ล้มแรง ลุกยาก วิบากกรรมคนรายได้น้อยหลังโควิด

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ล้มแรง ลุกยาก วิบากกรรมคนรายได้น้อยหลังโควิด

Date Time: 22 พ.ย. 2564 18:37 น.

Video

ศิรเดช โทณวณิก Gen 3 ดุสิตธานี ธุรกิจที่เป็นมากกว่าโรงแรม | On The Rise

Summary

  • ภาวะล้มแรงลุกยากหลังวิกฤติโควิดของคนรายได้น้อยจึงเป็นแผลเป็นหนึ่งที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย การเปิดเมืองแล้วหวังว่าทุกอย่างจะกลับมาเหมือนเดิมอาจไม่ใช่สถานการณ์ของคนกลุ่มนี้

Latest


วิกฤติโควิดถือเป็นวิกฤติของคนรายได้น้อยอย่างแท้จริง ด้วยผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดและการปิดเมืองที่รุนแรงเป็นพิเศษกับภาคธุรกิจที่เป็นแหล่งทำมาหากินของคนกลุ่มนี้ เช่น ร้านอาหาร หาบเร่ ตลาดนัด แท็กซี่ และกิจการอื่น ๆ อีกจำนวนมาก

คนรายได้น้อยจึงประสบกับภาวะรายได้หดหายฉับพลัน เมื่อประกอบกับปัญหาทางการเงินที่มีอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนวิกฤติ ทั้งภาระหนี้ที่มีสูงและสภาพคล่องที่มีจำกัด สถานะทางเศรษฐกิจจึงทรุดหนัก ต่างจากคนรายได้สูงที่โดยเฉลี่ยไม่ได้เผชิญปัญหามากเท่า

แม้ไทยจะเข้าสู่ช่วงเปิดเมือง เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติบ้างแล้ว กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายประเภทก็ยังห่างไกลจากจุดที่เคยอยู่ก่อนโควิด คาดการณ์กันว่าเศรษฐกิจไทยกว่าจะกลับไปจุดเดิมก็น่าจะใช้เวลาอีกเป็นปี

โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่กว่าเราจะได้เห็นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามายังบ้านเรากลับไปที่ระดับ 40 ล้านคนอีกครั้ง ก็น่าจะอีก 3 ปีเป็นอย่างน้อย นั่นหมายความว่าแหล่งรายได้ที่เคยสร้างงานให้กับคนจำนวนมากจะยังซบเซาอีกพักใหญ่
ยิ่งไปกว่านั้น

ผู้ประกอบการหลายเจ้าก็ยังมีแนวโน้มปรับตัวลดการพึ่งพาการใช้กำลังคนลงอีกด้วย ทั้งด้วยเหตุผลจากเงินทุนที่จะจ้างถดถอยลงไปมาก และความระมัดระวังต่อความไม่แน่นอนที่ยังมีสูงในระยะข้างหน้า ดังนั้น แม้ว่ายอดขายจะกลับมาเหมือนเดิมแต่แรงงานที่ภาคธุรกิจต้องการอาจไม่มากเท่าแต่ก่อนแล้ว

อีกแนวโน้มที่น่าจับตาก็คือ ความต้องการประเภทแรงงานเองก็มีหน้าตาเปลี่ยนไปแล้วพอสมควร งานที่เติบโตมากในช่วงโควิดเป็นงานในธุรกิจที่ได้แรงหนุนจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปใช้บริการออนไลน์มากขึ้น อย่างงานในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ การขนส่ง งานด้านไอที ที่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากบริษัทเทคโนโลยี หรือสตาร์ตอัพเท่านั้น


ธุรกิจขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมเก่าอย่างภาคค้าปลีกหรือภาคการเงินเองก็กำลังเปลี่ยนแปลงตัวเองไปในลักษณะที่คล้ายกัน กล่าวคืองานแบบเก่า เช่น พนักงานสาขา ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากหรือในบางกรณีก็ลดน้อยลงด้วย ต่างกับสัดส่วนของงานใหม่ เช่น โปรแกรมเมอร์ หรือ data scientist ที่เพิ่มสูงขึ้นสวนทางกัน

เมื่องานเก่าหายไป แต่งานใหม่กลับมีจำกัด แถมหลาย ๆ งานใหม่ ก็ไม่ใช่สิ่งที่คนตกงานไปในช่วงโควิดจะมีทักษะพร้อม คนรายได้น้อยจำนวนมากจึงอยู่ในภาวะกลับไม่ได้ไปไม่ถึง

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ การฟื้นตัวของรายได้จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายมากสำหรับคนรายได้น้อย จึงไม่แปลกนักที่ผลสำรวจผู้บริโภคของ EIC เมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมาจะพบว่าคนรายได้น้อย (รายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาท) ไม่ได้มองโลกในแง่ดีกับแนวโน้มรายได้ของตนเองในอนาคตสักเท่าไหร่ ส่วนใหญ่หวังว่ารายได้จะฟื้นกลับมาเท่าก่อนโควิดในช่วงปีหน้าเป็นต้นไป และมีสัดส่วนถึง 26% ของคนรายได้น้อยที่ตอบว่า รายได้ของตนจะไม่มีทางกลับมาเท่าก่อนโควิดเลยทีเดียว สถานการณ์ต่างกันมากเมื่อเทียบกับคนรายได้สูง (มากกว่า 5 หมื่นบาทต่อเดือน) ที่มีถึง 45% ที่ระบุว่ารายได้ปัจจุบันสูงกว่าก่อนโควิดอยู่แล้ว

มุมมองต่อรายได้ที่ไม่ค่อยสดใสส่งผลทำให้กลุ่มคนรายได้น้อยยังค่อนข้างระมัดระวังเรื่องการใช้จ่าย โดยเกินครึ่งของคนกลุ่มนี้ยังเลือกที่จะรัดเข็มขัดต่อไป แม้สถานการณ์จะคลี่คลายแล้วก็ตาม ตรงกันข้ามกับกลุ่มคนรายได้สูงที่ส่วนใหญ่พร้อมจะออกมาจับจ่ายใช้สอยแล้ว

คำแนะนำที่ใครหลายคนพูดกันว่า แรงงานต้องปรับตัวเพื่อเอาตัวรอดในโลกยุคใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด แต่เอาเข้าจริงในทางปฏิบัติ โอกาสและความสามารถในการปรับตัวอาจไม่ได้มีเท่ากัน

จากผลสำรวจอีกชิ้นของ EIC เกี่ยวกับการปรับ-เพิ่มทักษะ (reskilling, upskilling) ของแรงงานไทย พบว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา คนที่ทำการปรับ-เพิ่มทักษะส่วนมากนั้นกลับเป็นคนรายได้สูง (67% ของคนรายได้สูง)

ขณะที่คนรายได้น้อยที่มีบาดแผลจากวิกฤตมากที่สุด และน่าจะจำเป็นต้องปรับตัวกันมากที่สุดกลับทำการปรับ-เพิ่มทักษะกันเพียงส่วนน้อย (32% ของคนรายได้น้อย) อีกทั้ง เมื่อถามถึงความสนใจในการปรับ-เพิ่มทักษะในช่วง 1 ปีข้างหน้า ผลการสำรวจที่พบก็ออกมาในทำนองเดียวกัน คือ คนรายได้น้อยมีสัดส่วนผู้สนใจที่จะทำ (78%) น้อยกว่ากลุ่มคนรายได้สูง (94%) อย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ข้อค้นพบดังกล่าวไม่ได้บ่งชี้ความต่างของความกระตือรือร้นในการปรับตัวแต่อย่างใด หากแต่กำลังสะท้อนถึงความต่างของโอกาสระหว่างคนสองกลุ่ม เพราะผลสำรวจชิ้นนี้ได้ถามเหตุผลไปต่อว่า ทำไมถึงไม่สนใจที่จะปรับ-เพิ่มทักษะ? คำตอบที่ได้เป็นอันดับหนึ่งของคนกลุ่มรายได้น้อยก็คือ

"ไม่มีเวลาหรือไม่มีโอกาส" ตามมาด้วยเหตุผลของการไม่ทราบช่องทาง และการขาดแคลนเงินทุน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นตัวบ่งชี้ถึงการขาดโอกาสในการปรับตัวทั้งสิ้น ซึ่งก็คงจะเป็นสถานการณ์จริงของใครหลายคนที่ในช่วงวิกฤติอาจจะตกงานหรือถูกพักงาน ต้องปรับตัวไปทำอาชีพใหม่เพื่อหารายได้ยังชีพเท่าที่ทักษะ ทุน และเวลาที่มีจะเอื้ออำนวย จึงยากที่จะมีโอกาสไปเข้าคอร์สอบรมฝึกทักษะใหม่ ๆ อย่างเป็นเรื่องเป็นราว

ในทางกลับกันกลุ่มคนรายได้สูงที่ยังมีงานทำซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในบริษัทขนาดใหญ่ ได้รับโอกาสทั้ง on the job training หรือบางบริษัทก็มีการจัดฝึกอบรมให้อย่างจริงจัง รวมถึงการมีเวลาอยู่บ้านมากขึ้นจากการเปลี่ยนมาทำงานแบบ work from home ก็ทำให้บางคนมีเวลาไปพัฒนาทักษะตนเองเพิ่มเติมได้อีกด้วย

ภาวะล้มแรงลุกยากหลังวิกฤติโควิดของคนรายได้น้อยจึงเป็นแผลเป็นหนึ่งที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย การเปิดเมืองแล้วหวังว่าทุกอย่างจะกลับมาเหมือนเดิมอาจไม่ใช่สถานการณ์ของคนกลุ่มนี้

พวกเขายังจำเป็นต้องได้รับทั้งการเยียวยาบาดแผลทางเศรษฐกิจที่ฉกรรจ์กว่าคนกลุ่มอื่นและการให้โอกาสที่สำหรับบางคนอาจจะขาดแคลนกว่าเงินเสียด้วยซ้ำ โดยเฉพาะโอกาสในการปรับ-เพิ่มทักษะซึ่งมีความสำคัญในการช่วยให้คนเหล่านี้กลับมาลืมตาอ้าปากได้ในระยะยาว

หากพลิกฟื้นคนรายได้น้อยซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ได้ ความเหลื่อมล้ำที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของบ้านเราจะยิ่งแย่ลง ปัญหาดังกล่าวมีแนวโน้มส่งผลต่อเนื่องไปเป็นปัญหาอื่น ๆ อย่างปัญหาสังคมและเสถียรภาพการเมือง EIC เคยวิเคราะห์ข้อมูลของธนาคารโลกพบว่า ประเทศที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้มักจะมีปัญหาเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองด้วย

ในปี 2565 ที่กำลังจะมาถึง หากไม่มีอะไรผิดพลาด GDP ของไทยคงจะขยับดีขึ้นกว่าสองปีที่ผ่านมานี้อย่างชัดเจน แต่การฟื้นตัวทางตัวเลขนั้นคงไม่มีความหมายอะไรถ้าคนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ได้ฟื้นตัวไปพร้อมกัน

โดย กระแสร์ รังสิพล
ผู้อำนวยการฝ่าย Data Analytics
Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
eic@scb.co.th  | EIC Online : www.scbeic.com 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์