ทรู ดีแทค จะควบรวมกิจการ ใครได้ ใครเสีย ประชาชนจะได้อะไรจากดีลนี้

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ทรู ดีแทค จะควบรวมกิจการ ใครได้ ใครเสีย ประชาชนจะได้อะไรจากดีลนี้

Date Time: 24 พ.ย. 2564 08:40 น.

Video

“ไทยรัฐ โลจิสติคส์” ถอดคราบ “ยักษ์เขียว” มุ่งสู่ขนส่งครบวงจร | Thairath Money Talk

Summary

  • ถ้ามีการควบรวมในธุรกิจโทรคมนาคมนั้นเราไม่เลือกค่ายมือถือทั้ง 2 ราย เราจะเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตอย่างไร

Latest


เป็นเวลาเกือบ 2 สัปดาห์ที่มีข่าวลือหนาหูว่า ทรูจะซื้อดีแทค จนเรื่องมากระจ่างเอาในเช้าวันที่ 22 พ.ย. 64 ที่ผ่านมา หลายคนอยากทราบว่า ถ้าหาก 2 บริษัทนี้ควบรวมกิจการกันจริงๆ อนาคตจะเป็นอย่างไร

จากการแถลงข่าวของทั้ง ทรู และดีแทค ระบุว่า การที่เครือซีพี และกลุ่มเทเลนอร์ จะพิจารณาสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน หรือ Equal Partnership เพื่อสนับสนุนให้ทรูและดีแทคปรับโครงสร้างธุรกิจไปสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี หรือ Technology Company ที่สามารถอยู่รอด และแข่งขันในโลกธุรกิจอีก 20 ปีข้างหน้าได้ต่อไป

การควบรวมดังกล่าวนำไปสู่การมีรายได้รวมกัน 217,000 ล้านบาท กำไรก่อนหักค่าใช้จ่าย 83,000 ล้านบาท ส่วนแบ่งการตลาด หรือมาร์เก็ตแชร์ในแง่ของรายได้ไม่เกิน 40% โดยแผนควบรวมแลกหุ้นนั้นจะมีการตั้งบริษัท ซิทริน โกลบอล จำกัด

ทั้งนี้ ซิทริน โกลบอล จะทําคําเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ 2 บริษัท โดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไขก่อนทําคําเสนอซื้อ ซึ่งราคาเสนอซื้อหุ้นดีแทค อยู่ที่หุ้นละ 47.76 บาท และราคาหุ้นทรูอยู่ที่หุ้นละ 5.09 บาท และจะเปิดให้ผู้ถือหุ้นเดิมที่ไม่ประสงค์จะถือหุ้นในบริษัทใหม่สามารถขายหุ้นในการทําคําเสนอซื้อหลักทรัพย์โดยสมัครใจได้

นอกจากนี้ ทรู และดีแทค มองตรงกันว่า การปรับโครงสร้างสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ที่จะก้าวเป็นฮับของเทคโนโลยีในระดับภูมิภาค โดยโทรคมนาคม หรือ Telecom จะยังคงเป็นธุรกิจหนึ่งของโครงสร้าง และจะต้องพัฒนาธุรกิจเพิ่มเติมในส่วนที่มุ่งเน้นด้านเทคโนโลยี รวมไปถึงปัญญาประดิษฐ์ ระบบคลาวด์เทคโนโลยี ไอโอที อุปกรณ์อัจฉริยะ เมืองอัจฉริยะ ดิจิทัลมีเดียโซลูชันของไทย

รวมถึงการปรับโครงสร้างเพื่อให้สนับสนุนการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยี หรือ Tech Startup โดยการจัดตั้ง Venture Capital ที่มุ่งเน้นลงทุนในสตาร์ทอัพไทย และสตาร์ทอัพต่างประเทศ ที่ตั้งในประเทศไทย นอกจากนี้ เรายังมีแผนที่จะศึกษาด้านเทคโนโลยีอวกาศ หรือ Space Technology  เพื่อนำมาปรับใช้กับธุรกิจ ซึ่งถือว่าเป็นการเปิดกว้างกรอบความคิดในการทำนวัตกรรมใหม่เพิ่มเติมด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในมุมของการทำธุรกิจก็ว่ากันไปตามแผน แต่ถ้ามองในมุมประชาชนทั่วไป มุมผู้ใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ รวมไปถึงห่วงโซ่ในธุรกิจโทรคมนาคมนั้นจะได้รับผลกระทบด้านบวก และด้านลบอย่างไร ในเรื่องนี้ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ได้สรุปข้อมูลทั้งหมดไว้ดังนี้ 

1. ไม่ว่าบริษัทจะเรียกอะไร แต่ในทางศัพท์วิชาการเรียกว่า การควบรวม

แม้จะเรียกว่า Equal Partnership หรือ อีโคพาสเนอร์ชิป แต่ผลทางเศรษฐศาสตร์ เรียกว่า การลดจำนวนผู้ประกอบการ ซึ่งการควบรวมจะช่วยพัฒนาเทคโนโลยี พาไทยแข่งขันในเวทีโลก เตรียมพร้อม ส่วนแบ่งการตลาดอาจจะเป็นจริง แต่ถ้ามองในแง่มุมตลาดโทรคมนาคม แต่ถ้าเป็นตลาดโทรศัพท์มือถือ ส่วนแบ่งการตลาด 2 รายรวมเป็น 52% กลายเป็นเบอร์หนึ่งของตลาด

2. ตลาดโทรศัพท์มือถือไทยมีโครงสร้างกึ่งผูกขาดอยู่แล้ว จะยิ่งมีการผูกขาดมากขึ้นถึงระดับอันตราย น่าห่วงมากหากมีการควบรวม

เมื่อทั้ง 2 บริษัทควบกันแล้ว จะมีส่วนแบ่งตลาด 52% เรียกได้ว่าเป็นเบอร์หนึ่งของตลาดโทรศัพท์มือถือ ซึ่งในต่างประเทศมีเครื่องมือวัดความผูกขาดเชิงโครงสร้าง คือ ดัชนีการกระจุกตัว หรือ Herfindahl-Hirschman Index: HHI  ค่าสูงสุด 10,000 คือ การผูกขาดรายเดียว แต่การควบรวมที่เกิดขึ้นนี้จะทำให้ดัชนี HHI ของธุรกิจโทรคมนาคมไทยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5,012 จาก 3,659 หรือเพิ่มขึ้น 1,353 เรียกว่า เพิ่มขึ้นก้าวกระโดดมหาศาล จนเกิดการกระจุกตัวในระดับอันตราย 

3. ผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านบวกจากการควบรวม คือ ผู้ถือหุ้นของบริษัทโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 ราย ไม่ใช่แค่บริษัทที่จะควบรวมกันเท่านั้น

ในช่วง 5 วันที่ผ่านมา หุ้น DTAC และหุ้น TRUE ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นธรรมดาเพราะนักลงทุนเล็งเห็นว่า 2 รายนี้จะได้ประโยชน์จากการควบรวม ขณะที่ AIS หุ้นก็ปรับตัวขึ้นด้วยกัน แม้จะกลายเป็นเบอร์สอง หากมองในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์จะตอบได้ว่า ถ้ามีการควบรวม ตลาดจะเหลือผู้เล่นเพียงแค่ 2 ราย มีความจำเป็นการแข่งขัน เช่น การแข่งขันด้านราคา การให้บริการลูกค้า จะน้อยลงกว่าการมี 3 ราย จึงกลายเป็นที่มาว่าทำไมหุ้น AIS ถึงปรับตัวเพิ่มขึ้น เพราะได้ประโยชน์ไปด้วยนั่นเอง

4. ผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านลบจากการควบรวม แบ่งได้ดังนี้

- ผู้บริโภค ทั้งประชาชนทั่วไป และธุรกิจต่างๆ

ตลาดโทรศัพท์มือถือไทยจะถอยหลังไปก่อนปี 2547 ที่มีผู้เล่นในตลาดเพียง 2 เจ้า คือ AIS กับดีแทค ซึ่งหากมีการควบรวมกัน ก็จะย้อนกลับไปเมื่อ 15 ปีก่อน ถ้าเรายังจำกันได้การให้บริการนั้นถือว่า ไม่เป็นมิตรกับผู้บริโภคมากนัก เช่น การล็อก IMEI หรืออีมี่ ให้โทรศัพท์ที่ซื้อไปใช้ได้แค่เครือข่ายของตัวเองเท่านั้น ซึ่งหากมีการผูกขาดแล้ว นอกจากค่าบริการที่สูงแล้ว จะมีการบังคับขายพ่วงสิทธิ์มาด้วย แน่นอนว่าผู้บริโภคไม่ใช่แค่ลูกค้าทั่วไป แต่ยังหมายถึงธุรกิจต่างๆ ที่ต้องพึ่งพาอาศัยสัญญาณโทรศัพท์มือถือด้วย

- คู่ค้าของบริษัทโทรคมนาคม ทั้งร้านค้า ผู้สนับสนุนสตาร์ทอัพจะหายไปอีกหนึ่งราย

ผู้บริโภคไม่ใช่แค่ลูกค้าทั่วไป แต่ยังหมายถึงธุรกิจต่างๆ ที่ต้องพึ่งพาอาศัยธุรกิจสัญญาณโทรศัพท์มือถือ เมื่ออำนาจในการต่อรองลดลง พวกเขาเหล่านั้นก็อาจจะต้องมีต้นทุนที่สูงขึ้น ส่วนสตาร์ทอัพที่ต้องการร่วมทุน หรือ Venture Capital จากธุรกิจโทรคมนาคมก็จะหายไป

- รัฐบาลและผู้เสียภาษี

การประมูลคลื่น 6G ในอนาคต คนที่เข้ามาแข่งขันลดลง รัฐบาลจะจัดเก็บภาษีน้อยลง ซึ่งผู้ที่ต้องเสียภาษีอย่างเราๆ อาจจะต้องจ่ายภาษีมากขึ้น เพื่อนำเงินที่ได้ไปโปะการขาดดุลภาครัฐ เพื่อชะลอหนี้สาธารณะ

-เศรษฐกิจไทย

ปัจจุบันระบบเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในช่วงที่กำลังเปลี่ยนผ่านก้าวไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล อาจจะมีต้นทุนที่สูงขึ้นเมื่อการควบรวมทำให้โครงสร้างผูกขาดมากขึ้นและอาจทำให้ไทยตกขบวนในการก้าวกระโดดไปสู่ Digital Economy

ทั้งนี้ อาจารย์สมเกียรติ ยังได้พูดถึง ประสบการณ์จากการผูกขาดจากการควบรวมธุรกิจในประเทศไทย ยกตัวอย่างเช่น

เคเบิลทีวี : พอมีการควบรวมกัน ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก เคยอยู่ในแพ็กเกจราคาถูก กลายเป็นราคาแพงขึ้น ผู้บริโภคที่อยากดูต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น ทางเลือกลดลง

โรงหนัง : มีการควบรวมกันจนเหลือผู้ประกอบการใหญ่ๆ 2 เจ้า ตั๋วหนังเมืองไทยค่อนข้างแพง ปัจจุบันเราอาจจะไม่ได้รับกระทบมากเพราะมีสตรีมมิง

ค้าปลีก : การควบรวมห้างสรรพสินค้า 

โรงพยาบาล : ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ที่ประชาชนจำเป็นใช้บริการและต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

"การควบรวมธุรกิจโรงหนัง และค้าปลีกไม่ค่อยกระทบเท่าไร เพราะเรายังพอมีตัวเลือก แต่ถ้ามีการควบรวมในธุรกิจโทรคมนาคมนั้นเราไม่เลือกค่ายมือถือทั้ง 2 รายเราจะเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตอย่างไร"

อาจารย์สมเกียรติ กล่าวอีกว่า ส่วนการที่ผู้ประกอบการอ้างว่า ต้องควบรวมกันเพื่อเตรียมความพร้อมรับนวัตกรรมในอนาคตนั้น เพื่อพัฒนาพาไทยแข่งขันเวทีโลก คำถามที่เราอยากถามก็คือ ทุกวันนี้ทั้ง 2 บริษัทที่เกี่ยวข้องพัฒนาเทคโนโลยีอะไรให้เรารู้จักบ้าง เป็นแบบหัวเว่ยหรือไม่ที่ผลิตอุปกรณ์ มีนวัตกรรมต่างๆ มากมาย แต่ก็ไม่เคยปรากฏว่า ผู้ให้บริการโทรคมนาคมของไทยมีพัฒนาการหรือเทคโนโลยีอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา

ส่วนที่ว่าเพื่อเตรียมพร้อมรับความท้าทายในอีก 20 ปีข้างหน้า นั้น ผมคิดว่าไม่ใช่เหตุผลที่จะต้องควบรวมกัน แต่การควบรวมกันจะทำให้ตลาดผูกขาดมากขึ้น ชาร์จค่าบริการได้มาขึ้น หุ้นขึ้น เทียบกับดูสิงคโปร์ที่เป็นเกาะเล็กๆ แต่มีผู้ให้บริการโครงข่ายมือถือเป็นจำนวนมากให้ผู้บริโภคมีทางเลือก

5. กสทช. มีหน้าที่ต้องเพิ่มการแข่งขันในตลาด และลดการผูกขาด จะปฏิเสธหน้าที่ไม่ได้

กฎหมายที่เกี่ยวข้องนั้นมีด้วยกัน 2 ฉบับ คือ กฎหมายการประกอบกิจการโทรคมนาคม มาตรา 21 การประกอบกิจการโทรคมนาคม นอกจากต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าแล้ว ให้คณะกรรมการกำหนดมาตรการเฉพาะตามลักษณะการประกอบกิจการโทรคมนาคมมิให้ผู้รับใบอนุญาตกระทำการอย่างใดอันเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการกิจการโทรคมนาคมในเรื่องดังต่อไปนี้

1. การอุดหนุนการบริการ

2. การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน

3. การใช้อำนาจทางการตลาดที่ไม่เป็นธรรม

4. พฤติกรรมกีดกันการแข่งขัน

5. การคุ้มครองผู้ประกอบการรายย่อย

เมื่อกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่า กสทช.สามารถป้องกันการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน ผมจึงประหลาดใจอย่างยิ่งที่สำนักงาน กสทช. ให้ข่าวว่า คงต้องปล่อยอนุญาตให้มีการควบรวมกัน ผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมท่านจึงปฏิเสธหน้าที่ตั้งแต่แรกเลย

6. สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า หรือ กขค. ต้องมีหน้าที่ในการกลั่นกรองการควบรวมอย่างเข้มงวด

ถ้า กสทช.ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็นแล้ว เราก็มีกฎหมายการแข่งขันทางการค้า ซึ่งใช้บังคับกับพฤติกรรมอำนาจเหนือตลาด การควบรวมกิจการ แต่กฎหมายฉบับนี้ก็ต้องมีการตีความกัน เพราะมีมาตรา 4 ที่ไม่ให้ พ.ร.บ.นี้มิให้ใช้บังคับแก่กระทำของ

1. ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค หรือราชการส่วนท้องถิ่น

2. รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานรัฐ ทั้งนี้เฉพาะในส่วนที่ดำเนินการตามกฎหมายหรือมติของคณะรัฐมนตรีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผลประโยชน์ส่วนรวม หรือจัดให้มีสาธารณูปโภค

3. กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ หรือชุมนุมสหกรณ์ ซึ่งมีกฎหมายรับรอง และมีวัตถุประสงค์ดำเนินธุรกิจเพื่อประโยชน์ในการประกอบอาชีพของเกษตรกร

4. ธุรกิจที่มีกฎหมายเฉพาะกำกับดูแลในเรื่องการแข่งขันทางการค้า 

ประเด็นก็อาจจะอยู่ที่ว่า ผู้ควบรวมกิจการกันอาจมีการโต้แย้งว่า กขค.อาจไม่มีอำนาจในกรณีนี้ เพราะธุรกิจโทรคมนาคมมีกฎหมายเฉพาะกำกับดูแลในเรื่องการแข่งขันทางการค้า 

อย่างไรก็ตาม แม้คณะกรรมการ กสทช.ชุดปัจจุบันจะเป็นชุดรักษาการ แต่ก็ต้องมีการเตรียมข้อมูลไว้รอชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ เมื่อถึงเวลาผู้ประกอบการมาดำเนินขอควบรวม กสทช.ชุดใหม่อาจไม่มีข้อมูลก็อาจจะทำให้ไม่เกิดการบังคับใช้กฎหมายที่ตัวเองมีอำนาจอยู่

"ประชาชน ผู้บริโภคจะต้องลุกขึ้นเปลี่ยนแปลง แม้จะเป็นโจทย์ที่ยาก แต่เราก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ กดดันรัฐบาล ซึ่งปีหน้าจะมีการเลือกตั้งแล้ว การรักษาภาพลักษณ์ก็สำคัญ ซึ่งหากกดดันมากๆ รัฐบาลก็อาจจะมีนโยบายอะไรบางอย่างออกไปไปกระตุ้นหน่วยงานที่กำกับดูแลให้ทำหน้าที่ในการตรวจสอบ"

ชัยวุฒิ มองเรื่องปกติธุรกิจต้องลดต้นทุน เชื่อผูกขาดยาก

ด้านชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ DES ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า จะผูกขาดอย่างไร เพราะธุรกิจมือถือมีการแข่งขันอยู่แล้วและ กสทช. ถือเป็นเรื่องปกติ ธุรกิจที่มีหลายผู้ประกอบการผูกขาดไม่ได้อยู่แล้ว เขาลงทุนสูง มีต้นทุนประมูลคลื่นความถี่ บางประเทศยังมีแค่รายเดียว ถ้ามีหลายเจ้าและต่างคนต่างลงทุนจะเป็นการสิ้นเปลือง ต้นทุนสูงขึ้นประชาชนต้องจ่ายบริการเพิ่มขึ้น เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการวางแผนธุรกิจ ส่วนรัฐบาลเพียงเข้าไปกำกับดูแลว่าจะมีผลกระทบต่อประชาชนอย่างไร

"เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล การควบรวมกิจการเป็นเรื่องธุรกิจ ส่วนจะทำได้หรือไม่ได้ เป็นเรื่องที่เขาต้องตกลงกัน รัฐบาลไม่มีอำนาจไปสั่งหรือกำกับดูแลโดยตรงว่าให้รวมหรือไม่ให้ แต่ในภาพรวมคงต้องดูว่าถ้ารวมกันแล้วจะส่งผลอย่างไรต่อธุรกิจ ส่วนบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT จะตั้งรับอย่างไรเพื่อแข่งขันกับเอกชนให้ได้นั้น ยังไม่ถึงเวลา เพราะ NT ก็มีธุรกิจของตัวเองอยู่แล้ว และมีรายได้เป็นของตัวเอง ยังไม่มีผลกระทบอะไร เรื่องนี้ต้องดูในระยะยาว แต่เชื่อว่าไม่มีผลกระทบในเชิงลบแน่นอน"


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ