แนะคนไทยต้องได้วัคซีนครบ 100 ล้านโดสภายในปี 64 เศรษฐกิจปี 65 ถึงจะเดินหน้า

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

แนะคนไทยต้องได้วัคซีนครบ 100 ล้านโดสภายในปี 64 เศรษฐกิจปี 65 ถึงจะเดินหน้า

Date Time: 17 พ.ย. 2564 08:00 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • ธรรมศาสตร์ เผยผลการศึกษา หากคนไทยได้ฉีดวัคซีนครบ 100 ล้านโดสภายในปี 64 จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในปี 65 ที่ทยอยฟื้นตัว ดันจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงขึ้นกว่า 1.1

Latest


ธรรมศาสตร์ เผยผลการศึกษา หากคนไทยได้ฉีดวัคซีนครบ 100 ล้านโดสภายในปี 64 จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในปี 65 ที่ทยอยฟื้นตัว ดันจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงขึ้นกว่า 1.1 ล้านคน

ผศ. ดร. สุทธิกร กิ่งแก้ว ผู้บริหารโครงการสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ TU-RAC กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยเรื่องภาวะเศรษฐกิจและสังคมไทยภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา และการพัฒนาการผลิตวัคซีนภายในประเทศนั้น พบว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ GDP ในปี 2563 ลดลง 6.1% เมื่อเทียบกับปี 62

โดยโควิด-19 นั้นส่งผลกระทบตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 63 ทำให้เกิดการหดตัวของภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการบริการ ด้านอาหาร การขนส่ง ที่หดตัว 36.6% และ 21% ตามลำดับ นอกจากนี้ยังทำให้ภาคการส่งออกหดตัวลงด้วย โดยปี 2563 ลดลง 19.4% และยังพบอีกว่าส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมไทยใน 8 ด้าน ได้แก่

1. หนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ในปี 2563 เพิ่มขึ้นถึง 51.83% และคาดว่าเพิ่มต่อเนื่องอีกเป็น 55.59% ในปี 64 ซึ่งใกล้ระดับเพดานความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ไม่เกิน 60%

2. หนี้เอกชน ซึ่งเป็นการกู้ยืมเงินจากภาคเอกชนที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน เพิ่มขึ้นตั้งแต่ในช่วงแรกของการระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อจะให้ธุรกิจกลับมาดำเนินการต่อได้ โดยเฉพาะการระบาดระลอก 3 ในช่วงไตรมาส 2/64 จึงทำให้มูลค่าการออกตราสารหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 61.90% และคาดการณ์ว่าครึ่งหลังปี 64 จะมีการออกตราสารหนี้ใหม่อีกกว่า 4 แสนล้านบาท

3. หนี้ครัวเรือน ในช่วงไตรมาสที่ 2/63 คนไทยมีหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 13.59 ล้านล้านบาท และเพิ่มต่อเนื่องจนไตรมาสที่ 1/64 มีประมาณ 14.13 ล้านล้านบาท โดยผู้กู้มีทั้งเพื่ออสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัยและรถยนต์ และกลุ่มผู้กู้เพื่อหมุนเวียนเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจและใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

4. การท่องเที่ยว ในปี 2563 รายได้จากการท่องเที่ยวหดตัวลงเหลือเพียง 0.8 ล้านล้านบาท ลดลง 72% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีประมาณ 3 ล้านล้านบาท มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียง 6.7 ล้านคน ขณะที่ปี 62 มีสูงถึง 40 ล้านคน โดยในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศ แต่ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับสถานการณ์ปกติ

5. การว่างงาน มีผู้ว่างงานกว่า 7 แสนคนตลอดช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด ซึ่งสูงขึ้นจากช่วงก่อนการแพร่ระบาดที่มีจำนวนผู้ว่างงานประมาณ 3 แสนคน

6. ธุรกิจเลิกกิจการ โดยในปี 2563 มีถึง 20,920 ราย ทุนจดทะเบียน 91,859 ล้านบาท โดยธุรกิจที่เลิกกิจการสูงสุดคือ ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และภัตตาคาร/ร้านอาหาร

7. โรงงานอุตสาหกรรม ในปี 63 มีโรงงานฯ ประกอบกิจการใหม่ 2,633 โรงงาน เงินลงทุนรวม 171,054 ล้านบาท คนงาน 86,797 คน ซึ่งลดลงกว่าปีก่อนที่มีโรงงานฯ ประกอบกิจการใหม่ 3,175 โรงงาน เงินลงทุนรวม 301,418 ล้านบาท คนงาน 96,492 คน และมีโรงงานที่เลิกกิจการมีทั้งหมด 716 โรงงาน โดยกิจการที่มีการปิดสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์จากพืช ผลิตภัณฑ์โลหะ อุตสาหกรรมอาหาร และผลิตภัณฑ์อโลหะ

8. การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต การเข้ามาของโรคโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมไร้เงินสด หรือ Cashless Society การทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และการทำธุรกิจผ่านระบบออนไลน์มากยิ่งขึ้น และเกิดการทำงานและการสื่อสารในรูปแบบใหม่ๆ อย่างการทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home

ส่งผลให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซขยายตัวสูงถึง 80% จากปีก่อนหน้า หรือมีมูลค่าประมาณ 300,000 ล้านบาท ตรงข้ามกับมูลค่าการซื้อขายผ่านหน้าร้านที่หดตัวถึง 11% ในปีเดียวกัน สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างชัดเจน รวมถึงการดูแลใส่ใจสุขภาพทั้งตัวเองและคนรอบข้าง ลดการปฏิสัมพันธ์ เว้นระยะห่างทางสังคม และใส่หน้ากากอนามัย

คาดการณ์หากคนไทยได้ฉีดวัคซีนครบ 100 ล้านโดสภายในปี 64

อย่างไรก็ตามจากผลกระทบที่เกิดขึ้น รัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด พร้อมทั้งออกมาตรการทางเศรษฐกิจ เช่น โครงการคนละครึ่ง, เราชนะ, ม.33 เรารักกัน และ ยิ่งใช้ยิ่งได้ เป็นต้น โดยโครงการต่างๆ ช่วยกระตุ้นมูลค่าทางเศรษฐกิจ

อีกทั้งได้มีมาตรการในการจัดหาวัคซีน โดยเลือกวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา เป็นวัคซีนแรก และทางแอสตราเซเนกาเลือกประเทศไทยเป็นหนึ่งในฐานการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด ซึ่งผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด

โดยภายในปีนี้รัฐบาลได้เตรียมแผนการจัดหาวัคซีนจาก 3 วัคซีนหลัก คือ แอสตราเซเนกา ซิโนแวค และไฟเซอร์ รวม 127.1 ล้านโดส และหากรวมวัคซีนทางเลือกจะเท่ากับ 179.1 ล้านโดส ตั้งเป้าหมายการฉีดให้ได้ 100 ล้านโดส ภายในสิ้นปี 2564 เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ และเร่งการเปิดเมืองท่องเที่ยวต่างๆ และเปิดประเทศเต็มรูปแบบในระยะต่อไป

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า ในปี 2565 ไทยจะสามารถผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 รวมกันประมาณ 260-295 ล้านโดส เฉพาะของสยามไบโอไซเอนซ์ที่ผลิตให้แอสตราเซเนกาสามารถผลิตได้ประมาณ 185-200 ล้านโดสต่อปี โดยมีการจัดสรรวัคซีนให้กับประเทศไทย 1 ใน 3 และอีก 2 ใน 3 ถูก ส่งมอบให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศใกล้เคียง

"หากคนไทยได้รับการฉีดวัคซีนได้ตามเป้าคือ 70% ของประชากร หรือ 100 ล้านโดส จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งปัจจุบันคนไทยได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 85 ล้านโดส (ข้อมูล ณ วันที่ 14 พ.ย. 64) มีส่วนสำคัญที่จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมช่วยให้สังคมกลับสู่ภาวะปกติอีกครั้ง ซึ่งจะเห็นได้จากในต่างประเทศที่อัตราการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน ส่งผลโดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจ เช่น สหรัฐอเมริกา อิสราเอล จีน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่สามารถฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว"

ผศ.ดร.สุทธิกร กล่าวอีกว่า สำหรับประเทศไทยการที่ประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนได้เองและเป็นฐานการผลิตให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือเป็นกุญแจสำคัญถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะปลดล็อกวิกฤตการณ์ในครั้งนี้เสมือนเป็นการช่วยคนไทยและประเทศใกล้เคียงให้เข้าถึงวัคซีนได้รวดเร็วและง่ายขึ้น ตลอดจนส่งผลต่อความมั่นคงด้านสุขภาพของประชาชนในระยะยาว ทั้งการลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ได้รับการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการผลิตทำให้มีความพร้อมสามารถรองรับโรคอุบัติใหม่ในอนาคต 

ทั้งนี้ หากการบริหารจัดการวัคซีนเป็นไปตามแผน ภายในเดือน ธ.ค. 64 จะส่งผลให้ผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงเหลือประมาณ 2,500 คนต่อวัน ผู้เสียชีวิตลดลงเหลือประมาณ 40 คนต่อวัน และส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4/64 ปีนี้ คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศจะเพิ่มเกือบ 3 แสนคน และเกิดการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจในประเทศ กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 10.38% อยู่ที่ระดับ 70.39 สูงสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ดัชนีการลงทุนของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 6.95% รวมทั้งผู้ว่างงานในระบบประกันสังคมลดลง 32.23% หรือประมาณ 4.5 แสนคน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

หากพิจารณาปัจจัยทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ อาทิ มาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลก จะพบว่าหากการระบาดของโรคโควิด-19 ลดลงเกือบเป็นศูนย์ในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2565 จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศจะปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 1.1 ล้านคน ในไตรมาสที่ 1/65 อัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 11.26% ดัชนีการลงทุนของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 39.29% ผู้ว่างงานในระบบประกันสังคมลดลงกว่า 70,000 คน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกับปีก่อน โดยคาดการณ์ไว้ด้วยว่าปี 65 เศรษฐกิจจะขยายตัว 3.9%.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ