เสียงสะท้อนตลาดบุหรี่ปั่นป่วน รัฐ-เอเย่นต์มองสถานการณ์คนละด้าน

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เสียงสะท้อนตลาดบุหรี่ปั่นป่วน รัฐ-เอเย่นต์มองสถานการณ์คนละด้าน

Date Time: 22 พ.ย. 2564 06:25 น.

Summary

  • การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ของรัฐบาลครั้งล่าสุด ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2564 จนถึงวันนี้ ล่วงไป 1 เดือนกว่าแล้ว ความปั่นป่วนของตลาดบุหรี่ในประเทศไทยก็ยังไม่จบสิ้น

Latest

“อุตสาหกรรมแบตเตอรี่”  จิ๊กซอว์ที่ต้องต่อให้เต็ม สานฝันไทย “ฮับผลิต EV” ภูมิภาค

การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ของรัฐบาลครั้งล่าสุด ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2564 จนถึงวันนี้ ล่วงไป 1 เดือนกว่าแล้ว ความปั่นป่วนของตลาดบุหรี่ในประเทศไทยก็ยังไม่จบสิ้น

ปัญหาบุหรี่ขาดตลาดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนการอนุมัติปรับขึ้นภาษี มาถึงตอนนี้ปรับขึ้นภาษีไปเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายรับรู้อัตราภาษีที่ต้องจ่าย และรับรู้ราคาบุหรี่ใหม่กันแล้ว

แต่ก็ยังมีปัญหาบุหรี่ขาดตลาดอยู่เช่นเดิม

ทั้งถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาบุหรี่เถื่อนทะลัก และบุหรี่ปลอมปรากฏตัวกันเป็นแถว

ขณะที่ท่วงทีการชี้แจงของภาครัฐไปทางหนึ่ง เสียงสะท้อนจากบรรดาเอเย่นต์ผู้ค้าบุหรี่ก็ไปคนละทิศทาง

“ทีมเศรษฐกิจ” จึงถือโอกาสนี้รับฟังจากทุกด้าน ถึงสถานการณ์ไม่ปกติที่กำลังเกิดขึ้น กับอุตสาหกรรมยาสูบ ที่มีมูลค่าสูงถึงปีละ 200,000 ล้านบาท และเป็นแหล่งรายได้จากการเก็บภาษีเข้ารัฐถึงปีละ 60,000 ล้านบาท

วราภรณ์ นะมาตร์
วราภรณ์ นะมาตร์

วราภรณ์ นะมาตร์

ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมการค้ายาสูบไทย

“สถานการณ์ก่อนรัฐบาลปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ ทำตลาดปั่นป่วน วุ่นวายอยู่เป็นเดือน มีทั้งปัญหาบุหรี่ขาดตลาด ร้านค้าที่ซื้อจากพ่อค้ากลางจะซื้อในจำนวนที่พอมีสินค้าติดร้านไว้ขาย บางร้านก็ขายในราคาปกติ บางร้านถือโอกาสขึ้นราคาไปล่วงหน้า และร้านค้าก็ลังเลว่าจะขึ้นราคาขายที่เท่าใด”

พอรัฐบาลประกาศโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ จริงๆราคาควรจะนิ่งแต่มันไม่นิ่ง ด้วยที่ยังมีสต๊อกเก่าเหลืออยู่ และอยู่ในช่วงปรับตัวราคาขายปลีกใหม่ ยังสับสน รวมแล้วเป็นความวุ่นวายในตลาดที่ต่อเนื่องมาจนตอนนี้

ขณะเดียวกัน มีตัวกระตุ้นให้มีความวุ่นวายมากขึ้น คือ ขบวนการค้าบุหรี่เถื่อน หรือบุหรี่หนีภาษี อย่างเป็นล่ำเป็นสัน สามารถหาซื้อได้ง่ายและมีราคาถูก

“บุหรี่เถื่อนหนีภาษีเข้ามาตามชายแดน โดยเฉพาะทางภาคใต้มีการนำเข้ามาขายกันเป็นปกติ ซึ่งไม่รู้ทำอย่างไร ร้องเรียนไปหลายหน่วยงานมาก แทบทุกหน่วยงานราชการแล้ว โดยเฉพาะอำเภอหาดใหญ่มีการจำหน่ายบุหรี่ถึง 20-30 ร้าน เปิดขายเหมือนกับร้านเซเว่น อีเลฟเว่นแบบโจ่งแจ้งมาก จนยอดจัดเก็บภาษีสรรพสามิตของ อบจ.สงขลา ตั้งแต่ 2558-2562 ลดลงมาถึง 58-70% จากช่วงปกติ”

ที่ผ่านมาแม้จะมีการจับกุมดำเนินคดีบุหรี่หนีภาษีตลอดเวลา แต่มีความสงสัยว่าเมื่อจับกุมแล้ว บุหรี่ที่ถูกจับไปไหน เพราะร้านค้าที่ถูกจับตอนเช้า ตอนบ่ายก็เปิดขายใหม่เป็นเรื่องปกติ บางทีจับแล้วไม่มีเจ้าทุกข์ก็ไม่รู้สินค้าไปไหน ไม่เหมือนเฮโรอีนที่จับแล้วยังเห็นการเผาทำลายทิ้ง

บุหรี่หนีภาษีเป็นปัญหาที่มีมานานแล้ว โดยเฉพาะช่วงก่อนที่จะปรับโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่ในปี 2560 มีการลักลอบนำเข้ามาเป็นขบวนการ มาถึงตอนนี้ที่ราคาขายบุหรี่แพงขึ้น บุหรี่หนีภาษีก็ได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะราคาถูกกว่ามาก

เช่น บุหรี่เสียภาษีถูกต้อง ซองละ 70 บาท แต่บุหรี่หนีภาษีเป็นแบรนด์ต่างประเทศทั้งที่มีขายในไทยและไม่มีขายในไทย ราคาเพียงซองละ 30-40 บาทเท่านั้น บนซองบุหรี่ไม่ต้องมีคำเตือนและรูปภาพที่น่าเกลียด

นอกจากนี้ ยังมีขบวนการของบุหรี่ปลอม หน้าตาเหมือนบุหรี่ยี่ห้อที่จำหน่ายในตลาด ทั้งของโรงงานยาสูบและบุหรี่นำเข้าต่างประเทศ ปลอมแม้กระทั่งแสตมป์ โดยมีราคาถูกกว่าปกติซองละ 5-6 บาท มีการอ้างว่าได้มาจากแหล่งผลิตโดยตรง ซึ่งเรามองเห็นต้นทุนการผลิตอยู่ ก็รู้ว่าเป็นไปไม่ได้

ลักษณะการขาย จะมีกลุ่มที่เรียกว่ามือปืน เอาใส่รถไปขาย หรือขี่มอเตอร์ไซค์ไปถามตามร้าน ขณะนี้เยอะมาก การตั้งโต๊ะขายด้วย เส้นหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง ลาดพร้าว บางกะปิ ตามซอกซอยต่างๆ

นี่คือสิ่งที่ทำให้ร้านค้าที่ขายสินค้าถูกกฎหมายอึดอัดลำบากใจ ยอดขายก็ถูกแชร์ไปจากบุหรี่ปลอมเยอะมาก

“เราในฐานะผู้ค้าอย่างถูกกฎหมายซีเรียสมาก เพราะโดนบุหรี่หนีภาษีมาแย่งส่วนแบ่งตลาดไปถึง 29% ไม่เป็นธรรมกับคนที่เสียภาษี ซึ่งได้ไปหารือกับคณะกรรมาธิการหลายๆคณะ รวมทั้งกรมสรรพสามิต กรมศุลกากร ทุกคนรู้ว่ามีปัญหาตรงนี้ แต่ติดขัดเรื่องงบประมาณที่จะใช้ดำเนินการแก้ปัญหา”

ดังนั้น รัฐบาลจะต้องจริงใจในการแก้ไขปัญหาบุหรี่หนีภาษี อยากให้ขยายผลไปถึงตัวการที่อยู่เบื้องหลังจริงๆ หากปัญหายังคงวนเวียนแบบเดิมๆ รัฐเองจะสูญเสียรายได้เข้ารัฐ

และอยากจะฝากถึงร้านค้าบุหรี่ว่า อย่าเห็นแก่ของถูกที่มีคนเอามาขายให้ ต้องตรวจสอบให้แน่ใจซื้อจากร้านที่เราซื้อประจำว่าเป็นบุหรี่ที่เสียภาษีถูกต้องจะดีกว่า ช่วยกันรักษากฎหมาย เพราะหากถูกจับไป ค่าปรับแพงมันไม่คุ้มกัน

กิตติทัศน์ ผาทอง
ตัวแทนภาคีชาวไร่ยาสูบ

“ตั้งแต่มีการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ เมื่อปี 2560 ชาวไร่ยาสูบได้รับผลกระทบถ้วนหน้า เนื่องจากการยาสูบแห่งประเทศไทย หรือ ยสท. ได้รับผลกระทบรายได้ลดลง ทำให้รับซื้อยาสูบจากชาวไร่ลดลงตามไปด้วย รายได้หายไปเกือบ 50% แม้รัฐบาลจะจ่ายเงินเยียวยาให้แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถชดเชยรายได้ที่หายไปได้”

แม้เกษตรกรจะปรับตัว หันไปปลูกพืชอื่นๆทดแทนแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถทดแทนกันได้ ชาวไร่ยาสูบปลูกยาสูบกันมานานหลายสิบปี การจะปรับตัวไปปลูกพืชอื่นๆ ก็ต้องใช้เวลา

ปัจจุบันใบยาสูบในประเทศที่ใช้ในการผลิตบุหรี่ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ใบยาเวอร์ยิเนีย ใบยาเบอร์เลย์ และใบยาเตอร์กิช ซึ่งทั้ง 3 ชนิดนี้เป็นใบยาสูบที่โรงงานยาสูบส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก และปลูกกันมากในพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน ซึ่งการดำเนินการต่างๆจะต้องขออนุญาตและรายงานต่อกรมสรรพสามิตทุกปี ซึ่งผลผลิตเกือบทั้งหมดจะส่งให้แก่โรงงานยาสูบและบริษัทส่งออกที่เป็นเอกชน

ขณะที่ ยสท.ยังเสียส่วนแบ่งการตลาดให้แก่บุหรี่ต่างประเทศอีก ทำให้ไม่สามารถนำรายได้ส่งรัฐมาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว จึงไม่มีเม็ดเงินที่จะรับซื้อใบยาสูบจากเกษตรกรเพิ่มได้ เพราะยอดขายบุหรี่ลดลง สวนทางกับความต้องการสูบบุหรี่ที่เพิ่มขึ้นทุกๆปี

นอกจากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือเยียวยาผู้ปลูกใบยาสูบแล้ว ต้องการให้รัฐบาลให้ความสำคัญการปราบปรามการลักลอบนำเข้าบุหรี่ ทั้งบุหรี่มวน ยาเส้น และบุหรี่ไฟฟ้า เพราะช่องว่างของราคาบุหรี่ถูกกฎหมายกับบุหรี่เถื่อนแตกต่างกันมาก เช่น บุหรี่ถูกกฎหมาย จำหน่ายซองละ 60-100 บาทขึ้นไป ส่วนบุหรี่เถื่อนซองละ 20-30 บาท

“เราต้องยอมรับว่ากลุ่มผู้สูบบุหรี่อยู่ในกลุ่มผู้ใช้แรงงานและมีรายได้น้อยเป็นหลัก ก็หันไปซื้อบุหรี่ราคาถูก เพื่อประหยัดเงินในกระเป๋า แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายควบคุมการสูบบุหรี่ รณรงค์ให้ลดการสูบ แต่เมื่อคนมันจะสูบ จะรณรงค์อย่างไร จะออกกฎบังคับอย่างไร มันก็ยังสูบเหมือนเดิม”

ดังนั้น รัฐต้องหาวิธีการมาดำเนินการอย่างจริงจัง ควรตั้งคณะกรรมการปราบปรามบุหรี่เถื่อนแห่งชาติ เพื่อมาจัดการปัญหาบุหรี่หนีภาษี หากปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ในอนาคต และรัฐจะสูญเสียรายได้มากกว่าในปัจจุบัน

นพดล หาญธนสาร
รองผู้ว่าการด้านบริหาร รักษาการผู้ว่าการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.)

ยสท.เป็นรัฐวิสาหกิจ ภายใต้กระทรวงการคลัง ที่ต้องทำหน้าที่อย่างสมดุลและเหมาะสม ทั้งบริบทการดูแลสุขภาพของประชาชน การหารายได้เข้ารัฐ การดูแลภาคเกษตรกรรมผู้ปลูกใบยาสูบ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน

“เราต้องยอมรับว่าการก่อตั้งโรงงานยาสูบนั้น เพื่อให้ไทยผลิตยาสูบป้อนตลาดไทยและต่างประเทศ และเพื่อรักษาส่วนแบ่งบุหรี่ไทยและบุหรี่นอก หากไทยไม่มีโรงงานยาสูบ ก็จะมีแต่บุหรี่นอกในไทย ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่นั้น ได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ของ ยสท.อย่างมาก แต่ ยสท.ก็เร่งปรับตัว ลดต้นทุนทุกช่องทางที่ทำได้ เพื่อให้กลับมากำไรโดยเร็วที่สุด ผมขอย้ำ ยสท.ไม่ได้มุ่งหวังกำไรเพียงอย่างเดียว”

นายนพดลกล่าวว่า แม้รายได้และกำไร ของ ยสท.จะลดลงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ก็นำเงินส่งเข้ารัฐในรูปแบบอื่นๆ ดังนี้ จ่ายอากรแสตมป์บุหรี่ให้กรมสรรพสามิต ปีละ 32,500 ล้านบาท สบทบกองทุน กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ 650.93 ล้านบาท

องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือไทยพีบีเอส 488.19 ล้านบาท กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ 650.93 ล้านบาท ภาษีมหาดไทย 3,254.63 ล้านบาท และกองทุนผู้สูงอายุ 650.93 ล้านบาท ซึ่งยังไม่นับรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) โดยแต่ละปี ยสท.มีรายได้ราว 45,000-50,000 ล้านบาท

สำหรับความเดือดร้อนของชาวไร่ยาสูบ ที่ได้รับผลกระทบจากรายได้ยาสูบลดลง เพราะต้องลดการรับซื้อใบยาสูบจากเกษตรกรลดลงตามไปด้วย ยสท.ไม่ได้ทิ้งเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ ยังคงให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนปลูกพืชอื่นๆ ทดแทน เพื่อให้มีรายได้

ขณะนี้ได้ส่งเสริมให้ชาวไร่ยาสูบรวมตัวกัน เป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่อปลูกกัญชง กัญชา ตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของการดำเนินการ คาดว่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรมในอีก 3–5 ปีข้างหน้า

ลวรณ แสงสนิท
ลวรณ แสงสนิท

ลวรณ แสงสนิท
อธิบดีกรมสรรพสามิต

กรมสรรพสามิตยังไม่ได้รับรายงานว่าบุหรี่ขาดตลาดแต่อย่างใด เนื่องจากผู้ค้าบุหรี่ทั้งในและต่างประเทศ ได้ทยอยแจ้งปรับขึ้นภาษีตามโครงสร้างภาษีใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงไม่น่าจะมีประเด็นปัญหาเรื่องบุหรี่ขาดตลาด

อย่างไรก็ตาม กรมสรรพสามิตจะรับเรื่องดังกล่าวไปตรวจสอบให้อีกครั้ง

สำหรับประเด็นบุหรี่เถื่อน ได้ดำเนินการปราบปรามบุหรี่เถื่อนหรือบุหรี่หนีภาษี และบุหรี่ปลอมอย่างเข้มข้น จับกุมทุกวัน จากสถิติการจับกุมปีงบประมาณ 2564 (1 ต.ค.2563-30 ก.ย. 2564) พบว่ามีการกระทำความผิดของยาสูบ จำนวน 6,868 คดี ค่าปรับ 262.76 ล้านบาท หรือคิดเป็นยาสูบ 777,616 ซอง

ส่วนการจับกุมตามปีงบประมาณ 2564 (1 ต.ค.2564-18 พ.ย.2564) มีการจับกุมยาสูบ 1,358 คดี ค่าปรับ 42.49 ล้านบาท คิดเป็นยาสูบ 1,180,520 ซอง

“กรมสรรพสามิตได้จัดทำแผนเฉพาะกิจปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายสรรพสามิต ระดมเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจทั่วประเทศ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบปราบปรามตามพื้นที่เป้าหมาย ตามแนวชายแดนที่คาดว่าจะกระทำผิด”

การดำเนินการทั้งหมดเพื่อสร้างความเป็นธรรม โปร่งใส และสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้เสียภาษีโดยสุจริต และเป็นมาตรการเสริมทางอ้อมในการดูแลสุขภาพของผู้บริโภค ที่จะได้บริโภคสินค้าที่ได้มาตรฐานและปลอดภัย เพราะบุหรี่หนีภาษี และบุหรี่ปลอม ไม่มีใครรับรองมาตรฐานความปลอดภัยได้

*****************

ท่านผู้อ่านที่ได้อ่านข้อมูลมาทั้งหมด คงได้เห็นแล้วว่าคำชี้แจงฝั่งรัฐ กับเสียงสะท้อนของเอเย่นต์ผู้ค้าบุหรี่ ไปคนละทิศละทาง ทั้งที่เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศเดียวกัน.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ