เมื่อเร็วๆนี้ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯและ รมว.พลังงาน แถลงถึงทิศทางแผนการดำเนินงานของกระทรวงพลังงานในปีหน้า มีการกำหนดทิศทางเอาไว้ภายใต้มิติ Collaboration for Change C4C ก้าวสู่ยุคพลังงานสะอาด โดยมีการจับมือกับพันธมิตรเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย มุ่งสู่การปรับตัวสู่บทบาทขององค์กรเพื่อก้าวสู่ยุค Energy Transition มีทั้งการปลดล็อก กฎระเบียบ และจับมือกับทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาใน 3 ด้าน คือ ด้านพลังงานสร้างความมั่นคงสู่เป้าหมายสังคมคาร์บอนต่ำ ด้านพลังงานเสริมสร้างเศรษฐกิจ และด้านพลังงานลดความเหลื่อมล้ำและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ดังนั้น การทำแผนพลังงานแห่งชาติ ที่ต้องคำนึงถึง พลังงานสะอาด และ การนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น เช่น การขับเคลื่อน Grid Modernization หรือ สมาร์ทกริด การปลดล็อกกฎระเบียบการซื้อขายไฟฟ้าสะอาดและการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติให้เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ เป็นต้น
การเสริมสร้างเศรษฐกิจและการขับเคลื่อนการลงทุน โครงการประกอบกิจการปิโตรเลียมที่คาดว่าจะสร้างรายได้เข้าประเทศมูลค่ากว่า 44,300 ล้านบาท กำหนดโครงสร้างราคาน้ำมันและสัดส่วนการผสมเชื้อเพลิงชีวภาพให้มีความเหมาะสม เป็นธรรมชาติ เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่ายในระดับที่เหมาะสม การส่งเสริมการลงทุนปิโตรเคมีระยะที่ 4 ใน EEC กำหนดทิศทางการขยายการลงทุนปิโตรเคมีกระตุ้นเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิด-19 คาดจะเกิดเม็ดเงินลงทุนในปี 2565-2569 ไม่ต่ำกว่า 2-3 แสนล้านบาท การส่งเสริมลงทุนต่อเนื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน มูลค่ากว่า 143,000 ล้านบาท การส่งเสริมการลงทุน EV Charging Station และยานยนต์ไฟฟ้า และเร่งพัฒนาระบบไฟฟ้า เพื่อรองรับการขยายตัว
การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต การขยายการลงทุนพลังงานสะอาดทุกรูปแบบ และการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนผ่านกองทุนอนุรักษ์ ปี 2565 วงเงินกว่า 1,800 ล้านบาท
ที่สำคัญคือ ด้านพลังงานลดความเหลื่อมล้ำและสร้างคุณภาพชีวิต ที่ดีขึ้น มีการเดินหน้ากระจายเม็ดเงินลงทุนสู่ชุมชน 76 จังหวัด เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีพลังงานลดต้นทุนการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน รวมถึงการขับเคลื่อนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนระยะที่ 1 เตรียมขยายโรงไฟฟ้าชุมชนระยะที่ 2 ทิศทางทั้ง 3 ด้านเป็นแผนที่ครอบคลุมทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานที่สอดรับกับทิศทางและเทรนด์ของโลก พัฒนาความก้าวหน้าและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจตั้งแต่ฐานรากจนถึงเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ
การเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ที่เกิดจากผลกระทบจากธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัย เช่น จากโควิด-19 ทำให้หลายประเทศตื่นตัวและนำมาเป็นแผนแม่บทยุทธศาสตร์ประเทศในอนาคต ส่งผลกระทบให้มีการใช้พลังงานจากน้ำมันน้อยลงและหันมาใช้พลังงานสะอาด พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น รถเบนซ์ที่มาผลิตในเมืองไทยตั้งเป้าผลิตรถไฟฟ้า มีโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงสายการผลิตรถเบนซ์ไปสู่เป้าหมายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดในปี 2568 เป็นตัวอย่างบางตอนที่จะต้องสร้างมิติใหม่เศรษฐกิจประเทศในปัจจุบันและอนาคต.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th