โลกเศรษฐกิจการค้ายุคใหม่...ยุค “New Normal” หัวใจสำคัญ คือใช้เทคโนโลยีช่วยทำการค้าเป็น...“อีคอมเมิร์ซ”
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ผ่านการเจรจาการค้ามาหลายกลุ่มทั้ง FTA ทวิภาคี หรือแบบพหุภาคี
น่าสนใจว่า...ไม่มีข้อตกลงทางการค้าไหนในปัจจุบันที่ไม่ระบุว่าด้วยเรื่อง “อีคอมเมิร์ซ” หรือ “Digital Economy”
“สัปดาห์ที่แล้วก็ได้ไปประชุมรัฐมนตรีการค้า APEC Digital Economy เป็นหัวข้อที่มีความสำคัญยิ่ง และ...ปีนี้เราจะเป็นเจ้าภาพรับไม้ต่อจากนิวซีแลนด์วันนี้ และ RCEP เราให้สัตยาบันไปแล้ว จะมีผลบังคับใช้ต้นปีหน้า ก็มีบทบัญญัติว่าด้วยอีคอมเมิร์ซ” นี่คือประเด็นสำคัญของ “อีคอมเมิร์ซ” การค้าที่ต้องใช้เทคโนโลยี
อาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด เสริมว่าหัวเว่ยเชื่อมั่นว่าการส่งเสริมทักษะด้านดิจิทัลเป็นพื้นฐานสำคัญ เป็นเครื่องมือช่วยพัฒนาศักยภาพและสร้างโอกาสการทำงาน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของท่านรองนายกฯ คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
ท่านได้ให้ความสำคัญในการที่จะยกระดับขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการไทย รวมถึงทางภาครัฐที่ให้ได้รับความไว้วางใจและร่วมมือกับหัวเว่ย ประเทศไทย ในการช่วยต่อยอดศักยภาพของบุคลากรไทย เพื่อการก้าวไปสู่การเป็น “ประเทศไทย 4.0”
“เรามุ่งมั่นพัฒนาบุคลากรและอุตสาหกรรมด้านไอซีทีของไทยต่อไปภายใต้พันธกิจ Grow in Thailand, Contribute to Thailand เพื่อผลักดันประเทศไทยให้เปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัลและมีการเติบโตและพัฒนาอย่างยั่งยืน”
พุ่งเป้าไปที่โครงการกระจายความรู้สู่ผู้ประกอบการยุคใหม่ “Gen Z to be CEO” จึงเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์ชิ้นเล็กๆที่สำคัญ ตามนโยบาย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่มีความสำคัญในการสร้างฐานความแกร่งให้เศรษฐกิจประเทศไทย
ภาพใหญ่ “ประเทศไทย” มีสถาบันอุดมศึกษาทั้งของ “รัฐ” และ “เอกชน” กว่า 100 แห่ง...มีนิสิตนักศึกษารวมกันกว่า 1 ล้านคน มีคณาจารย์นักวิชาการหลายแสนคน เป็นขุมกำลังทางปัญญาที่ใหญ่ที่สุด ทำอย่างไร...ขุมกำลัง 100 มหาวิทยาลัย จะเป็น “พลังทางปัญญา” พาชาติออกจากวิกฤติ
นี่คือประเด็นเร่งด่วนที่ อาจารย์หมอประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ย้ำเสมอเหมือนว่า “ผู้ใหญ่” ต้องตีโจทย์ให้แตกและลงมือปฏิบัติโดยเร็วพลัน
ข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจปีล่าสุด “ประเทศไทย” มีประชากร 66.5 ล้านคน เป็นกลุ่มคนเจเนอเรชันซี 13 ล้านคน
โดยมี “เจนซี” ที่อยู่ในภาคใต้มากถึงเกือบ 2.13 ล้านคน หรือร้อยละ 16.41 ของเจนซีทั้งประเทศ แสดงให้เห็นถึงโอกาส...ศักยภาพของคนรุ่นใหม่ในภาคใต้ที่สามารถเติบโต พัฒนาก้าวขึ้นมาได้ในอนาคต
ย้อนไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เหลียวไปมองตัวเลขการ “ส่งออก” ของไทยโตขึ้นถึง 43.82% เป็นอัตราการขยายตัวที่สูงสุดในรอบ 11 ปี และตัวเลขการส่งออกครึ่งแรกของปี 2564 ขยายตัวถึง 15.53% โดยปัจจัยที่ทำให้การส่งออกของไทยขยายตัวมากขึ้นมาจากการเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังได้รับวัคซีน
ยิ่งไปกว่านั้นคือมาจากการดำเนินการตามแผนการส่งเสริมการส่งออก “กระทรวงพาณิชย์” ที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยได้เตรียม “แผนกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2564” ด้วยการหนุนสินค้าอาหารและเกษตรส่งออก พร้อมเร่งสร้างทัพผู้ประกอบการรุ่นใหม่ หรือ...น้องๆ “Gen Z” ที่จะมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคตอันใกล้นี้
จุรินทร์ บอกอีกว่า อีคอมเมิร์ซจะเข้ามามีบทบาทอย่างยิ่ง น้องทุกคนเรียนจบแล้วก็จริงแต่ที่สำคัญต้องเรียนเพิ่มเติม แม้ผู้ที่เป็น CEO เชี่ยวชาญทำการค้าก็จำเป็นต้องศึกษากฎระเบียบ เพื่อแสวงหาความได้เปรียบในการทำธุรกิจการค้ากับโลกต่อไปในอนาคต
หลักสูตรปั้น “Gen Z” เป็น “CEO” จึงทันต่อสถานการณ์และมีความทันสมัยอย่างยิ่ง ถือเป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วนให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ นี่เป็นความภาคภูมิใจ 3 ฝ่าย ได้แก่...น้องทั้ง 20,000 คน...น้อง 100 รายที่ประสบความสำเร็จ และน้อง Gen Z Ambassadors
ถัดมา...กระทรวงพาณิชย์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะอาชีวศึกษา ที่นำมาทำ MoU กับกระทรวงพาณิชย์ให้นักศึกษาในสถาบันอาชีวศึกษา 5,000 คน ร่วมโครงการ From Gen Z to be CEO และกระทรวงอุดมศึกษาส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคเอกชน...ภาครัฐ
ถึงตรงนี้ให้รู้เอาไว้ด้วยว่าการจัดโครงการ “Gen Z to be CEO” เป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง เพราะเดิมกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ หรือ NEA ช่วยกันสร้างนักธุรกิจ หรือ CEO รุ่นใหม่ให้กับประเทศ
แรกเริ่มเดิมทีตั้งเป้าหมายว่าจะทำให้ได้สัก 10,000 คน โดยใช้ระบบเทคโนโลยีมาช่วยในการอบรม แต่เริ่มนับเดือนมิถุนายนปีที่แล้วก็เริ่มต้นที่ 12,000 คน และมีสมัครมาอีกสุดท้ายขึ้นเป็น 20,000 คน ดำเนินการครบ 20,000 คนแล้ว จึงถือว่า...ประสบความสำเร็จมาก
“ทุกคนที่เข้ามาเรียนได้รับความรู้การบริหารจัดการธุรกิจ การผลิตสมัยใหม่ การให้บริการยุค New Normal และการตลาด ซึ่งปัจจุบันเราจะทำแต่เรื่องการผลิตเหมือนสมัยในอดีตแล้วไปหาตลาดไม่ทันแล้ว เพราะมีความเสี่ยง ยุคนี้ต้องใช้ตลาดนำการผลิต”
เหมือนแนวคิดของกระทรวงพาณิชย์และแนวคิดของวิสัยทัศน์...“เกษตรผลิตพาณิชย์ตลาด”
“ซีอีโอ Gen Z ที่ได้รับการอบรมจะมีหลักสูตรต่างๆ และการใช้เทคโนโลยี การบริหารจัดการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ การส่งออก โลกยุคใหม่” จุรินทร์ ว่า
“หวังว่าน้องทุกคนที่ผ่านหลักสูตรนี้จะมีอนาคตที่งดงามต่อไป ปี 2564 จะมีนักศึกษาที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยจบการศึกษา 290,000 คน”
คำถามสำคัญมีว่า...จะไปทำอะไร? หรือจะหางานได้ที่ไหน? และปี 2565 อีก 280,000 คน ถ้าหากว่ารวมสองปีที่เจอวิกฤติโควิดจะเป็นตัวเลขมากถึง 570,000 คน นับว่าเป็นภาระหนักของรัฐบาลที่จะต้องเข้ามาช่วยให้น้องๆมีงานทำ อย่างน้อยที่สุดแน่นอนแล้วว่า... 20,000 คนนี้ คิดว่าได้เปรียบไม่แพ้คนอื่น
“ถือเป็นแต้มต่อและขออวยพรให้น้องๆทั้ง 20,000 คน ที่เข้าร่วมอบรมสำเร็จได้ดังฝัน ขอให้ทุกคนสามารถก้าวต่อไปเป็นแม่ทัพเจเนอเรชันใหม่ให้กับประเทศไทย เพื่อทำรายได้ให้กับตัวเอง ครอบครัว องค์กร และประเทศของเราต่อไปในอนาคต”
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวทิ้งท้าย.