ช่วงเดือน ก.ย. และ ต.ค. 64 เราจะได้เห็นการปรับขึ้นลงของราคาน้ำมันอยู่บ่อยครั้ง หรือเรียกว่าถี่มากขึ้นกว่าเดิมที่สำคัญ ผู้บริโภคส่วนใหญ่มองว่า การปรับราคาน้ำมันรอบนี้ ราคาแพงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แน่นอนว่าหากน้ำมันดีเซลพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ จะกระทบกับการขนส่ง และการบริโภคอย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับสาเหตุสำคัญที่ทำให้น้ำมันแพงนั้น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ระบุว่า ปัจจัยสำคัญมาจากสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เกิดจากความต้องการใช้พลังงานทั่วโลกเพิ่มขึ้น หลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 อีกทั้งมีปัจจัยค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง จึงส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไทย
โดยกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน หรือ กลุ่ม OPEC และประเทศพันธมิตรผู้ผลิตน้ำมัน ยังคงใช้แนวทางค่อยเป็นค่อยไปในการฟื้นฟูผลผลิตช่วงการระบาดของโควิด โดยตกลงที่จะส่งออกน้ำมันดิบเพียง 400,000 บาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือน พ.ย. 64 จนถึงเดือน เม.ย. 65 ทำให้อุปสงค์น้ำมันตึงตัว นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังไม่สามารถเพิ่มปริมาณสำรองน้ำมันดิบได้ทันกับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกันก็ยังมีปัจจัยด้านราคาก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากจีนลดปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าและโรงงานหลายแห่งในเอเชีย ทำให้มีการหันมาใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงแทนก๊าซธรรมชาติ แนวโน้มราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเกิดจากปัจจัยภายนอกประเทศเป็นหลัก ซึ่งเป็นปัจจัยที่เราไม่สามารถควบคุมได้ อย่างไรก็ตาม ทั้งรัฐบาลและกระทรวงพลังงานพยายามอย่างเต็มที่ในการดูแลราคาน้ำมันไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน
ประเทศชั้นนำขาดแคลนน้ำมัน-อาหาร โลจิสติกส์โลกปั่นป่วน
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่ง รายงานตรงกันว่า ช่วงต้นเดือน ต.ค. 64 มีภาพประชาชนกรุงลอนดอน ที่ต่อแถวยาวเหยียดหน้าปั๊มน้ำมันเพื่อรอคิวเติมน้ำมัน หลังอังกฤษต้องเผชิญกับการขาดแคลนน้ำมัน ถึงแม้ว่าทางการจะยืนยันว่ามีน้ำมันเพียงพอไม่ได้ขาดแคลนแต่อย่างใด แต่นั่นไม่ได้ทำให้ชาวลอนดอนวิตกกังวลน้อยลง จนถึงขนาดมีรายงานเกิดการทะเลาะวิวาทกันเพื่อแย่งเติมน้ำมันด้วย
นอกจากนี้ หลายประเทศก็อดตื่นตระหนกไม่ได้เมื่อส่อแววว่าเทศกาลคริสต์มาสปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรุงลอนดอนของอังกฤษ ไปจนถึงนครลอสแอนเจลิส ของสหรัฐอเมริกา อาจขาดแคลนอาหารและสินค้าหลายชนิด และอาจไม่มีของขวัญวางใต้ต้นคริสต์มาสเหมือนอย่างเคย
เนื่องจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานหรือ ซัพพลายเชนทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบ ทั้งจากปัญหาการขนส่ง รวมไปถึงความต้องการของผู้บริโภคที่พุ่งสูงในช่วงที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ซึ่งประเทศที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบมากที่สุดหนีไม่พ้นอังกฤษที่ต้องเผชิญกับการขาดแคลนอาหารบางประเภทโดยเฉพาะเนื้อสัตว์และอาหารสด
ขณะที่วิกฤติน้ำมันอาจยืดเยื้อไปจนถึงสิ้นปี 2021 จนทำให้ต้องมีการออกวีซ่าฉุกเฉินเพื่อจ้างงานคนขับรถส่งน้ำมัน ส่วนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ซ้ำเติมทำให้การขนส่งเป็นอัมพาต (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเรื่อง ชีวิตหลังโควิดระบาด ประเทศชั้นนำขาดแคลนน้ำมัน-อาหาร โลจิสติกส์โลกปั่นป่วน)
6 ปัจจัยที่มีผลต่อราคาน้ำมันในตลาดโลก
เมื่อเราทำความเข้าใจแล้วว่า ราคาน้ำมันที่แพงขึ้นไม่ใช่มีเพียงแค่ไทยเพียงอย่างเดียว แต่เป็นในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งราคาจะขยับมาก หรือน้อย นั้นขึ้นอยู่กับการจัดเก็บภาษี ระบบการเก็บเงินเข้ากองทุน หรือการอุดหนุนราคาพลังงานที่แตกต่างกัน เห็นได้จากประเทศเพื่อนบ้านเรา อย่างเช่น มาเลเซีย ที่มีการอุดหนุนราคาน้ำมัน ทำให้ราคาน้ำมันถูกว่าในประเทศไทยนั่นเอง
สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกขยับขึ้น หรือขยับลงนั้น ข้อมูลจาก กระทรวงพลังงาน ได้อธิบายไว้ 6 ข้อดังนี้
1. สภาพเศรษฐกิจโลก เป็นปัจจัยที่สำคัญ และมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมันเมื่อเศรษฐกิจเติบโต ความต้องการใช้น้ำมันจะสูงขึ้นราคาน้ำมันก็อาจจะสูงขึ้น
2. กำลังการผลิตของผู้ผลิตน้ำมันและโรงกลั่น หากการผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ จะส่งผลให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น แต่ในทางกลับกัน หากความต้องการลดลงน้อยกว่ากำลังการผลิต หรือหากผู้ผลิตน้ำมันปรับเพิ่มอัตราการผลิต ทำให้มีปริมาณน้ำมันในตลาดเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงได้เช่นกัน
3. ฤดูกาลกับสภาพภูมิอากาศ ความต้องการใช้น้ำมันจะผันแปรไปตามฤดูกาลหรือสภาพภูมิอากาศ เช่น ในฤดูหนาว จะมีราคาสูงกว่าฤดูร้อน เพราะจะมีความต้องการใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปใช้กับอุปกรณ์ที่ให้ความอบอุ่น
4. ภูมิรัฐศาสตร์มีผลต่อราคาน้ำมัน หากเกิดความไม่สงบหรือความขัดแย้งในบริเวณประเทศผู้ผลิตน้ำมันอย่างที่เป็นข่าวบ่อยครั้ง จะเกิดอุปสรรคในการขนส่ง อาจจะส่งผลให้ปริมาณน้ำมันเข้าสู่ตลาดลดลง
5. อัตราแลกเปลี่ยน หากเกิดการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนของเงินสกุลหลักกับเงินสกุลท้องถิ่นที่ใช้ในการซื้อขายน้ำมัน จะทำให้ต้นทุนในการซื้อขายเปลี่ยนไปด้วย
6. เทคโนโลยีการผลิตพลังงาน หากเทคโนโลยีพลังงานทดแทนสามารถผลิตได้เพียงพอและแข่งขันกับราคาน้ำมันได้ อาจส่งผลให้ความต้องการน้ำมันลดลง ราคาก็จะถูกลง
ไขข้อสงสัยน้ำมัน 1 ลิตร หรือราคาน้ำมันหน้าปั๊ม 1 ลิตรของไทยมีค่าอะไรบ้าง
1. ต้นทุนเนื้อน้ำมัน คือ ต้นทุนราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตจากโรงกลั่น ซึ่งอ้างอิงราคาตามตลาดกลางภูมิภาคเอเชีย โดยส่วนจะคิดเป็นสัดส่วน 40-60%
2. ภาษีต่างๆ คิดเป็นสัดส่วน 30-40% โดยการจัดเก็บภาษี มีดังนี้
-ภาษีสรรพสามิต จัดเก็บโดยกระทรวงการคลัง ตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต นำมาใช้เพื่อพัฒนาประเทศ
-ภาษีเทศบาล จัดเก็บโดยกระทรวงการคลัง ในอัตรา 10% ของภาษีสรรพสามิต ตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต มาตรา 150 และจัดส่งให้กระทรวงมหาดไทยเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น
-ภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดเก็บ 7% ของราคาขายส่งน้ำมันเชื้อเพลิง และจัดเก็บอีก 7% ของค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิด
3. กองทุนต่างๆ คิดเป็นสัดส่วน 5-20%
-กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจัดเก็บตามประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ กบน. เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไม่ให้เกิดความผันผวน
-กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จัดเก็บตามประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติหรือ กพช. เพื่อส่งเสริมสนับสนุนพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงาน
4. ค่าการตลาด คิดเป็นสัดส่วน 10-18% คือ ส่วนที่เป็นต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำไรของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันทั้งระบบ ตั้งแต่การจัดการคลังน้ำมัน การขนส่งน้ำมันมายังสถานีบริการ รวมถึงการให้บริการของสถานีบริการที่เติมน้ำมันแต่ละลิตรให้กับประชาชน
รัฐพยุงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร พร้อมยกเลิก ดีเซล บี 6
สำหรับราคาน้ำมันที่พุ่งสูงอยู่ในขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้พยายามดูแลอย่างเต็มที่ แต่สถานการณ์น้ำมันโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และยังไม่รู้ว่าจะขึ้นอีกเท่าไหร่ ซึ่งรัฐบาลได้มีการบริหารจัดการในเรื่องนี้มาตลอด ด้วยการเอากองทุนน้ำมันออกไปพยุงราคา ช่วยทั้งที่ความจริงแล้วราคาน้ำมันสูงต้องสูงมากกว่านี้
ที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามตรึงราคาดีเซลให้ได้ลิตรละ 30 บาท ซึ่งการพยุงในราคานี้ต้องใช้เงินกองทุนน้ำมันเดือนละ 6,000 กว่าล้านบาท เราก็เห็นใจผู้ประกอบการขนส่งแต่ที่สำคัญต้องเข้าใจราคาน้ำมันโลก ยังมีความขัดแย้งในหลายส่วน สถานการณ์น้ำมันยังคงเป็นอย่างนี้อีกระยะ แต่รัฐบาลพยายามตรึงให้ได้ลิตรละ 30 บาท ปัจจุบันเรามีน้ำมันอยู่หลายประเภท เช่น บี 7 บี 10 บี 20 ซึ่งราคาต่างกัน เพราะมีส่วนผสมที่แตกต่าง หากเราใช้เงินไปอุดหนุนราคาน้ำมันประเภทใดประเภทหนึ่งมากไป ก็จะทำให้น้ำมันอีกส่วนสูงขึ้น จะต้องดูตรงนี้ด้วย
"การเรียกร้องให้ราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 25 บาท นั้นก็ต้องดูต้นทุนเป็นอย่างไร ส่วนการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตก็ต้องไปดูอีกครั้งว่าเป็นรายได้ที่รัฐนำมาดูแลส่วนต่างๆ หากลดภาษีกรมสรรพสามิตมากไปก็จะไม่มีเงินมาดูแล ซึ่งผมได้สั่งการให้กระทรวงพลังงาน ได้ชี้แจงในเรื่องนี้ด้วย"
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง. มีมติการจำหน่ายน้ำมันดีเซลในประเทศ กลับไปเป็น 3 เกรด เหมือนเดิม คือ น้ำมันดีเซล บี 7, บี 10 และบี 20 และจะยกเลิก ดีเซล บี 6 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 64 เป็นต้นไป และยืนยันให้ตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลทั้ง 3 เกรดไว้ในระดับไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยใช้เงินจากกองทุนน้ำมัน ซึ่งล่าสุดวันที่ 17 ต.ค. 64 เงินกองทุนน้ำมันคงเหลือเงินรวม 9,207 ล้านบาท
"หากเงินกองทุนน้ำมันไม่พอสามารถใช้สิทธิ์ตาม พ.ร.บ. กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 พิจารณากู้เงินได้อีกไม่เกินกรอบวงเงิน 20,000 ล้านบาท และหากในกรณีราคาน้ำมันดิบดูไบ เกินระดับ 87.50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล รวมทั้งเงินกองทุนฯ ที่กู้มายังไม่เพียงพอ ผมจะหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาปรับลดภาษีสรรพสามิตเป็นลำดับต่อไป เชื่อว่า เงินกองทุนน้ำมันสามารถประคับประคองราคาน้ำมันไปได้อีก 3-4 เดือน จากนั้นราคาน้ำมันดิบจะเริ่มอ่อนตัวลงหลังผ่านพ้นฤดูหนาว"
ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน