เหลืออีกแค่ 4 วันก็จะสิ้นปีเก่า 2564 เข้าสู่ศักราชใหม่ 2565 แล้ว ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้โฉมหน้าของเศรษฐกิจโลกพลิกโฉมไปอย่างรวดเร็ว แน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เราลองมาดูกันว่า 10 ธุรกิจดาวรุ่ง-ดาวร่วง ในปี 2565 ที่ทางสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ไปดู 10 ธุรกิจดาวรุ่งกันก่อน
อันดับ 1 มีคะแนนเท่ากันสูงถึง 95.5 คะแนน อยู่ 2 ธุรกิจ คือ ธุรกิจการแพทย์และความงาม กับ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ-ขายของออนไลน์
2.ธุรกิจแพลตฟอร์ม ตัวกลางหรือตลาดกลางด้านอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง
3.ธุรกิจโลจิสติกส์ ดีลิเวอรี และคลังสินค้า ที่มีคะแนนเท่ากันกับ ธุรกิจด้านฟินเทค ระบบในการชำระเงินผ่านเทคโนโลยี
4.ธุรกิจประกัน ทั้งประกันภัย และประกันชีวิต จะกลับมา
5.ธุรกิจอาหารเสริมและสุขภาพ และธุรกิจขายตรง
6.ธุรกิจแปรรูปยาง ทั้งถุงมือยางและถุงยาง, และธุรกิจอาหารสำเร็จรูป
7.ธุรกิจจัดทำคอนเทนต์ Youtuber และการรีวิวสินค้า, ธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์
8.ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, ธุรกิจโมเดิลเทรด ค้าปลีกสมัยใหม่
9.ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน
และ 10.ธุรกิจเพื่อความบันเทิง เช่น Netflix และแพลตฟอร์มคอนเทนต์อื่นๆ, ธุรกิจยานยนต์, ธุรกิจก่อสร้าง, ธุรกิจท่องเที่ยว และบริการต่อเนื่อง
ทีนี้ไปดู 10 ธุรกิจดาวร่วงบ้าง อันดับ 1.ธุรกิจผลิตโทรศัพท์พื้นฐาน และเครื่องโทรสาร 2.ธุรกิจฟอกย้อม และธุรกิจหัตกรรมที่ไม่มีการออกแบบและราคาถูก 3.ธุรกิจสิ่งพิมพ์ วารสาร ธุรกิจรับส่งหนังสือพิมพ์ 4.ธุรกิจโรงพิมพ์, ธุรกิจคนกลาง 5.ธุรกิจผลิตและขายต้นไม้ ดอกไม้ประดิษฐ์ และธุรกิจผ้าโหล
6.ธุรกิจเครื่องปั้นดินเผา และเซรามิก 7.ธุรกิจร้านถ่ายรูป 8.ธุรกิจนำเที่ยวในประเทศ 9.ธุรกิจ Call Center และอันดับที่ 10 ธุรกิจของเล่นเด็ก
ทั้งหมดนี้ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจดาวรุ่งหรือดาวร่วงก็ล้วนมีจุดดีจุดเสี่ยง อย่างกลุ่มธุรกิจดาวร่วง หากมีการปรับตัว ปรับเทคโนโลยี หรือปรับคอนเทนต์ใหม่ๆก็น่าจะไปต่อได้
เช่นเดียวกับธุรกิจดาวรุ่ง แม้จะได้เปรียบในเรื่องของกระแสของธุรกิจยุคใหม่ แต่หากตามการแข่งขันโลกไม่ทันก็มีจุดเสี่ยงสูงอยู่เหมือนกัน
ขณะเดียวกันนโยบายของภาครัฐก็ถือว่ามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 65 ด้วย
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กางแผนการบริหารของกระทรวงการคลังในปี 2565
จะให้ความสำคัญกับ 1.การรักษาแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจ จากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการท่องเที่ยวในประเทศ ผ่านสารพัดโครงการอัดฉีดของรัฐ 2.ขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่
3.ส่งเสริม SMEs และ Startup 4.ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตาม BCG Model (Bio-Circular-Green Economic Model) 5.สนับสนุนการส่งออกและนำเข้าสินค้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประกอบธุรกิจ 6.ส่งเสริม Digital Government
ก็ต้องดูกันว่า กระทรวงการคลังจะทำตามแผนได้หรือไม่.
เพลิงสุริยะ