ความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย

Date Time: 12 พ.ย. 2564 06:10 น.

Summary

  • การที่จะสร้างองค์กรที่ยั่งยืน ได้ในยุคนี้ จะดูที่ตัวผู้บริหารหรือขนาดของตัวองค์กรอย่างเดียวก็ไม่ได้ แต่ต้องดูทั้งองคาพยพให้ความสำคัญถึง สุขภาพและอนามัย ความปลอดภัยของพนักงาน

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด–19 ทำให้หลายบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดเพื่อให้ธุรกิจดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ อย่างน้อยก็เป็นการประคับประคองสถานการณ์ให้บรรเทาลง เพื่อรอโอกาสในการฟื้นตัวตามเวลาที่เหมาะสม

การที่จะสร้างองค์กรที่ยั่งยืน ได้ในยุคนี้ จะดูที่ตัวผู้บริหารหรือขนาดของตัวองค์กรอย่างเดียวก็ไม่ได้ แต่ต้องดูทั้งองคาพยพให้ความสำคัญถึง สุขภาพและอนามัย ความปลอดภัยของพนักงาน ตลอดจนชุมชนและสังคม ที่อยู่รอบข้าง การจะสร้างความยั่งยืนขององค์กรได้ก็ต้องสร้างความยั่งยืนให้กับบุคลากรทั้งด้านคุณภาพและสุขภาพ จึงจะสามารถนำพาองค์กรไปสู่องค์กรที่ยั่งยืนในอนาคตได้

หลายองค์กรในประเทศไทยโดยเฉพาะองค์กรที่มีขนาดใหญ่มีมูลค่ามหาศาล มีพนักงานที่อยู่ในการดูแลจำนวนมาก มีสาขามีธุรกิจที่มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นด้านพลังงาน โรงงาน อุตสาหกรรมเคมี สิ่งแรกที่จะต้องปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงก็คือการสร้างความสมดุลระหว่างธุรกิจและสิ่งแวดล้อม ในหลายประเทศที่เป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ ประเทศที่พัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง เบื้องต้นของกรอบการทำงานก็คือการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีสุขอนามัยที่ดี

โควิด สอนให้มนุษย์ได้รู้ว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดขององค์กรไม่ใช่กำไร ขาดทุน ไม่ใช่การสร้างตัวองค์กรให้เข้มแข็งเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึง คุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ และ สิ่งแวดล้อม ควบคู่กันไป

ตัวอย่างเมื่อเร็วๆนี้ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 146 บริษัทจดทะเบียนบริษัทที่มีรายชื่ออยู่ในหุ้นที่ยั่งยืน หรือ Thailand Sustainability Investment โดยผ่านการคัดเลือกให้เป็นหุ้นยั่งยืนในกลุ่มทรัพยากร ประจำปี 2564 จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในงานรางวัล SET Awards 2021 ติดต่อกันเป็นปีที่ 3 สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญในการมุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงสังคม สิ่งแวดล้อมและบรรษัทภิบาล และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย

เป็นตัวอย่างของหนึ่งในหลายองค์กรที่ปรับตัวเข้าสู่วิถีใหม่ของการพัฒนาที่ยั่งยืน

ตัดกลับมาเป็นอีกฉาก เป็นฉากการเมือง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล รังสิมันต์ โรม ออกมาแถลงถึงกรณีที่ถูกบริษัทเอกชนฟ้อง หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลฯ เป็นจำนวน 3 คดี ฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ทั้งพรรคและผู้อภิปราย และคดีแพ่ง โดยมีการเรียกค่าเสียหายมูลค่า 100 ล้านบาท ซึ่งยังไม่มีข้อยุติทางด้านคดีออกมา

แต่ในความเป็นจริงก็คือความจริง การเมืองในสภาอาจมองอีกแง่ ธุรกิจก็ต้องมองอีกแง่ แต่ความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว จึงต้องมีเส้นแบ่งและความรับผิดชอบที่ชัดเจน เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับข้อจำกัดในการตรวจสอบ แต่ต้องขึ้นอยู่กับบริบทของความเป็นจริงและข้อมูลหลักฐานที่ชัดเจนมากกว่า เพราะไม่เช่นนั้น แทนที่จะเป็นการตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใส กลายเป็นช่องทางในการกลั่นแกล้ง หรือแสวงหาผลประโยชน์ และเป็นอุปสรรคในการพัฒนา ตามที่เคยปรากฏมาแล้ว ในสังคมการเมือง.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ