สวนดุสิตโพลไปสำรวจมาตรฐานการช่วยเหลือของรัฐบาลในช่วง วิกฤติโควิด ปรากฏว่าประชาชนส่วนใหญ่เข้าร่วมมาตรการ คนละครึ่งเฟส 3 มากที่สุด รองลงมา มาตรการลดค่าน้ำค่าไฟ จากข้อมูลของ ดร.จิรัฐ ชวนชม คณะวิทยาการจัดการมหาวิทยาลัยสวนดุสิต พบว่าชาวบ้านเข้าร่วมมาตรการคนละครึ่งเฟส 3 อยู่ที่ 27.86 ล้านคน สาเหตุก็เพราะชาวบ้านสามารถนำเงินไปใช้ได้โดยตรงที่เกี่ยวกับปัจจัย 4 ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เสื้อผ้า ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย มีความเป็นอิสระในการใช้เงินมากกว่าทุกมาตรการ แต่ก็อยากให้รัฐบาลช่วยดูแลเรื่องของการควบคุมราคาสินค้าและค่าครองชีพให้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นค่าโดยสารรถสาธารณะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น
ระยะหลังรัฐบาลจะออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาชาวบ้านแบบลดแลกแจกแถมถี่ขึ้น เช่น ช่วยเหลือค่าครองชีพคนขับรถแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ล่าสุดก็มีมาตรการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี การผลิต 64/65 จำนวน 4.6 ล้านครัวเรือน ในวงเงิน 9 หมื่นล้านบาท เช่น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันที่ 15,000 บาทต่อตัน จำนวนครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกัน 14,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน ข้าวเปลือกเจ้าราคาประกัน 10,000 บาทต่อตัน ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันไม่เกิน 11,000 บาทต่อตัน ไม่เกินครัวเรือนละ 25 ตัน ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันไม่เกิน 12,000 บาทต่อตัน ไม่เกินครัวเรือนละ 16 ตัน
นอกจากนี้ยัง ประกันราคามันสำปะหลัง วงเงิน 6,811 ล้านบาท ประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อีก 4.2 แสนครัวเรือน วงเงินประมาณ 1,800 ล้านบาท ซึ่ง โครงการประชานิยม เหล่านี้ทุกครั้งจะมีปัญหา การรั่วไหล ไม่ถึงมือเกษตรกรอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยตามมาอีกมากมาย ส่วนใหญ่ประโยชน์จะตกกับพ่อค้าคนกลางและเจ้าของโรงสี ที่สำคัญที่สุด เหลือบการเมือง ที่คอยจ้องหาผลประโยชน์กันอย่างถาวร
การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลแบบยาสามัญประจำบ้านหรือขอไปทีไม่ได้มองถึงปัญหาที่จะตามมาในระยะยาวและการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรอย่างแท้จริงมุมหนึ่งอาจเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะสนับสนุนภาคการเกษตร แต่อีกมุมหนึ่งก็คือการหาเสียงทางการเมือง ไม่ต่างจากอัฐยายซื้อขนมยาย
รัฐบาลจะอ่อนเรื่องเศรษฐกิจขนาดไหน จะต้องกู้เงินมาใช้บริหารประเทศมหาศาลขนาดไหน จะไร้น้ำยาในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ จะเกิดการผิดพลาดและรั่วไหล คอร์รัปชันมากมายขนาดไหน
พอใกล้ถึงเวลาเลือกตั้งก็แจกๆๆทุกอย่างก็จบ
หลังการเลือกตั้งแจกกันอีกกระทอก จากนั้นก็เอาคืน ขึ้นค่าครองชีพทุกอย่าง น้ำมันแพงค่าแรงต่ำ ทิ้งภาระหนี้สาธารณะเอาไว้บานตะไท กอบโกยผลประโยชน์ ชนิดกินถึงชาติหน้าก็ไม่หมด
ความล้มเหลวของการบริหารประเทศเกิดจากนโยบายประชานิยมยาสามัญประจำบ้านเหล่านี้ และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชนที่ไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ รอแต่การเยียวยาและของแจกจากรัฐบาล จนกลายเป็นความเคยชิน.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th