การปฏิวัติเงินดิจิทัล...เกิดแน่ แค่ช้าหรือเร็ว

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

การปฏิวัติเงินดิจิทัล...เกิดแน่ แค่ช้าหรือเร็ว

Date Time: 23 ต.ค. 2564 06:16 น.

Summary

  • “การปฏิวัติเงินดิจิทัล (The Digital Money Revolution)” ชวนกูรูการเงินระดับโลกคุยถึงอนาคตของเงินดิจิทัลไว้ได้น่าสนใจ บางขุนพรหมชวนคิดขอจับประเด็นมาให้ผู้อ่านพอเข้า

Latest

“อุตสาหกรรมแบตเตอรี่”  จิ๊กซอว์ที่ต้องต่อให้เต็ม สานฝันไทย “ฮับผลิต EV” ภูมิภาค

ดร.ฐิติมา ชูเชิด ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

ไอเอ็มเอฟจัดเสวนา “การปฏิวัติเงินดิจิทัล (The Digital Money Revolution)” ชวนกูรูการเงินระดับโลกคุยถึงอนาคตของเงินดิจิทัลไว้ได้น่าสนใจ บางขุนพรหมชวนคิดขอจับประเด็นมาให้ผู้อ่านพอเข้าใจค่ะว่า การปฏิวัติเงินดิจิทัลอาจเกิดขึ้นในรูปแบบใด และควรพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของเงินในอนาคตอย่างไร

1.การปฏิวัติเงินดิจิทัลที่จะเกิดขึ้น คือ การเข้ามาของสกุลเงินดิจิทัล ยิ่งเร่งให้เงินสดลดบทบาทเร็วขึ้นอีก การเข้ามาของสกุลเงินดิจิทัลภาคเอกชน (private digital currencies) โดยเฉพาะ “สเตเบิลคอยน์” ที่มีกลไกตรึงราคาให้คงที่ ไม่ผันผวนเหมือนคริปโตเคอร์เรนซีทั่วไป จะเป็นประตูเปิดให้ภาคเอกชนหน้าใหม่ที่ไม่ใช่ธนาคารก้าวมาเป็นผู้เล่นในระบบการเงิน มีช่องทางการพัฒนาบริการการเงินบนสกุลเงินดิจิทัลภาคเอกชน โดยอาศัยเทคโนโลยีบล็อกเชนทำงานแบบกระจายศูนย์ ไม่ต้องผ่านตัวกลางธุรกิจธนาคารแบบเดิม เข้ามาแข่งขันตอบสนองผู้บริโภค จากต้นทุนธุรกรรมต่ำลง โอนสะดวกขึ้น แต่เรื่องใหม่นี้ก็อาจสร้างความเสี่ยงที่ไม่เคยเกิดมาก่อนต่อผู้ถือสกุลเงินนี้เพราะขาดผู้กำกับดูแล รวมถึงความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมได้

ต่อมาคือ การเข้ามาของสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (central bank digital currency : CBDC) โดยอาศัยเทคโนโลยีหลังบ้านแบบที่ภาคเอกชนใช้ เปลี่ยนเงินสดกลายเป็นเงินสดดิจิทัล เป็นทางเลือกสกุลเงินดิจิทัลที่ปลอดภัยกว่า ที่สำคัญคือ คนทั่วไปจะเข้าถึงได้เท่าเทียมและทั่วถึงขึ้น แม้ไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ตหรือมือถือรุ่นไฮเทคใช้ก็ตาม การปรับบทบาทเข้ามาในเกมนี้ จะช่วยรักษาความเชื่อมั่นของประชาชนต่อสกุลเงินของประเทศไว้ ซึ่งจะเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพการเงินและเสถียรภาพระบบการเงินตามพันธกิจธนาคารกลาง

2.“การปฏิวัติการชำระเงินดิจิทัล” ภายในประเทศและระหว่างประเทศ จะเกิดขึ้นตามมา การเติบโตของผู้เล่นใหม่ที่มีสกุลเงินดิจิทัลภาคเอกชนและผลิตภัณฑ์การเงินการลงทุนหลากหลาย ทำงานในระบบการเงินไร้ตัวกลาง (Decentralized Finance) อาจทำให้ระบบการเงินแยกส่วนจากแบบรวมศูนย์ดั้งเดิม ระบบธนาคารต้องเผชิญความท้าทายและปรับตัว เพื่อรักษาบทบาทตัวกลางผู้ให้บริการสินเชื่อและบริการการเงินดิจิทัลไว้

3.ปัจจัยสู่ความสำเร็จของการออกใช้ CBDC อยู่บนพื้นฐานความเชื่อมั่นในสกุลเงินของภาครัฐ ความเชื่อมโยงของแพลตฟอร์ม CBDC กับโครงสร้างพื้นฐานเดิมที่เปิดกว้างให้มีการแข่งขันต่อยอดนวัตกรรม สร้างบริการการเงินดิจิทัลตอบโจทย์ผู้ใช้ในอนาคตได้ ประเด็นความเป็นส่วนตัวของข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญที่คนสนใจ เพราะความเป็นส่วนตัวอาจหายไปไม่เหมือนใช้เงินสด ภาครัฐต้องหาจุดสมดุลของระดับการติดตามข้อมูลธุรกรรมเงินสดดิจิทัลและการป้องกันไม่ให้ CBDC ถูกเอาไปใช้ทำธุรกรรมการเงินผิดกฎหมาย การฟอกเงิน หรือคอร์รัปชัน

4.เส้นทางข้างหน้าของการปฏิวัติเงินดิจิทัล 2 รูปแบบนี้จะมีจุดเน้นต่างกัน กรณีสกุลเงินดิจิทัลภาคเอกชนจะเป็นเรื่อง “การกำกับดูแลความเสี่ยง (regulation)” และดูแลไม่ให้บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่กินรวบตลาด โดยเฉพาะการผูกขาดข้อมูลผู้ใช้แพลตฟอร์มตัวเองและกีดกันการแข่งขันจากรายเล็ก กรณี CBDC จะเป็นเรื่อง “การเชื่อมโยงกันในโลก (integration)” เพราะธนาคารกลางส่วนใหญ่สนใจพัฒนา CBDC ตอบโจทย์ภายในประเทศเป็นหลัก แต่สุดท้ายอาจเชื่อมโยงกันยาก ไม่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ

การปฏิวัติเงินดิจิทัลเกิดขึ้นแน่ แค่ไม่ช้าก็เร็ว ผู้วางนโยบายควรจับมือภาคเอกชนให้แข่งขันพัฒนาบริการดิจิทัลต่อยอด เปิดใจรับวัฒนธรรมล้มเร็ว-ฟื้นเร็ว-เรียนรู้ พร้อมรับมือผลกระทบใหม่ในรูปแบบที่ไม่เคยเจอกันค่ะ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ