital Nomad) ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ทำงานผ่านระบบเทคโนโลยี สามารถอยู่ที่ใดในโลกก็ทำงานได้ และต้องส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งเป็นกลุ่มใช้จ่ายสูง และสร้างประเทศไทยให้เป็นเมืองอาหารอร่อยของโลก

“ต้องสร้างประเทศไทยให้เป็นของดีราคาแพง ปรับการดูแลความปลอดภัยให้ดี จะสามารถพลิกประเทศไทยได้ เป็นการพัฒนาประเทศบนจุดแข็ง ที่ใครมาขโมยไปไม่ได้ การรบบนจุดแข็งจะไม่มีวันแพ้”

นายสุวัจน์กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยมีสินค้าเกษตร 5 ชนิดสำคัญในมือที่เป็นระดับโลก ได้แก่ ข้าว อ้อย ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน จะต้องเปลี่ยนจากการส่งออกวัตถุดิบ เป็นการนำเทคโนโลยีมาปรับให้เป็นสินค้าอุตสาหกรรมแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าในการส่งออก จะมีรายได้มหาศาลเป็น 100 เท่า และสุดท้ายต้องเปลี่ยนระบบการศึกษาของประเทศไทย ให้เด็กมีพื้นที่ค้นคว้าหาทักษะของตัวเองให้เจอว่าเก่งด้านไหน เพื่อให้เป็นกำลังมหาศาลของชาติภายใต้แพลต ฟอร์มใหม่ของประเทศ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ