ส่องทิศทาง “ทองคำ-น้ำมัน-หุ้น-เงินบาท” ปีขาล

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ส่องทิศทาง “ทองคำ-น้ำมัน-หุ้น-เงินบาท” ปีขาล

Date Time: 4 ม.ค. 2565 06:59 น.

Summary

  • ผ่านเข้าสู่ปีใหม่ 2565 ปีที่ประเทศไทยกำลังเร่งฟื้นตัวฟื้นเศรษฐกิจอยู่ในช่วงเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว เพื่อรีสตาร์ต “เครื่องยนต์หลัก” ต่างๆ เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

ผ่านเข้าสู่ปีใหม่ 2565 ปีที่ประเทศไทยกำลังเร่งฟื้นตัวฟื้นเศรษฐกิจอยู่ในช่วงเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว เพื่อรีสตาร์ต “เครื่องยนต์หลัก” ต่างๆ เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ ขณะที่ “มหันตภัย โควิด-19” ที่ล่าสุดแปรสภาพเป็นสายพันธุ์ “โอมิครอน” เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ยังคงเป็นภัยร้ายคุกคามแพร่กระจายไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย

ทำให้ตลอดทั้งปีเสือไฟนี้ “โอมิครอน” จะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศอย่างแน่นอน และยังไม่มีใครคาดเดาได้ว่า ในปีนี้โอมิครอนจะกลายพันธุ์ไปสู่สายพันธุ์มรณะใหม่ๆชนิดใดเพิ่มขึ้นอีก

หากเราควบคุมการแพร่ระบาดได้เศรษฐกิจไทยปีนี้ก็ควรจะฟื้นได้ต่อเนื่อง แต่หากตรงกันข้าม เราอาจได้เห็นภาพของตลาดหุ้นแดงเถือกทั้งกระดาน ราคาน้ำมันผันผวนขึ้นลง ตามกระแสการตื่นตูมของตลาดซื้อขาย ลามไปสู่ตลาดทองคำที่ราคาอาจระส่ำเพื่อหาที่หลบภัยสุดท้าย ลุกลามไปถึงค่าเงินบาทที่มีผลต่อรายได้จากการส่งออก

“ทีมเศรษฐกิจ” ได้เปิดพื้นที่ให้บรรดากูรู ผู้คร่ำหวอดในแวดวงตลาดทองคำ หุ้น นักค้าเงิน และน้ำมัน มาอรรถาธิบาย เพื่อให้สามารถจับทิศทางราคาตลอด ทั้งปีนี้ เริ่มต้นจากแนวโน้มราคาทองคำ เป็นอันดับแรก

ธนรัชต์ พสวงศ์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มผู้ค้าทองฮั่วเซ่งเฮง

“แนวโน้มราคาทองคำปี 2565 จะเริ่มกลับมาเป็นปีที่ดีของทองคำ ซึ่งคาดว่าราคาตลาดโลกจะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,750-1,920 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ หรือราคาทองแท่งในประเทศที่ 27,750-29,500 บาท โดยราคาน่าจะปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 1 ที่มีความต้องการจากเอเชีย โดยเฉพาะจีนก่อนเทศกาลตรุษจีน มาช่วยหนุนราคาทองคำ”

ทั้งนี้ เมื่อดูจากสถิติย้อนหลังเดือน ม.ค.ของทุกๆปีที่เป็นเดือนที่ราคาทองคำ Spot ปรับขึ้นโดดเด่นมากที่สุดของปี โดยมีผลตอบแทนเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลังเท่ากับ 4.1% และมีผลตอบแทนเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังเท่ากับ 2.7% นอกจากนี้ ยังเกิดจากความต้องการทองคำ ในฐานะสินทรัพย์ที่ป้องกันเงินเฟ้อ

โดยราคาทองคำในปี 2564 ในตลาดโลกปรับลดลง เนื่องจากมีแรงขายสินทรัพย์ปลอดภัย เม็ดเงินของนักลงทุนไหลไปเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง อาทิ หุ้นสินค้าโภคภัณฑ์ คริปโตเคอร์เรนซี แต่หลังจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว หลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และจีน เปิดให้ทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้ตลาดทองคำเริ่มฟื้นกลับมา

ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของราคาทองคำตลาดโลกปีนี้ ได้แก่ การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งนายเจอโรม พาวเวล เป็นประธานเฟดสมัยที่ 2 แนวโน้มเงินเฟ้อของสหรัฐฯ แรงซื้อขายทองแท่งในตลาดโลก การซื้อขายของกองทุนอีทีเอฟทองคำ

“การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้อาจมีแรงเทขายตลาดหุ้นทั่วโลกและเข้าซื้อทองคำ ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยได้”

ส่วนนโยบายการเงินเฟด ที่ปีนี้คาดการณ์ว่าเฟดจะยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในเดือน มี.ค. และเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย. โดยจะขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้ง และมองว่าปีนี้ ราคาทองคำน่าจะไม่ได้รับแรงกดดันทางลบ จากนโยบายการเงินของเฟดมากเหมือนปีที่ผ่านมา

ขณะที่แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ เป็นประเด็นร้อนแรงที่ต้องติดตามว่าจะเริ่มชะลอตัวลงหรือไม่ เพราะมีผลต่อนโยบายการเงินของเฟดเช่นกัน ส่วนแรงซื้อขายทองแท่งและกองทุนอีทีเอฟทองคำ คาดว่าจะมีแรงซื้อทองแท่งจากเอเชียโดยเฉพาะจีนและอินเดียตลอดทั้งปี ขณะที่กองทุนอีทีเอฟทองคำ อาจกลับมาซื้อทองคำเช่นกัน

“คำแนะนำการลงทุนในทองแท่ง มองว่าราคาทองคำที่ปรับลดลงเป็นโอกาสในการเข้าซื้อ โดยทยอยสะสมที่ระดับราคาทองคำ Spot 1,750-1,770 ดอลลาร์ฯ หรือราคาทองแท่งในประเทศ 27,750-28,050 บาทที่จะลงทุนได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว”

ไพบูลย์ นลินทรางกูร
ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิสโก้ จำกัด

จากตลาดทองคำ เรามาต่อกันที่ตลาดหุ้น ซึ่งประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย มองว่า “ปี 2565 จะเป็นปีที่ท้าทายสำหรับนักลงทุน และดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯที่กำลังกลับสู่ขาขึ้นคือปัจจัยเสี่ยงหลัก ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องติดตาม คือโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ๆที่อาจเกิดขึ้นเรื่อยๆ”

ถ้าดูสถิติการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด 4 รอบ ล่าสุด พบว่าปรับขึ้นเฉลี่ย 2.8% ในแต่ละรอบ รอบที่ขึ้นรุนแรงที่สุดเกิดขึ้นในช่วงปี 2547-2549 ที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกัน 17 ครั้ง รวม 4.25% นอกจากนั้น อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นรวดเร็ว เป็นอีกสาเหตุของการขึ้นดอกเบี้ยเฟด แทบทุกรอบ โดยปี 2547-2549 เงินเฟ้อเคลื่อนไหวในกรอบ 3-4% เกือบทุกเดือน บางเดือนสูงถึง 4.7% ซึ่งเกินเป้าหมายระยะยาวของเฟดที่เฉลี่ย 2% จึงต้องมีการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดที่สุดในรอบ 30 ปี

“ดังนั้น แม้ผลการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา เฟดยังไม่ได้ปรับนโยบายการเงิน แต่ส่งสัญญาณชัดเจนว่าอาจเริ่มขึ้นดอกเบี้ยในไตรมาส 2 เพื่อรับมือกับเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น และสูงถึง 6.2% เทียบกับเดือน ต.ค. 2564 แต่ผมมองว่าการขึ้นดอกเบี้ยเฟดรอบนี้ ไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวล เพราะเป็นการปรับขึ้นจากฐานที่ต่ำมากที่ 0-0.25%”

อย่างไรก็ดี บางคนมองว่าปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ไม่น่าคลี่คลายได้เร็วอย่างที่คิด และเชื่อว่าดอกเบี้ยเฟดจะเพิ่มขึ้นเกินระดับ 1.75% ที่สะท้อนในตลาดล่วงหน้า Fed Funds Futures

“ผมเชื่อว่าเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทั่วโลก เป็นภาวะชั่วคราว เกิดจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของความต้องการ ในขณะที่ภาคการผลิตยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ แต่เมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกทยอยกลับสู่ภาวะปกติขึ้น ภายในครึ่งหลังของปีหน้า แรงกดดันเงินเฟ้อจะชะลอลง”

ดังนั้น ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ยังขอแนะนำให้ถือหุ้นเป็นหลัก เพราะเศรษฐกิจโลกยังดูแข็งแรง และดอกเบี้ยโลก ยังไม่ขึ้นไปสู่จุดที่เป็นอันตรายต่อการลงทุน

ขณะที่ตลาดหุ้นไทย ก็ยังน่าลงทุน เพราะเศรษฐกิจไทย มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวในระดับ 4% และ SET Index ยังทรงตัวในระดับใกล้เคียง กับช่วงก่อนโควิด-19 ในขณะที่ตลาดหุ้นโลก (MSCI ACWI Index) ปรับขึ้นไปแล้ว 32% โดยหุ้นกลุ่มที่น่าสนใจคือ ธนาคารพาณิชย์ การบริโภค โรงพยาบาล โทรคมนาคม ส่วนแนวโน้มเม็ดเงินต่างชาติที่จะไหลกลับเข้าตลาดหุ้นไทยมีสูง เพราะไทยมีจุดขายในฐานะประเทศท่องเที่ยว เป็นต้น

“ยังมีอีกปัจจัยบวกที่น่าจับตามอง คือ การเลือกตั้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีนี้ เพราะจากสถิติการเลือกตั้ง 14 ครั้งใน 39 ปีที่ผ่านมา SET Index ปรับขึ้นเฉลี่ย 6% ล่วงหน้า 3 เดือนก่อนวันเลือกตั้ง และอีก 7% ภายใน 12 เดือนหลังการเลือกตั้ง”

เชาว์ เก่งชน
ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

สำหรับทิศทางของอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน และค่าเงินบาท ปี 2565 ดร.เชาว์ กล่าวว่า ทิศทางของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ ขึ้นอยู่กับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของเฟด ตลอดจนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว และฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย โดยสามารถแยกการวิเคราะห์ออกเป็น 2 กรณี คือ

กรณีที่ 1 อัตราดอกเบี้ย หากสายพันธุ์โอมิครอนไม่ส่งผลกระทบรุนแรงมากนัก และเศรษฐกิจสหรัฐฯยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ทำให้มีความเป็นไปได้ที่เฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ในทางตรงกันข้าม หากโอมิครอนมีความรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้างและยาวนาน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯและอีกหลายๆประเทศ จะถูกเลื่อนออกไปอีก ขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันดิบก็อาจจะย่อตัวลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในหลายๆประเทศลดความร้อนแรงลงไปด้วย ทำให้ในกรณีนี้ เฟดและธนาคารกลางต่างๆ คงจะเลื่อนการปรับขึ้นดอกเบี้ยออกไปจากที่คาดไว้

ส่วนกรณีที่ 2 ค่าเงินบาท หากการแพร่ระบาดของโอมิครอน ส่งผลกระทบไม่รุนแรง แม้ว่าเงินดอลลาร์ฯจะได้รับแรงหนุนจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด แต่หากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวของไทยมีความแข็งแกร่ง เงินบาทก็อาจจะพอรักษาระดับไว้ได้ โดยก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยไปที่ระดับใด เช่น ถ้าปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75-1.00% ณ สิ้นปีนี้ ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังยืนระดับที่ 0.50% แล้ว ความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว อาจทำให้เกิดกระแสเงินทุนไหลออกและกดดันค่าบาทได้

“หากเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดตลอดทั้งปีนี้ ถึง 2–3 ครั้ง ก็จะเพิ่มแรงกดดันต่อค่าบาทให้มีโอกาสเคลื่อนไหวในกรอบอ่อนค่าในช่วงครึ่งปีแรก ประกอบกับการระบาดของโอมิครอนยังรุนแรง ก็จะกระทบรายได้จากการท่องเที่ยวและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ทำให้เงินบาทครึ่งปีแรกขาดปัจจัยหนุนและอ่อนค่ากว่ากรณีแรก ทำให้ไตรมาส 2 ค่าบาทมีโอกาสอ่อนค่าแตะ 34.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ”

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูล ห้องค้าธนาคารกสิกรไทย มองแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยและเงินบาทในปีนี้ ว่า เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียว ขณะที่ ธปท.จะยืนอัตราดอกเบี้ยในระดับปัจจุบัน แต่การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ที่พลิกกลับมาเป็นบวก จะหนุนให้เงินบาทกลับมาแข็งค่า คาดว่าจะปิดปีนี้ที่กรอบ 32.00-32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

“จุดที่สำคัญ คือ สถานการณ์ต่างๆที่ยังอาจเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ตลอดปีนี้ จะเป็นอีกปีที่ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ มีความผันผวนสูง”

ทีมวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมัน
กลุ่ม ปตท. (PRISM Expert)

“ไวรัส โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันโลก ส่งผลต่อความต้องการใช้เมื่อปี 2562 อยู่ที่ 100.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงเมื่อเกิดการระบาดรุนแรง ทำให้ไตรมาสที่ 2 ปี 2563 ความต้องการใช้ลดลงมาอยู่ที่ 80 ล้านบาร์เรลต่อวัน จนถึงปัจจุบันความต้องการก็ยังไม่กลับไปเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 แต่ราคาตลาดโลก กลับทรงตัวในระดับสูงตั้งแต่ต้นปี 2564”

ขณะที่สถานการณ์ ราคาน้ำมันดิบดูไบ แหล่งนำเข้าหลักของประเทศไทย จากเมื่อเดือน ม.ค.2564 อยู่ที่ระดับ 54.7 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล แต่ในเดือน พ.ย.ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 81.2 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล หรือปรับขึ้นมา 48% จากช่วงต้นปี 2564 โดยปัจจัยที่ส่งผลทำให้ราคาเพิ่มขึ้น เพราะหลายๆประเทศเริ่มคลายมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาสู่ภาวะปกติ

นอกจากนี้ ภาวะโลกร้อน (Climate Change) ทำให้อากาศทั่วโลกแปรปรวน ส่งผลให้ปี 2564 ประเทศเขตหนาว โดยเฉพาะในสหภาพยุโรป เผชิญกับสภาวะหนาวจัดในฤดูหนาวช่วงต้นปี และร้อนจัด (Heat Wave) ในฤดูร้อนทำให้ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น ได้นำไปสู่สถานการณ์ขาดแคลนก๊าซธรรมชาติ และกระตุ้นให้เกิดการใช้น้ำมันเพื่อผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น 500,000-800,000 บาร์เรลต่อวัน

คาดว่าในปีนี้ ความต้องการใช้น้ำมันโลกจะเติบโตขึ้น 3 ล้านบาร์เรลต่อวันจากปีที่ผ่านมา

ขณะที่มองการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปก (OPEC) และพันธมิตรโอเปกพลัส (OPEC+) ว่าจะยังคงรักษาข้อตกลงควบคุมปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ ต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี 2565 รวมถึงการลงทุนขุดเจาะน้ำมันทั่วโลกชะลอลง เพราะขาดสภาพคล่องจากโควิด-19

สิ่งสำคัญ คือต้องจับตาอิหร่าน หนึ่งในสมาชิก OPEC ที่ได้รับการยกเว้นข้อตกลงลดการผลิต ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงเจรจารื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์กับชาติมหาอำนาจ เพื่อยกเลิกหรือผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน หากสำเร็จ จะทำให้อิหร่านกลับมาส่งออกน้ำมันดิบได้เพิ่มขึ้น ขณะที่สหรัฐฯ ผู้ผลิตน้ำมันดิบมากที่สุดของโลก แม้ว่ามีแนวโน้มผลิตเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่เท่ากับก่อนเกิดโควิด-19 โดยสหรัฐฯจะผลิตน้ำมันเฉลี่ยในปีนี้ 12 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ดังนั้น จึงมีแนวโน้มว่าปี 2565 ปริมาณการผลิตน้ำมันโลกจะพลิกกลับมาสูงกว่าความต้องการใช้แตกต่างจากปี 2564 ที่ความต้องการใช้สูงกว่าปริมาณการผลิต

“ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยปี 2565 จะเคลื่อนไหวในกรอบ 67-75 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล แต่ยังต้องจับตาประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน นโยบายทางการเงิน การยกเลิกคว่ำบาตรต่ออิหร่าน ตลอดจนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน เพราะทุกๆประเด็นล้วนมีผลต่อราคาน้ำมันตลาดโลก”.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ